คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และภาวะโลกร้อน พ.ศ. 2553 ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ข้อเท็จจริง
สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และภาวะโลกร้อน พ.ศ. 2553 โดยสอบถามจากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ จำนวน 3,900 คน ระหว่างวันที่ 5 — 20 เมษายน 2553 ซึ่งการสำรวจครั้งนี้ ได้สะท้อนข้อคิดเห็นของประชาชนต่อภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้นำผลการสำรวจไปใช้เป็นแนวทางในการติดตามนโยบาย ประเมินผล และปรับปรุงการดำเนินงานแก้ไขปัญหาให้ตรงกับความต้องการของประชาชนต่อไป ขณะนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำผลการสำรวจเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชน/หมู่บ้าน และการแก้ไขปัญหา
ประชาชน ร้อยละ 70.4 ระบุว่า ประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชน/หมู่บ้าน ในรอบปีที่ผ่านมา และร้อยละ 29.6 ไม่ประสบปัญหา โดยประชาชนในกลุ่มที่ประสบปัญหาฯ ได้ระบุปัญหา 3 อันดับแรก คือ การเกิดภาวะภัยแล้ง ร้อยละ 72.6 การเกิดภาวะน้ำท่วม ร้อยละ 25.3 และมลพิษทางอากาศ (เช่น หมอกควันจากการเผาป่า) ร้อยละ 22.5
สำหรับประชาชนที่ประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม พบว่า ร้อยละ 27.6 มีการแก้ไขปัญหากันเองเบื้องต้น และร้อยละ 72.4 ไม่มีการแก้ไข และในกลุ่มประชาชนที่มีการแก้ไขปัญหากันเองเบื้องต้น ได้ระบุเรื่องที่แก้ไขมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ การรณรงค์ปลูกต้นไม้/เพิ่มพื้นที่สีเขียว ร้อยละ 25.5 การขุดลอกคูคลองเพื่อหาแหล่งน้ำทำการเกษตร/ขุดบ่อบาดาล/ขุดสระเก็บน้ำ ร้อยละ 22.3 และการใช้น้ำอย่างประหยัด/ลดทำการเกษตรในฤดูแล้ง ร้อยละ 19.8
2. ความพึงพอใจต่อนโยบายหรือมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ
นโยบาย/มาตรการต่างๆ ทางด้านสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ พบว่า ประชาชนพึงพอใจสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ นโยบายสนับสนุนบทบาทชุมชนในการบริหารจัดการน้ำ (การทำฝายต้นน้ำลำธารหรือฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริ) ร้อยละ 89.0 นโยบายป้องกันการชะล้างทำลายหน้าดิน โดยการปลูกหญ้าแฝกตามแนวพระราชดำริ ร้อยละ 87.9 และนโยบายเร่งรัดให้ประชาชน ชุมชนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 87.5
3. ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน และสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
ประชาชน ร้อยละ 95.7 ระบุว่า รับรู้หรือได้ยินคำว่าภาวะโลกร้อน และร้อยละ 4.3 ไม่เคยรับรู้ฯ โดยระบุสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน 3 อันดับแรก คือ การจุดไฟเผา (เผาป่า เผาขยะ เผาฟางเพื่อการเพาะปลูก) ร้อยละ 69.2 การตัดไม้ทำลายป่า ร้อยละ 52.8 และการปล่อยควันจากท่อไอเสียจากยานพาหนะ ร้อยละ 43.7
4. มาตรการหรือแนวทางที่สำคัญของภาครัฐเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อน
ประชาชน ได้ระบุถึงมาตรการหรือแนวทางของภาครัฐที่คิดว่าจะช่วยรับมือกับวิกฤตภาวะโลกร้อน 3 อันดับแรก โดยร้อยละ 85.9 เห็นว่า ควรรณรงค์การประหยัดพลังงาน ร้อยละ 57.0 ควรส่งเสริมการใช้ชีวิตแบบพอเพียง และร้อยละ 40.1 ควรใช้พลังงานทดแทน
สำหรับการประหยัดพลังงานตามที่ภาครัฐกำหนดให้สถานที่ราชการทุกกระทรวงเปลี่ยนหลอดไฟเป็นหลอดไฟแบบประหยัดนั้น ประชาชน ระบุว่า สามารถประหยัดพลังงานและลดภาวะโลกร้อนได้ในระดับมาก ร้อยละ 32.8 ปานกลาง ร้อยละ 48.9 น้อย ร้อยละ 9.6 ที่ระบุว่าไม่ได้ช่วยฯ มีร้อยละ 2.5 และไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ ร้อยละ 6.2
นอกจากนี้ ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนในสถาบันการศึกษาทุกระดับเพื่อให้ประชาชนเกิดการเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตภาวะโลกร้อนนั้น ประชาชน ร้อยละ 98.3 เห็นว่า ควรมีการจัดทำหลักสูตร และร้อยละ 1.7 เห็นว่า ไม่ควรจัดทำ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 มิถุนายน 2553--จบ--