คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการขยายระยะเวลาการดำเนินการมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนต่อไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2553 โดยให้ยึดหลักการดำเนินมาตรการฯ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยให้รัฐมนตรีที่รับ ผิดชอบดำเนินมาตรการฯ ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) องค์การขนส่งมวลชน (ขสมก.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กู้เงินเพื่อชดเชยรายได้จากการดำเนินการตามมาตรการฯ ในช่วงขยายระยะเวลา ดังกล่าว และให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อชำระคืนเงินต้น ดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าใช้จ่ายในการกู้เงินให้กับรัฐวิสาหกิจทั้ง 4 แห่งต่อไป โดยหลักการดำเนินมาตรการฯ มีสาระสำคัญดังนี้
1. มาตรการลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าของครัวเรือน ดำเนินการผ่าน กฟน. และ กฟภ. โดยภาครัฐรับภาระค่าใช้จ่ายการใช้ไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน และสำหรับผู้เช่าอาศัยในอาคารชุดหรือห้องเช่าที่ผู้ประกอบการถูกต้องตามกฎหมาย เป็นอาคารชุดหรือห้องเช่าที่มีระดับราคาเช่าไม่เกิน 3,000 บาท/ห้อง/เดือน และใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยไม่เกิน 90 หน่วย/เดือน/ห้อง และได้ลงทะเบียนไว้กับ กฟน. และ กฟภ.
2. มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางรถโดยสารประจำทาง ดำเนินการผ่าน ขสมก. โดยภาครัฐรับภาระค่าใช้จ่ายการจัดรถโดยสารประจำทางธรรมดาจำนวน 800 คันต่อวัน ใน 73 เส้นทางให้บริการแก่ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
3. มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางโดยรถไฟชั้น 3 ดำเนินการผ่าน รฟท. โดยภาครัฐรับภาระค่าใช้จ่ายการจัดรถไฟชั้น 3 เชิงสังคม จำนวน 164 ขบวนต่อวัน และรถไฟชั้น 3 ระยะทางไกลในขบวนรถเชิงพาณิชย์จำนวน 8 ขบวนต่อวัน ให้บริการแก่ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
4. ระยะเวลาในการดำเนินมาตรการฯ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2553 — 31 ธันวาคม 2553
ข้อเท็จจริง
กระทรวงการคลังรายงานสรุปผลการดำเนินการตามมาตรการลดภาะค่าครองชีพของประชาชน ระยะที่ 1 — 3 (ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552 — 31 มีนาคม 2553) สรุปได้ดังนี้
1. มาตรการลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าของครัวเรือน มีประชาชนได้รับประโยชน์จำนวน 9.158 ล้านครัวเรือน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 16,035.89 ล้านบาท โดยภาครัฐรับภาระค่าใช้จ่ายการใช้ไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน และสำหรับผู้เช่าอาศัยในอาคารชัดหรือห้องเช่าที่ผู้ประกอบการถูกต้องตามกฎหมาย เป็นอาคารชุดหรือ ห้องเช่าที่มีระดับราคาเช่าไม่เกิน 3,000 บาท/ห้อง/เดือน และใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยไม่เกิน 90 หน่วย/เดือน/ห้อง และได้ลงทะเบียนไว้กับ กฟน. และ กฟภ.
2. มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางรถโดยสารประจำทาง มีประชาชนใช้บริการคิดเป็นจำนวน 422.562 ล้านตั๋ว ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 2,875.38 ล้านบาท โดยภาครัฐรับภาระค่าใช้จ่ายการจัดรถโดยสารประจำทางธรรมดาจำนวน 800 คันต่อวัน ใน 73 เส้นทางให้บริการแก่ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
3. มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางโดยรถไฟชั้น 3 มีประชาชนได้รับประโยชน์จำนวน 48.525 ล้านคน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,161.93 ล้านบาท โดยภาครัฐรับภาระค่าใช้จ่ายการจัดรถไฟชั้น 3 เชิงสังคม จำนวน 164 ขบวนต่อวัน และรถไฟชั้น 3 ระยะทางไกลในขบวนรถเชิงพาณิชย์จำนวน 8 ขบวนต่อวัน ให้บริการแก่ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
4. มาตรการลดค่าใช้จ่ายน้ำประปาของครัวเรือน มีประชาชนได้รับประโยชน์จำนวน 3.176 ล้านครัวเรือน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 6,447.38 ล้านบาท โดยภาครัฐรับภาระค่าใช้จ่ายการใช้น้ำสำหรับผู้ใช้น้ำประเภทที่อยู่อาศัยที่มีปริมาณการใช้น้ำระหว่าง 0 — 30 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน และมีประชาชนได้รับประโยชน์จำนวน 2.560 ล้านครัวเรือน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,202.04 ล้านบาท สำหรับผู้ใช้น้ำประเภทที่อยู่อาศัยที่มีปริมาณการใช้น้ำระหว่าง 0 — 20 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน ทั้งนี้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553 เห็นชอบให้ยกเลิกมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายน้ำประปาของครัวเรือน โดยให้สิ้นสุดมาตรการดังกล่าว ณ วันที่ 31 มีนาคม 2553
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 มิถุนายน 2553--จบ--