การลงนามร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์กับศูนย์ศิลปากร

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 23, 2010 16:27 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การลงนามร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์กับศูนย์ศิลปากรสำหรับการจัดนิทรรศการ

โบราณวัตถุภายใต้หัวข้อเรื่อง “A Passage to Asia : 25 Centuries of Exchange between Asia and Europe”

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอดังนี้

1. เห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์กับ Centre for Fine Arts เพื่อเข้าร่วมการจัดนิทรรศการ “A Passage to Asia : 25 Centuries of Exchange between Asia and Europe” โดยให้กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงวัฒนธรรมสามารถเปลี่ยนแปลงถ้อยคำในส่วนที่ไม่กระทบต่อสาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจฯ โดยไม่ต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก

2. อนุมัติให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์เป็นผู้ลงนามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้กับ CFA

กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า รัฐบาลเบลเยียมจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 8 (8th Asia-Europe Meeting — ASEM 8) ระหว่างวันที่ 4 — 5 ตุลาคม 2553 ณ กรุงบรัสเซลส์ และในโอกาสนี้ รัฐบาลเบลเยียม ร่วมกับ Centre for Fine Arts (CFA) จะจัดนิทรรศการโบราณวัตถุภายใต้หัวข้อเรื่อง “A Passage to Asia : 25 Centuries of Exchange between Asia and Europe” ระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน - 10 ตุลาคม 2553 ณ CFA กรุงบรัสเซลส์

ในการนี้ ฝ่ายเบลเยียมได้มีหนังสือแจ้งเชิญประเทศสมาชิกฝ่ายเอเชีย รวมทั้งรัฐบาลไทย ให้เข้าร่วมนิทรรศการฯ โดยการจัดส่งโบราณวัตถุเข้าร่วมจัดแสดงในนิทรรศการฯ ในช่วงดังกล่าว โดยพิธีเปิดนิทรรศการฯ อย่างเป็นทางการจะมีขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน 2553 ณ CFA กรุงบรัสเซลส์ โดยประเทศผู้เข้าร่วมนิทรรศการฯ จะต้องลงนามใน ร่างบันทึกความเข้าใจกับ CFA ในการเข้าร่วมนิทรรศการครั้งนี้

กระทรวงการต่างประเทศขอเรียนดังนี้

1. ภูมิหลัง

1.1 รัฐบาลเบลเยียมร่วมกับ Centre for Fine Arts (CFA) จะจัดนิทรรศการ “A Passage to Asia : 25 Centuries of Exchange between Asia and Europe” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมระหว่างประเทศสมาชิก ASEM ฝ่ายเอเชียและฝ่ายยุโรป

1.2 ในการนี้ ฝ่ายเบลเยียมได้เชิญรัฐบาลประเทศสมาชิกฝ่ายเอเชีย รวมทั้งรัฐบาลไทยเข้าร่วมนิทรรศการฯ โดยจัดส่งโบราณวัตถุที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างภูมิภาคเอเชียกับภูมิภาคยุโรปในมิติเชิงวัฒนธรรมเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความเชื่อของแต่ละประเทศที่เข้าร่วมนิทรรศการฯ

1.3 นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเบลเยียมยังได้มีหนังสือเชิญนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมเป็นองค์อุปถัมภ์ (Patron) ในคณะกรรมการอุปถัมภ์ (Patronage Committee) ของนิทรรศการที่สำคัญครั้งนี้ เพื่อรณรงค์ ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่นิทรรศการ รวมทั้งแสดงการสนับสนุนในเชิงสัญลักษณ์ต่อการจัดนิทรรศการฯ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือตอบรับเข้าร่วมเป็นองค์อุปถัมภ์ด้วยแล้ว

2. สาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจฯ

2.1 ฝ่ายเบลเยียมโดย CFA ได้เสนอร่างบันทึกความเข้าใจฯ เพื่อให้ประเทศผู้เข้าร่วมโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงนามร่วมกับ CFA เพื่อเป็นกรอบของการดำเนินการในการเข้าร่วมนิทรรศการฯ

2.2 ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีสาระสำคัญประกอบด้วย 15 ข้อ อันได้แก่ 1) กรอบของสัญญา 2) ห้องจัดแสดงนิทรรศการ 3) ชื่อนิทรรศการและผู้จัด (ภัณฑารักษ์) 4) รายการโบราณวัตถุและมูลค่าการประกัน 5) กำหนดวัน ช่วงเวลา และพิธีเปิด 6) ความรับผิดชอบและค่าใช้จ่าย 7) แบบฟอร์มแสดงสภาพและรายละเอียดของศิลปวัตถุที่ใช้แสดง 8) พิธีการด้านศุลกากร 9) สภาพแวดล้อมทางกายภาพ 10) ความปลอดภัย 11) บัญชีรายชื่อรูปภาพ และการทำแบบจำลอง 12) การตัดสินใจ 13) การประชาสัมพันธ์ 14) เหตุสุดวิสัย 15) การระงับข้อขัดแย้ง

3. ข้อคิดเห็น

3.1 โดยที่การประชุมระดับผู้นำ ASEM มีขึ้นทุก 2 ปี และผู้นำรัฐบาลไทยได้เข้าร่วมการประชุมในระดับผู้นำอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด รวมทั้งประเทศไทยได้เคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับผู้นำ ASEM ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 1 — 2 มีนาคม 2539 ดังนั้น หากประเทศไทยสามารถมีส่วนร่วมโดยการจัดส่งโบราณวัตถุไทยไปร่วมจัดแสดงในนิทรรศการฯ ครั้งนี้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับภูมิภาคยุโรปที่มีมาช้านานผ่านศิลปะและวัตถุโบราณ

3.2 กระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งขอความร่วมมือจากกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อพิจารณาให้ความร่วมมือในการคัดสรรโบราณวัตถุที่มีคุณค่าและเหมาะสมเพื่อไปจัดแสดงในนิทรรศการฯ ครั้งนี้ ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมได้แจ้งว่ายินดีให้การสนับสนุนการเข้าร่วมนิทรรศการในด้านวิชาการแต่ไม่มีงบประมาณรองรับในการจัดส่งโบราณวัตถุไปแสดงได้

3.3 โดยที่การเข้าร่วมนิทรรศการฯ ดังกล่าวมีความสำคัญเพราะจะเป็นโอกาสอันดีที่จะเผยแพร่และตอกย้ำความสวยงามและคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมและโบราณวัตถุของไทยอย่างกว้างขวางให้แก่ผู้เข้าชมนิทรรศการฯ อันได้แก่ ผู้นำประเทศสมาชิก ASEM คณะทูตานุทูต ภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อมวลชน นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไปในกรุงบรัสเซลส์ซึ่งเป็นนครหลวงของสหภาพยุโรป กระทรวงการต่างประเทศจึงได้ดำเนินการสรรหางบประมาณเพื่อสนับสนุนการเข้าร่วมนิทรรศการฯ โดยกระทรวงวัฒนธรรมได้คัดสรรโบราณวัตถุรวม 13 รายการเพื่อนำไปจัดแสดงในนิทรรศการฯ ครั้งนี้

3.4 โดยที่บันทึกความเข้าใจฯ มีสาระเป็นสัญญาในเชิงพาณิชย์ จึงไม่เข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 แต่โดยที่สาระของบันทึกความเข้าใจฯ เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงเห็นควรเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนลงนาม

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ