คณะรัฐมนตรีรับทราบ เห็นชอบ และอนุมัติ ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการรัฐมนตรีพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เสนอ ทั้ง 8 ข้อ ดังนี้
1. รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการ รชต. ครั้งที่ 2/2553 เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2553
2. มอบหมายให้กระทรวงการคลังร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผลักดันมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ 5 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ ตามแผนไทยเข้มแข็ง 5 ดาว ให้เกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว และนำเสนอคณะกรรมการ รชต. ในการประชุมครั้งต่อไป
3. มอบหมายให้สำนักนายกรัฐมนตรี (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร : กอ.รมน.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดการดำเนินโครงการ และรายงานผลการดำเนินงานและการเบิกจ่าย งบประมาณให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นำเสนอรองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (อชต.) เพื่อรายงานคณะรัฐมนตรีทราบทุกเดือน
4. เห็นชอบในหลักการให้รัฐบาลสนับสนุนธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ปล่อยสินเชื่อภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ประกอบอาชีพให้บริการรถสาธารณะ โดยชดเชยส่วนต่างระหว่างต้นทุนเงินกับอัตราผลตอบแทนที่ ธอท. จะได้รับจากการปล่อยสินเชื่อ โดยมอบหมายให้ ธอท. หารือกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาวงเงินชดเชยส่วนต่างระหว่างต้นทุนเงินกับอัตราผลตอบแทนภายใน 1 สัปดาห์ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
5. อนุมัติการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ และงบประมาณตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ รวม 4 โครงการ วงเงินรวม 9.4162 ล้านบาท ประกอบด้วย 1) โครงการสนับสนุนการเลี้ยงปลาในกระชังและบ่อดิน (ปลานิล ปลากะพงขาว ปลากินพืช) วงเงิน 4.8432 ล้านบาท 2) โครงการส่งเสริมการเลี้ยงปลาดุกในบ่อดิน วงเงิน 2.3550 ล้านบาท 3) โครงการเลี้ยงปลาดุกในบ่อพลาสติก วงเงิน 2.0076 ล้านบาท และ 4) โครงการปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมง วงเงิน 0.2104 ล้านบาท
6. อนุมัติแผนงานโครงการ และงบประมาณ ในการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มเติม รวม 5 โครงการ วงเงินรวม 311.72 ล้านบาท ดังนี้
6.1 อนุมัติโครงการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าปริญญา(อนุปริญญา) ของวิทยาลัยชุมชน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ วงเงิน 3.90 ล้านบาท (กระทรวงศึกษาธิการ) โครงการจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยวิกฤตและฉุกเฉินจากสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ วงเงิน 8.29 ล้านบาท (กระทรวงสาธารณสุข) และโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิด(CCTV)ในพื้นที่เสี่ยงรอบศูนย์ราชการจังหวัดปัตตานี วงเงิน 7.95 ล้านบาท (กระทรวงมหาดไทย) โดยใช้งบประมาณจากงบกลางประจำปี 2553 รายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
6.2 เห็นชอบโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของข้าราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ วงเงิน 129.13 ล้านบาท (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) และโครงการปรับปรุงหออภิบาลผู้ป่วยหนัก โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วงเงิน 162.45 ล้านบาท (กระทรวงศึกษาธิการ) โดยใช้งบประมาณภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ทั้งนี้ ให้หน่วยงานจัดทำรายละเอียดโครงการและนำเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองและบริหารโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
7. เห็นชอบการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการและงบประมาณโครงการทำดีมีอาชีพตามที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เสนอ โดยให้ กอ.รมน. ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณในรายละเอียดต่อไป
8. เห็นชอบการแต่งตั้งนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการ รชต. แทนนายวีระชัย วีระเมธีกุล และเป็นประธานอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แทนนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมการรัฐมนตรีพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (รชต.) ได้มีการประชุม ครั้งที่ 2/2553 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน 2553 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมตึกสันติไมตรีหลังในทำเนียบรัฐบาล สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ขอสรุปผลการประชุม คณะกรรมการ รชต. ประกอบด้วย สาระสำคัญ และมติคณะกรรมการ รชต. ดังนี้
1. การปรับแผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2552 — 2555
ที่ประชุมรับทราบผลการปรับแผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2552 — 2555 โดยมีกรอบวงเงินงบประมาณรวมเพิ่มจาก 63,319.37 ล้านบาท เป็น 68,690.96 ล้านบาท โดยเป็นการปรับตามผลประชาคมหมู่บ้าน ซึ่งมีผลให้กรอบวงเงินในปี 2553 เพิ่มขึ้นจาก 18,259.81 ล้านบาท เป็น 21,196.63 ล้านบาท และปี 2554 เพิ่มขึ้นจาก 19,096.27 ล้านบาท เป็น 22,174.40 ล้านบาท และในปี 2553 ได้รับการจัดสรรงบประมาณรวมทั้งสิ้น 19,840.21 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 93.60 ของกรอบวงเงินตามแผนฯ
2. ความก้าวหน้าการดำเนินงานตามมาตรการพิเศษเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ประชาชน และสิทธิประโยชน์จูงใจนักลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และแผนไทยเข้มแข็ง 5 ดาว
2.1 สาระสำคัญ
2.1.1 มาตรการพิเศษเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ประชาชน และสิทธิประโยชน์จูงใจนักลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
(1) มาตรการทางการเงิน 1) สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 1.5 ต่อปี โดยธนาคารออมสินสนับสนุนวงเงินสินเชื่อแก่ธนาคารพาณิชย์ เพื่อปล่อยเงินกู้แก่กิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในวงเงิน 25,000 ล้านบาท ตั้งแต่ 1 มกราคม 2554 - 31 ธันวาคม 2556 และธนาคารออมสินทำหน้าที่แทนธนาคารแห่งประเทศไทยในวงเงินคงค้าง 3,000 ล้านบาท ตั้งแต่ 1 มิถุนายน — 31 ธันวาคม 2553 และ 2) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ขยายวงเงินค้ำประกันสินเชื่อให้นักลงทุนและผู้ประกอบการ SMEs ที่ขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน
(2) มาตรการช่วยเหลือกลุ่มอาชีพและเกษตรกร ธ.ก.ส. จ่ายเงินกู้ปาล์มน้ำมันให้แก่เกษตรกรตามวิธีปฏิบัติสินเชื่อปกติ ในรอบปีบัญชี 2552 ( 1 เมษายน 2552 - 31 มีนาคม 2553) รวมทั้งสิ้น 61.46 ล้านบาท
2.1.2 แผนไทยเข้มแข็ง 5 ดาว
กระทรวงการคลังได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินการจัดทำแผนไทยเข้มแข็ง 5 ดาว ประกอบด้วย มาตรการ 5 กลุ่ม ได้แก่ ประมง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา การท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์และอาหารฮาลาล โดยได้จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีข้อสรุปที่จะจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนด้านการเงิน การคลัง แรงงาน โครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุน ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมใน 3 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านเกษตร ประกอบด้วย ประมง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา (2) ด้านท่องเที่ยว และ (3) ด้านผลิตภัณฑ์และอาหารฮาลาล
2.2 มติคณะกรรมการ รชต.
มอบหมายให้กระทรวงการคลังร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผลักดันมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามแผนไทยเข้มแข็ง 5 ดาว ให้เกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว และนำเสนอคณะกรรมการ รชต. ในการประชุมครั้งต่อไป
3. ความก้าวหน้าแผนงานโครงการตามแผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2553
3.1 สาระสำคัญ
3.1.1 วันที่ 5 มกราคม 2553 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการปรับปรุงโครงการในปี 2553 ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ตามผลการประชาคมหมู่บ้านเป้าหมายเร่งด่วน 696 หมู่บ้าน และอนุมัติโครงการใหม่เพิ่มเติมตามผลการประชาคม จำนวน 14 โครงการ วงเงิน 1,059.76 ล้านบาท ทำให้กรอบวงเงินงบประมาณปี 2553 เพิ่มขึ้นจาก 19,913.51 ล้านบาท เป็น 21,196.63 ล้านบาท
3.1.2 ปี 2553 ได้รับการจัดสรรงบประมาณรวม 19,840.21 ล้านบาท ผลการเบิกจ่าย ณ วันที่ 5 มิถุนายน 2553 รวม 6,220.25 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 31.35 ต่ำกว่าผลการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2553 ของ ภาครัฐ และโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ที่มีผลการเบิกจ่ายร้อยละ 59.4 และร้อยละ 45.0 ตามลำดับ
3.1.3 หน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไปมี 6 หน่วยงาน คือ
1) สำนักนายกรัฐมนตรี (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร : กอ.รมน.)
2) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
3) กระทรวงคมนาคม
4) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
5) กระทรวงมหาดไทย
6) กระทรวงศึกษาธิการ วงเงินรวม 16,821.00 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 84.8 ของงบประมาณที่ได้รับจัดสรร มีผลการเบิกจ่ายเฉลี่ยค่อนข้างต่ำ คือ เฉลี่ยร้อยละ 34.1 นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้รับงบประมาณ 963.39 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายเพียงร้อยละ 6.04 เท่านั้น
3.2 มติคณะกรรมการ รชต.
มอบหมายให้สำนักนายกรัฐมนตรี (กอ.รมน.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดการดำเนินโครงการ และรายงานผลการดำเนินงานและการเบิกจ่ายงบประมาณให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นำเสนอรองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (อชต.) เพื่อรายงานคณะรัฐมนตรีทราบทุกเดือน
4. การเร่งรัดโครงการที่ยังไม่มีความก้าวหน้าการดำเนินงาน
4.1 สาระสำคัญ
วันที่ 23 มิถุนายน 2552 รองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) ในฐานะประธาน อชต. ได้ประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีมติมอบหมายให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ปล่อยสินเชื่อให้ ผู้ประกอบอาชีพให้บริการรถสาธารณะวงเงิน 5,000 ล้านบาท และคิดกำไรในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อปี โดยรัฐบาลให้การอุดหนุนงบประมาณสำหรับชดเชยค่าดำเนินงานและดอกเบี้ยส่วนต่างให้ ธอท. ปีละ 100 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 7 ปี
4.1.2 ปัจจุบัน ธอท. ได้ดำเนินการปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบอาชีพให้บริการรถสาธารณะ โดยคิดกำไรในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี และจะลดอัตรากำไรเหลือร้อยละ 1.5 ต่อปี หากรัฐบาลสนับสนุนเงินทุนสำหรับการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบอาชีพให้บริการรถสาธารณะดังกล่าว
4.2 มติคณะกรรมการ รชต.
เห็นชอบในหลักการให้รัฐบาลสนับสนุน ธอท. ปล่อยสินเชื่อภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ประกอบอาชีพให้บริการรถสาธารณะ โดยชดเชยส่วนต่างระหว่างต้นทุนเงินกับอัตราผลตอบแทนที่ ธอท. จะได้รับจากการปล่อยสินเชื่อ โดยมอบหมายให้ ธอท. หารือกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาวงเงินชดเชยส่วนต่างระหว่างต้นทุนเงินกับอัตราผลตอบแทนภายใน 1 สัปดาห์ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
5. การขออนุมัติเปลี่ยนแปลงรายละเอียดแผนงานโครงการ และงบประมาณภายใต้แผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามผลการประชาคม 696 หมู่บ้าน
5.1 สาระสำคัญ
วันที่ 23 มีนาคม 2553 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการตามผลประชาคม 696 หมู่บ้านเพิ่มเติมของกรมประมง จำนวน 4 โครงการ งบประมาณ 19.9986 ล้านบาท แต่เนื่องจากมีความคลาดเคลื่อนในข้อมูลครัวเรือนเป้าหมาย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดแผนงานโครงการ และงบประมาณจาก 19.9986 ล้านบาท เป็น 9.4162 ล้านบาท ประกอบด้วย 1) โครงการสนับสนุนการเลี้ยงปลาในกระชังและบ่อดิน (ปลานิล ปลากะพงขาว ปลากินพืช) วงเงิน 4.8432 ล้านบาท 2) โครงการส่งเสริมการเลี้ยงปลาดุกในบ่อดิน วงเงิน 2.3550 ล้านบาท 3) โครงการเลี้ยงปลาดุกในบ่อพลาสติก วงเงิน 2.0076 ล้านบาท และ 4) โครงการปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมง วงเงิน 0.2104 ล้านบาท
5.2 มติคณะกรรมการ รชต.
อนุมัติการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ และงบประมาณตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
6. การขออนุมัติแผนงานโครงการ และงบประมาณ ในการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มเติม
6.1 สาระสำคัญ
คณะกรรมการ รชต. ได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณประจำปี 2553 เพิ่มเติม สำหรับแผนงานโครงการที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนี้
6.1.1 กระทรวงศึกษาธิการ ขออนุมัติโครงการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าปริญญา(อนุปริญญา) ของวิทยาลัยชุมชน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ งบประมาณ 3,900,570 บาท
6.1.2 จังหวัดปัตตานี ขออนุมัติ 1) โครงการจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยวิกฤติและฉุกเฉินจากสถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้ งบประมาณ 8,290,000 บาท และ 2) โครงการติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) ในพื้นที่เสี่ยงรอบศูนย์ราชการจังหวัดปัตตานี งบประมาณ 7,950,300 บาท
6.1.3 สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) ขออนุมัติโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของข้าราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้เงินสำรองจ่ายตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 งบประมาณ 129,129,600 บาท
6.1.4 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ขออนุมัติโครงการปรับปรุงหออภิบาลผู้ป่วยหนัก โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ งบประมาณ 162,450,000 บาท
6.2 มติคณะกรรมการ รชต.
6.2.1 อนุมัติโครงการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าปริญญา(อนุปริญญา) ของวิทยาลัยชุมชน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ วงเงิน 3.90 ล้านบาท (กระทรวงศึกษาธิการ) โครงการจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยวิกฤตและฉุกเฉินจากสถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้ วงเงิน 8.29 ล้านบาท (กระทรวงสาธารณสุข) และโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิด(CCTV)ในพื้นที่เสี่ยงรอบศูนย์ราชการจังหวัดปัตตานี วงเงิน 7.95 ล้านบาท (กระทรวงมหาดไทย) โดยใช้งบประมาณจากงบกลางประจำปี 2553 รายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
6.2.2 เห็นชอบโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของข้าราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ วงเงิน 129.13 ล้านบาท (สำนักงาน ก.พ.) และโครงการปรับปรุงหออภิบาลผู้ป่วยหนัก โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วงเงิน 162.45 ล้านบาท (กระทรวงศึกษาธิการ) โดยใช้งบประมาณภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ทั้งนี้ ให้หน่วยงานจัดทำรายละเอียดโครงการและนำเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองและบริหารโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
7. การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการและงบประมาณโครงการทำดีมีอาชีพ
7.1 สาระสำคัญ
กอ.รมน. เสนอขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการและงบประมาณโครงการทำดีมีอาชีพที่ได้รับงบประมาณดำเนินการในปี 2553 วงเงินรวม 859.44 ล้านบาท ซึ่ง กอ.รมน.ได้ดำเนินโครงการ และเบิกจ่ายงบประมาณไปแล้ว จำนวน 403.26 ล้านบาท และยังมีวงเงินคงเหลืออยู่จำนวน 456.18 ล้านบาท กอ.รมน. จึงขอเปลี่ยนแปลงเพื่อดำเนินกิจกรรม ประกอบด้วย 1) จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และศูนย์ฝึกอบรมในศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ วงเงิน 100 ล้านบาท 2) จัดตั้งชมรมทำดีมีอาชีพในระดับตำบลและจัดหาเครื่องมือประกอบอาชีพให้กับเยาวชนและประชาชนทั่วไปที่ผ่านการฝึกอบรม และขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ 3) สนับสนุนการดำเนินการของสภาสันติสุขตำบล ให้เป็นแกนกลางในการดำเนินการของชมรมทำดีมีอาชีพ และสนับสนุนเพิ่มเติมโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง รวมกิจกรรมที่ 2 และ 3 เป็นเงิน 400 ล้านบาท รวมวงเงินทั้งสิ้น 500 ล้านบาท
7.2 มติคณะกรรมการ รชต.
เห็นชอบการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการและงบประมาณโครงการทำดีมีอาชีพตามที่ กอ.รมน. เสนอ โดยให้ กอ.รมน. ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณในรายละเอียดต่อไป
8. การแต่งตั้งกรรมการ รชต. และเปลี่ยนแปลงประธานอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
8.1 สาระสำคัญ
ตามที่ได้มีประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แทนนายวีระชัย วีระเมธีกุล เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2553 และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553 มอบหมายและมอบอำนาจให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการ รชต. จึงได้เสนอแต่งตั้งนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการ รชต. แทนนายวีระชัย วีระเมธีกุล และแต่งตั้งเป็นประธานอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แทนนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย
8.2 มติคณะกรรมการ รชต.
เห็นชอบการแต่งตั้งนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการ รชต. แทนนายวีระชัย วีระเมธีกุล และเป็นประธานอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แทนนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 มิถุนายน 2553--จบ--