สรุปผลการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยพิเศษ ครั้งที่ 9

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 23, 2010 16:52 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลผลการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยพิเศษ (Extraordinary Session of the World Heritage Committee) ครั้งที่ 9 ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายสุวิทย์ คุณกิตติ) ในวันที่ 14 มิถุนายน 2553 ณ ห้องประชุม 11 ศูนย์มรดกโลก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ดังนี้

1. คณะผู้แทนราชอาณาจักรไทยที่เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย 1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายสุวิทย์ คุณกิตติ) 2) รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นางศรีวิการ์ เมฆธวัชชัยกุล) 3) รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (นางโสมสุดา ลียะวณิช) 4) เอกอัคราชทูตไทยประจำกรุงปารีส (นายวีรพันธุ์ วัชราทิตย์) ในฐานะผู้แทนถาวรไทยประจำยูเนสโก 5) รองผู้แทนถาวรไทยประจำยูเนสโก (นางอรชาต สืบสิทธิ์)

2. วัตถุประสงค์ของการประชุมเพื่อพิจารณาประเด็นเร่งด่วน ในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของคณะกรรมการมรดกโลก โดยมีประเด็นการพิจารณา ดังนี้

2.1 การเลือกตั้งรองประธานคณะกรรมการมรดกโลก จากกลุ่มประเทศเอเชียและแปซิฟิก กลุ่มประเทศแอฟริกาและกลุ่มยุโรปตะวันออก ที่ประชุมมีมติรับรองให้แอฟริกาใต้ รัสเซีย และราชอาณาจักรไทย ดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการมรดกโลกในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 34 ระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม — 3 สิงหาคม 2553 ณ กรุงบราซิเลีย สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล

2.2 การเตรียมการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 34 ระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม 2553 ณ กรุงบราซิเลีย สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการบรรจุวาระเพื่อพิจารณานำเสนอในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 34 ดังนี้

1) การรับรองร่างระเบียบวาระการประชุมและตารางเวลาการทำงาน

2) เสนอเรื่องการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางธรรมชาติ มรดกโลกทางวัฒนธรรม และมรดกโลกที่มีลักษณะผสมทั้งทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรม

3) การรายงานการติดตามเรื่องการอนุรักษ์และการสงวนรักษา มรดกโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียน

4) การพิจารณามรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตราย

5) การติดตามเรื่องการบริหารจัดการแหล่งมรดกโลกตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งข้อมติของคณะกรรมการมรดกโลกในการประชุมครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 22 — 30 มิถุนายน 2552 ณ เมือง Seville ราชอาณาจักรสเปน ขอให้ราชอาณาจักรกัมพูชา เสนอแผนการจัดการปราสาทพระวิหารฉบับสมบูรณ์ (Full Management Plan) ต่อคณะกรรมการมรดกโลกในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งนี้

6) เรื่องงบประมาณ รวมทั้งคำของบประมาณช่วยเหลือระหว่างประเทศแบบฉุกเฉิน

7) เรื่องอนาคตของอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก เนื่องจากในปี พ.ศ. 2554 (ค.ศ. 2011) อนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก จะมีอายุครบ 40 ปี ขณะนี้ จึงมีการเตรียมการระดมความคิดเห็นจากการประชุมระดับภูมิภาคต่างๆ โดยจะมีการนำเสนอผลการประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านมรดกโลก ซึ่งราชอาณาจักรไทยร่วมกับประเทศญี่ปุ่น และเครือรัฐออสเตรเลีย ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเมื่อวันที่ 26 — 29 เมษายน 2553 ณ จังหวัดภูเก็ต

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายสุวิทย์ คุณกิตติ) ได้เสนอให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการเพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าอย่างผิดกฎหมาย (Illicit logging) ในป่า Humid Forests of Atsinanana ให้แก่สาธารณรัฐมาดากัสการ์ เนื่องจากราชอาณาจักรไทยมีประสบการณ์อันยาวนานในการต่อสู้กับการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า

3. การหารือร่วมกับผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก (Madam Irina Bokova) เกี่ยวกับการที่ราชอาณาจักรกัมพูชาเสนอรายงานเกี่ยวกับแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหาร ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ในปีนี้ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายสุวิทย์ คุณกิตติ) แจ้งให้ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโกทราบว่า คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกของราชอาณาจักรไทย พิจารณาว่าปัญหาเรื่องการปักปันเขตแดนระหว่างราชอาณาจักรไทย กับราชอาณาจักรกัมพูชายังไม่แล้วเสร็จ ดังนั้น จึงควรเลื่อนการประชุมร่วมสามฝ่าย (Tripartite) และ การประชุม Pre-International Coordinating Committee (Pre-ICC) ที่ยูเนสโกเสนอออกไปก่อน อย่างไรก็ตาม หากจะมีการประชุมขอให้มีลักษณะไม่เป็นทางการ จนกว่าสองประเทศจะตกลงเรื่องเขตแดนให้เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตอบรับในหลักการว่าอาจจะสามารถจัดประชุมอย่างไม่เป็นทางการสามฝ่าย(Tripartite) ก่อนการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ณ สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ซึ่งต้องเป็นความเห็นชอบของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกไทยของราชอาณาจักรไทย สำหรับการประชุม Pre-ICC นั้น ราชอาณาจักรไทยไม่เห็นด้วย เนื่องจากการคัดเลือกคณะกรรมการ ICC ยังไม่มีความชัดเจน ทั้งวิธีการคัดเลือก องค์ประกอบ และวัตถุประสงค์

4. การหารือร่วมกับกับเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรบราซิลประจำยูเนสโก (H.E. Mr. Joao Carlos de Souza-Gomes) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเรื่องกรณีเขาพระวิหาร เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรบราซิลประจำยูเนสโกเห็นด้วยหากราชอาณาจักรไทยจะเสนอให้เลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน จนกว่าการปักปันเขตแดนจะแล้วเสร็จ พร้อมทั้งเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 34 ในวันที่ 25 กรกฎาคม — 3 สิงหาคม 2553 ณ สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ด้วยตนเอง

เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรบราซิลประจำยูเนสโก ได้หารือเกี่ยวกับการย้ายสำนักงานเลขาธิการยูเนสโกด้านสมุทรศาสตร์ (Intergovernmental Oceanographic Commission- IOC) จากสำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก ณ กรุงปารีส ไปยัง กรุงลิสบอน สาธารณรัฐโปรตุเกส โดยเห็นว่าจะไม่เกิดประโยชน์และจะทำให้การดำเนินงานของคณะกรรมการ IOC อ่อนแอลง ในการนี้สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิลได้จัดทำร่างมติคัดค้านการย้ายสำนักงานเลขาธิการยูเนสโกด้านสมุทรศาสตร์ และได้รับการสนับสนุนจากหลายประเทศ รวมทั้งกลุ่ม G77 and China และขอให้ราชอาณาจักรไทยพิจารณาสนับสนุนด้วย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยินดีที่จะสนับสนุน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ