คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการนำคณะเอกอัครราชทูต (ออท.) และเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูต รวม 12 คน จาก 12 ประเทศ ในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา แอฟริกา และยุโรปเดินทางเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างวันที่ 20 — 21 กุมภาพันธ์ 2553 เพื่อรับทราบสถานการณ์ที่แท้จริงในพื้นที่ โดยรับฟังข้อมูลจากหน่วยงานของภาครัฐและ องค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
1. กต. ร่วมกับ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ศอ.บต. พตท. ศชต. จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี และ ม. สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดกำหนดการให้คณะ ออท. เข้าพบปะบุคคลสำคัญ อาทิ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผอ.กอ.รมน. ดาโต๊ะยุติธรรมประจำ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมเยี่ยมชมโครงการต่างๆ และเข้ารับฟังบรรยายสรุปจากนักวิชาการและ องค์กรภาคประชาสังคม
2. คณะ ออท. ได้รับทราบข้อมูลโดยตรงจากภาครัฐและประชาชน และได้เห็นการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลที่เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ ตลอดจนการอำนวยความยุติธรรมภายใต้กรอบของกฎหมายและให้เสรีภาพทางศาสนา รวมทั้งเห็นความโปร่งใสและความจริงใจของรัฐบาลในการส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
3. คณะ ออท. ให้ความสนใจเป็นพิเศษในประเด็นการบังคับใช้กฎหมายอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงความเป็นไปได้ในการขยายการบังคับใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกในภาคอื่นๆ ของไทย
4. คณะ ออท. แสดงความชื่นชมนโยบายของรัฐบาลซึ่งสนับสนุนสถาบันการเงินชุมชนและการให้เงินทุนกับชุมชนรายย่อย (Micro - Credit) ซึ่ง คณะ ออท. ยินดีที่จะจัดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินโครงการดังกล่าวกับไทย
5. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เน้นย้ำว่า ในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น รัฐบาลยึดหลักธรรมาภิบาล โดยเชื่อมั่นว่าปัญหาความรุนแรงสามารถแก้ไขได้ด้วยสันติวิธี และรัฐบาลไม่นิ่งนอนใจกับความทุกข์ยากของประชาชน โดยได้ดำเนินโครงการส่งเสริมอาชีพยกระดับรายได้ โครงการพัฒนาสาธารณูปโภค การศึกษา และการส่งเสริมวัฒนธรรม อัตลักษณ์มลายูมุสลิม รวมถึงการติดตามความคืบหน้าของคดีสำคัญอย่างต่อเนื่อง
ข้อคิดเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ
กระทรวงการต่างประเทศประเมินว่า การเยือนดังกล่าวช่วยลบภาพพจน์ในเชิงลบของสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เกิดจากการรายงานของสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ และการเคลื่อนไหวของผู้ไม่หวังดีได้ในระดับหนึ่ง
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีข้อมูลสถิติการเกิดเหตุและความสูญเสียโดยจำแนกมูลเหตุของคดีและ เหตุการณ์ไว้อย่างชัดเจน เพื่อแสดงให้เห็นชัดเจนว่าคดีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มิได้เป็นคดีความมั่นคงทั้งหมด และสถานการณ์มิได้เลวร้ายตามที่หลายฝ่ายเข้าใจ
กระทรวงการต่างประเทศจะเชิญ ออท. ต่างประเทศที่ได้เยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้มารับฟังบรรยายสรุปผลการเยือนเพื่อความร่วมมือในการเสริมสร้างสันติภาพและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมทั้งมีโครงการที่จะจัดคณะสื่อมวลชนต่างประเทศโดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศมุสลิมเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐบาล
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 มิถุนายน 2553--จบ--