ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ ครั้งที่ 2

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 23, 2010 16:25 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ ครั้งที่ 2 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ

กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า สาธารณรัฐสิงคโปร์ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี อาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (ASEAN-GCC Ministerial Meeting) ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2553 ในการนี้ นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยสำหรับการประชุมดังกล่าว สรุปผลการประชุมได้ดังนี้

1. การหารือเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือในอนาคต

1.1 ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือที่อาเซียนและคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับอาจพิจารณาผลักดันในอนาคต โดยที่ประชุมได้ตกลงที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนความรู้และแนวทางปฏิบัติในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การขนส่ง การสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน ด้านกงสุล ด้านแรงงาน การพัฒนาความพร้อมเพื่อรับมือวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต รวมทั้งการส่งเสริมให้ประชาชนของทั้งสองภูมิภาคมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น โดยส่งเสริมให้มีการแข่งขันกีฬาระหว่างกัน

1.2 บาห์เรนได้เสนอให้มีการจัดตั้งมูลนิธิอาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (ASEAN-GCC Foundation) เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การศึกษา และการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชน ซึ่งที่ประชุมฯ ได้ให้ความเห็นชอบต่อข้อเสนอดังกล่าว

1.3 ทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะแต่งตั้งเอกอัครราชทูตของตนประจำคณะผู้แทนถาวรอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา และสำนักเลขาธิการคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ ณ กรุงริยาด ในการนี้ บาห์เรนได้แสดงเจตจำนงว่าจะแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ซึ่งมีถิ่นพำนักอยู่ที่กรุงเทพฯ ให้ประจำคณะผู้แทนถาวรอาเซียนด้วย หากอาเซียนไม่ขัดข้อง

1.4 ที่ประชุมได้ตกลงที่จะจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีฯ ขึ้นเป็นประจำทุกปี (จากเดิมที่จะจัดทุก 2 ปี ตามที่ได้หารือกันในที่ประชุมระดับรัฐมนตรีฯ ครั้งที่ 1) โดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับรัฐมนตรีฯ ครั้งต่อไป

2. การรับรองแผนปฏิบัติการสำหรับความร่วมมืออาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ พ.ศ. 2553 — 2555

2.1 ที่ประชุมฯ ได้หารือและรับรองแผนปฏิบัติการฯ (โดยไม่มีการลงนาม) เพื่อเป็นเอกสารกำหนดแนวทางการพัฒนาความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับในช่วงเวลา 2 ปี ในสาขาต่าง ๆ อาทิ การค้าและการลงทุน ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา การศึกษา วัฒนธรรมและสารสนเทศ การส่งเสริม การหารือระหว่างสภาหอการค้าและภาคธุรกิจของทั้งสองฝ่าย และการเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกัน โดยแผนปฏิบัติการฯ ได้กำหนดให้สำนักเลขาธิการของทั้งสองฝ่ายอำนวยความสะดวกให้กับการหารือของเจ้าหน้าที่ของทั้งสองภูมิภาค ได้แก่

2.1.1 การจัดการหารือโต๊ะกลมระหว่างเจ้าหน้าที่ด้านเศรษฐกิจระหว่างกัน เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการจัดตั้งเขตการค้าเสรี (Free Trade Area) และข้อตกลงด้านการค้าและการลงทุน (Trade and Investment Framework Agreement)

2.1.2 การจัดการประชุมคณะทำงานระหว่างสองฝ่ายในแต่ละด้าน (sectotal working groups) เพื่อกำหนดกิจกรรมที่จะส่งเสริมความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ ตามที่ระบุในแผนปฏิบัติการฯ

2.2 ที่ประชุมฯ ได้กำหนดประเทศที่จะเป็นแกนนำ (co-lead countries) สำหรับความร่วมมือและการประชุมคณะทำงานในสาขาสำคัญ โดยไทยรับที่จะเป็นแกนนำในด้านการเกษตรและอาหาร ตลอดจนเป็นแกนนำในด้านการท่องเที่ยวร่วมกับคูเวต นอกจากนี้ ซาอุดีอาระเบียจะเป็นแกนนำในด้านพลังงาน มาเลเซียหรือสิงคโปร์จะเป็นแกนนำด้านการค้าและการลงทุน

3. บทบาทของไทย

3.1 ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้กล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอ่าวอาหรับที่มีมานานหลายศตวรรษ ซึ่งได้เสริมสร้างความผูกพันที่แน่นแฟ้นระหว่างภูมิภาคและประชาชนของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งได้เชิญรัฐมนตรีประเทศต่างๆ เข้าร่วมการหารือ เอเชีย-ตะวันออกกลาง ครั้งที่ 3 (Asia-Middle East Dialogue III) ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือนธันวาคม 2553 เพื่อเสริมสร้างความผูกพันและความเข้าใจระหว่างสองภูมิภาค พร้อมทั้งได้เชิญเลขาธิการคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับเยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศด้วย

3.2 นอกจากนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ได้แสดงความเห็นว่าทั้งสองภูมิภาคสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ระหว่างกันได้เพื่อรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจในอนาคต โดยฝ่ายคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับอาจเรียนรู้เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างสถาบันการเงินของอาเซียนนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และอาเซียนอาจเรียนรู้เกี่ยวกับแนวทางการค้าและการลงทุนของคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนของทั้งสองภูมิภาค โดยอาจส่งเสริมเรื่องการกีฬาเพื่อให้ประชาชนมี ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมากขึ้น

3.3 อนึ่ง ในการเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ได้หารือทวิภาคีกับหัวหน้าคณะผู้แทนของบาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ และได้หารืออย่างไม่เป็นทางการกับหัวหน้าคณะผู้แทนของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยนอกจากการหารือในประเด็นความร่วมมือทวิภาคีและพหุภาคีแล้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ยังได้ถือโอกาสนี้ชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทย ซึ่งหัวหน้าคณะผู้แทนของทั้ง 5 ประเทศ ก็ได้แสดงความเข้าใจและให้กำลังใจประเทศไทยและประชาชนชาวไทยเป็นอย่างดี

4. ข้อคิดเห็น

4.1 การประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีของทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องกันในการที่จะเร่งรัดความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ ตามแผนปฏิบัติการฯ ให้บรรลุผลโดยเร็ว เนื่องจากระยะเวลาของการดำเนินการกำหนดไว้เพียง 2 ปี และขณะนี้ โอกาสการค้าการลงทุนในอาเซียนได้เปิดให้แก่ประเทศภายนอกเป็นอย่างมาก ซึ่งฝ่ายคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับเห็นโอกาสที่จะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสองภูมิภาค และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ที่ประชุมเห็นชอบที่จะมีการประชุมครั้งต่อไปในปีหน้าตามข้อ 1.4

4.2 การประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับครั้งนี้มีความคืบหน้าเกี่ยวกับการกำหนดแนวทางความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายในหลายสาขาตามแผนปฏิบัติการฯ ซึ่งแม้กระทรวงการต่างประเทศจะพิจารณาแล้ว มีความเห็นว่าแผนปฏิบัติการฯ ไม่น่าจะมีผลผูกพันตามกฎหมาย แต่การรับรองแผนปฏิบัติการฯ เป็นการเปิดโอกาสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยสามารถผลักดันแนวนโยบายและผลประโยชน์ของไทยในแต่ละด้านจึงเห็นควรนำผลการประชุมฯ และเอกสารสำคัญที่ได้รับการรับรองในที่ประชุมฯ แจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ