ขอความเห็นชอบปฏิญญาร่วมว่าด้วยความมั่นคงปลอดภัยด้านการบินในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 23, 2010 16:20 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอร่างปฏิญญาร่วมว่าด้วยความมั่นคงปลอดภัยด้านการบินในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาดำเนินการต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

คค. รายงานว่า

1. กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และท่องเที่ยว (Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism หรือ MLT) ประเทศญี่ปุ่น ได้จัดการประชุมรัฐมนตรีว่าด้วยความมั่นคงปลอดภัยด้านการบินในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2553 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเป็นการประสานความร่วมมือที่จะร่วมต่อต้านการก่อการร้ายในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยคุกคามด้านการบิน

2. การประชุมฯ ครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากความพยายามก่อการร้ายด้วยการโจมตีอากาศยานของสายการบิน Northwest Airline ของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2552 ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการประชุมในลักษณะเดียวกันนี้ที่สหรัฐอเมริกาและยุโรป รัฐบาลญี่ปุ่นจึงเห็นความสำคัญที่จะต้องมีการประชุมเรื่องนี้ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เพื่อนำผลของการประชุมไปรายงานในที่ประชุมสมัชชาขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศซึ่งจะมีขึ้นในช่วงเดือนกันยายน 2553

3. ในการประชุมฯ ดังกล่าวจะมีการพิจารณาให้การรับรองร่างแถลงการณ์ร่วม (Joint Statement) ว่าด้วยความมั่นคงปลอดภัยด้านการบินในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ซึ่ง คค. ได้รับร่างแถลงการณ์ร่วมฯ จากฝ่ายญี่ปุ่นกระชั้นชิด ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ไม่สามารถเสนอความเห็นในเรื่องดังกล่าวได้ทันก่อนการประชุมฯ และต่อมาฝ่ายญี่ปุ่นได้เปลี่ยนชื่อ “ร่างแถลงการณ์ร่วม (Joint Statement) ” เป็น “ร่างปฏิญญาร่วม (Joint Declaration) ” รวมทั้งได้ปรับปรุงแก้ไขเนื้อความในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ แต่มิได้เปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ

4. ร่างปฏิญญาร่วมฯ มีสาระสำคัญคือ แสดงถึงความมุ่งมั่นของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเพื่อต่อต้านภัยคุกคามต่าง ๆ ด้านการบินในภูมิภาคนี้ โดยส่งเสริมให้ดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ด้านความมั่นคง ปลอดภัยในการบินซึ่งเป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศ รวมถึงมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ โดยการขยายกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีอยู่แล้ว การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลและแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบิน เช่น วิธีการตรวจสอบผู้โดยสาร การสืบค้นอาวุธ วัตถุระเบิด และวัตถุอันตราย การพัฒนาบุคลากร การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น รวมทั้งใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อสืบค้นวัตถุต้องห้ามและเพื่อป้องกันการขนวัตถุเหล่านั้นขึ้นบนอากาศยาน แต่ขณะเดียวกันก็พึงเคารพต่อความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของผู้โดยสารด้วย

5. ปฏิญญาร่วมฯ ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยทางการบินระหว่างประเทศ ตามมาตรฐานและแนวทางขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ซึ่งที่ประชุมได้ใช้วิธีรับรองโดยไม่มีการลงนาม จึงไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายกับประเทศไทย ดังนั้น ปฏิญญาร่วมฯ จึงไม่น่าจะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ