ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 30, 2010 14:06 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้ว ดังนี้

1. ขอให้คงช่องทางการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยการจัดของคณะกรรมการการเลือกตั้งไว้เช่นเดิม

2. กำหนดให้มีตัวแทนของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายเป็นผู้ชี้แจงหลักการเหตุผลแห่งร่างพระราชบัญญัติ

3. ให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสำหรับจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย (ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. .... ได้รับการบรรจุอยู่ในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นเรื่องด่วนเรื่องที่ 5 ในสมัยประชุมสามัญทั่วไปครั้งที่แล้ว) และให้ส่งความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้งให้คณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติทราบต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

ร่างพระราชบัญญัติที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา มีสาระสำคัญดังนี้

1. วิธีการเข้าชื่อ

1.1 กำหนดให้ผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติหรือญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ในวันที่ยื่นคำร้องขอต่อประธานรัฐสภา กรณีการเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติต้องมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อรวมกันไม่น้อยกว่า 10,000 คน และกรณีการเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องมีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เข้าชื่อรวมกันไม่น้อยกว่า 50,000 คน (ร่างมาตรา 5)

1.2 การเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติหรือญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อประธานรัฐสภา ต้องมีผู้ริเริ่มซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 20 คน โดยแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบเป็นหนังสือพร้อมด้วยร่างพระราชบัญญัติและบันทึกประกอบร่างพระราชบัญญัติ หรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมและบันทึกประกอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม และรายชื่อของผู้ริเริ่มพร้อมด้วยเอกสารประกอบเมื่อได้แจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบเกี่ยวกับการเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติหรือญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแล้ว หากผู้ริเริ่มประสงค์ที่จะแก้ไขร่างพระราชบัญญัติหรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว ก็สามารถกระทำได้จนกระทั่งก่อนที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงลายมือชื่อเข้าร่วมเสนอร่างพระราชบัญญัติหรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ ผู้ริเริ่มต้องจัดส่งร่างพระราชบัญญัติหรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมและบันทึกประกอบที่แก้ไขใหม่นั้นแก่ประธานรัฐสภาพร้อมหนังสือแจ้งด้วย (ร่างมาตรา 6)

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ตัดกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ดำเนินการรวบรวมรายชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเนื่องจากมาตรา 163 ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้จำนวนราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้นั้นมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน ทำให้การรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายสามารถทำได้โดยไม่ยุ่งยากประกอบกับโดยที่คณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญซึ่งโดยอำนาจหน้าที่สมควรที่จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลาง และต้องมีความโปร่งใส ไม่ดำเนินการหรือปฏิบัติการใด ๆ ในลักษณะที่จะเข้าไปมีส่วนทางการเมือง จึงตัดกรณีที่ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ดำเนินการรวบรวมรายชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยคงไว้เฉพาะกรณีให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมกันเข้าชื่อเสนอกฎหมายกันเอง

2. การรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

2.1 ผู้ริเริ่มสามารถดำเนินการชักชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติหรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวได้และเอกสารการลงลายมือชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกแผ่นต้องปรากฏข้อความให้ผู้ลงลายมือชื่อได้ทราบว่าเป็นการลงลายมือชื่อเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติใดหรือญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในเรื่องใด สถานที่ในการตรวจสอบร่างพระราชบัญญัติหรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พร้อมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ลงลายมือชื่อ (ร่างมาตรา 7)

ตามร่างมิได้กำหนดให้มีตัวแทนของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายเพื่อเป็นผู้ชี้แจงหลักการและเหตุผลแห่งร่างพระราชบัญญัติ แต่กำหนดให้เอกสารการลงลายมือชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องปรากฏข้อความว่าเป็นการลงลายมือชื่อเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติใดและสถานที่ตรวจสอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว

2.2 ในกรณีที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติได้จำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน หรือกรณีการเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน ให้ผู้ริเริ่มยื่นคำร้องขอ ต่อประธานรัฐสภาพร้อมทั้งเอกสารหลักฐานตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 9)

3. ผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ กำหนดให้ประธานรัฐสภารักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ เนื่องจากการเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติหรือญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของผู้มีสิทธิเลือกตั้งการตรวจสอบการเข้าชื่อเสนอกฎหมายเป็นกระบวนการทางนิติบัญญัติ (ร่างมาตรา 15)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ