คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอดังนี้
1. เห็นชอบหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการสินเชื่อส่งเสริมผู้ประกอบอาชีพให้บริการรถสาธารณะในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
2. เห็นชอบให้ชดเชยส่วนต่างอัตรากำไรให้ ธอท. ตามโครงการระยะ 7 ปี โดยคำนวณจากอัตรากำไร SPRL เฉลี่ย — 2.87 % - 1% คูณกับเงินต้นคงเหลือ เป็นวงเงินรวมประมาณ 515 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) เบิกจ่ายตามที่เกิดขึ้นจริง โดยให้ ธอท. ประสานกับสำนักงบประมาณเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณชดเชยส่วนต่างอัตรากำไรต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2553 เห็นชอบในหลักการให้รัฐบาลสนับสนุนธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ปล่อยสินเชื่อภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ประกอบอาชีพให้บริการรถสาธารณะ โดยชดเชย ส่วนต่างระหว่างต้นทุนเงินกับอัตราผลตอบแทนที่ ธอท. จะได้รับจากการปล่อยสินเชื่อ โดยมอบหมายให้ ธอท. หารือกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาวงเงินชดเชยส่วนต่างระหว่างต้นทุนเงินกับอัตราผลตอบแทนภายใน 1 สัปดาห์ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป นั้น กระทรวงการคลังได้หารือกับ ธอท. แล้ว สรุปผลหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการและการชดเชย ส่วนต่างระหว่างต้นทุนเงินและอัตราผลตอบแทนที่ ธอท. จะได้รับจากการปล่อยสินเชื่อ ดังนี้
1. หลักเกณฑ์การดำเนินโครงการ
1.1 วงเงินสินเชื่อรวมของโครงการ : 5,000 ล้านบาท
1.2 ระยะเวลารับคำขอกู้ยืม : 1 ปี
1.3 ระยะเวลาการให้กู้ยืม : ไม่เกิน 7 ปี
1.4 ผู้มีสิทธิขอสินเชื่อ : ผู้ประกอบอาชีพให้บริการรถสาธารณะในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ยะลา นราธิวาส ปัตตานี สงขลา และสตูล
1.5 อัตรากำไร : ให้คิดอัตรากำไรกับผู้ขอสินเชื่อร้อยละ 1.50 (อัตราคงที่) หรือเท่ากับอัตรากำไร ลดต้นลดดอกที่ร้อยละ 2.87 โดยให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณรายปีเพื่อชดเชยส่วนต่างอัตรากำไรตามรายละเอียดในข้อ 2.
2. การชดเชยส่วนต่างระหว่างต้นทุนเงินกับอัตราผลตอบแทนที่ ธอท. จะได้รับจากการปล่อยสินเชื่อ
เนื่องจากโครงการนี้มีลักษณะในทำนองเดียวกันกับโครงการ SMEs เพื่อผู้ประกอบกิจการท่องเที่ยวของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) โดยเป็นโครงการที่ทั้ง ธอท. และ ธพว. จะต้องระดมทุนเพื่อปล่อยกู้ด้วยเงินของธนาคารเอง ดังนั้น เพื่อให้การชดเชยการดำเนินโครงการรัฐของสถาบันการเงินเฉพาะกิจเป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน จึงเห็นควรกำหนดการชดเชยส่วนต่างของอัตรากำไรในลักษณะเดียวกับการดำเนินโครงการ SMEs เพื่อผู้ประกอบกิจการท่องเที่ยว ซึ่งธนาคารผู้ให้สินเชื่อจะรับภาระส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ดังนี้
2.1 ให้ใช้อัตรากำไรมาตรฐานสำหรับลูกค้าชั้นดีของ ธอท. (Standard Profit Rate Long Term) เป็นอัตรากำไรที่ใช้คำนวณการชดเชยส่วนต่างดอกเบี้ยในการดำเนินงาน ซึ่งอัตรากำไรดังกล่าวจะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นหรือลงได้ตามสภาวะตลาดเงิน โดย ธอท. จะประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราของ SPRL เป็นระยะ
2.2 ให้ชดเชยส่วนต่างระหว่างอัตรากำไร SPRL เฉลี่ยของ ธอท. ในปีที่ขอชดเชยและอัตรากำไรแบบลดต้นลดดอกที่เรียกเก็บจากผู้ขอสินเชื่อร้อยละ 2.87 ต่อปีของเงินต้นคงเหลือ โดยให้ ธอท. รับภาระส่วนต่างร้อยละ 1 ต่อปี ส่วนต่างอัตรากำไรที่เหลือทั้งหมดให้รัฐบาลเป็นผู้รับภาระ
ทั้งนี้ เพื่อประมาณการภาระงบประมาณในเบื้องต้นที่รัฐบาลต้องใช้ในการชดเชยภายใต้โครงการนี้ จึงใช้อัตรา SPRL ณ เดือนมิถุนายน 2553 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 6.75 ในการประมาณการ ซึ่งในกรณีนี้รัฐบาลจะต้องชดเชยในปีแรกประมาณ 133.84 ล้านบาท และเมื่อรวมการชดเชยเป็นระยะเวลา 7 ปีแล้วจะเป็นวงเงินรวมประมาณ 515 ล้านบาท เนื่องจากเป็นการคิดแบบลดต้นลดดอก ทำให้วงเงินที่รัฐบาลต้องชดเชยลดลง โดยให้เบิกจ่ายส่วนต่างตามที่เกิดขึ้นจริง และให้ ธอท. ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณชดเชยส่วนต่างอัตรากำไรต่อไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 มิถุนายน 2553--จบ--