ผลการประชุมคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ครั้งที่ 5/2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 30, 2010 14:29 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ครั้งที่ 5/2553 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอดังนี้

สาระสำคัญ

คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ได้มีการประชุมครั้งที่ 5/2553 เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2553 เวลา 14.00 — 16.00 น. ณ ห้องประชุมเดช สนิทวงศ์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยได้พิจารณาเรื่อง ความก้าวหน้าการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกร ปี 2552/2553 ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานที่สำคัญ ความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกร ปี 2552/53 และ ผู้ปลูกข้าว รอบที่ 2 สรุปได้ ดังนี้

1.1 โครงการประกันรายได้เกษตรกร ปี 2552/53 รอบที่ 1 ภาพรวม มีเกษตรกรจดทะเบียนทั้งสิ้น 4.47 ล้านราย ทำสัญญา 4.10 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 91.71 ของที่จดทะเบียน มีการใช้สิทธิชดเชยแล้ว 3.93 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 87.93 ของที่จดทะเบียน รวมเป็นเงินชดเชยทั้งสิ้น 36,288.15 ล้านบาท แบ่งเป็น ข้าวเปลือก 28,253.62 ล้านบาท มันสำปะหลัง 2,404.05 ล้านบาท และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 5,630.48 ล้านบาท (ภาคเหนือ 11,495.99 ล้านบาท ภาคกลาง 5,078.81 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19,264.50 ล้านบาท และภาคใต้ 448.85 ล้านบาท)

1.2 โครงการประกันรายได้ ผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 รอบที่ 2 มีเกษตรจดทะเบียนทั้งสิ้น 816,585 ราย ผ่านประชาคมแล้ว 816,270 ราย คิดเป็นร้อยละ 99.96 ของที่ขึ้นทะเบียน และออกใบรับรองแล้ว 808,376 ราย คิดเป็นร้อยละ 98.99 ทำสัญญาแล้ว 734,769 ราย คิดเป็นร้อยละ 89.98 ของที่จดทะเบียน โดยมีผู้ที่ยังไม่ได้ทำสัญญาเหลืออีกประมาณ 81,816 ราย ซึ่ง ธ.ก.ส. ต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 31 พฤษภาคม 2553 และขณะนี้มีการใช้สิทธิชดเชยแล้ว 371,749 ราย คิดเป็นร้อยละ 45.52 ของที่จดทะเบียน รวมเป็นเงินชดเชยทั้งสิ้น 7,649.19 ล้านบาท (ภาคเหนือ 3,594.26 ล้านบาท) ภาคกลาง 2,939.25 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,115.68 ล้านบาท และภาคใต้ยังไม่มีการจ่ายชดเชย) ทั้งนี้ ภาคใต้ได้เริ่มดำเนินการใช้สิทธิชดเชยแล้วตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2553 จะสิ้นสุดวันที่ 31 ตุลาคม 2553

2. ผลของโครงการต่อระบบเศรษฐกิจ โครงการประกันรายได้เกษตรกรได้ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเงินชดเชยส่วนต่างที่ได้รับ นอกเหนือจากการขายผลผลิตในระบบตลาดปกติ ซึ่งส่งผลดีกับระบบเศรษฐกิจโดยรวม คือ ทำให้เกิดการบริโภคมากขึ้น โดยพิจารณาการใช้จ่ายของเกษตรกรจากยอดขายสินค้า ในช่วงก่อนและหลังโครงการประกันรายได้เกษตรกร พบว่า ปริมาณยอดขายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 ในไตรมาส 4/52 และ ร้อยละ 28.1 ของไตรมาส 1/53 โดยเฉพาะด้านการลงทุนทางการเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าจำพวกเมล็ดข้าวและเมล็ดพืช วัตถุดิบเกษตร รถจักรยานยนต์ วิทยุและโทรทัศน์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและวัสดุก่อสร้าง ซึ่งยอดขายสินค้าด้านการ ลงทุนทางการเกษตรในช่วงหลังโครงการฯ เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

3. กลไกถาวรในการดำเนินการ

3.1 คณะกรรมการประสานการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกร ที่ตั้งตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2552 เห็นว่าการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรมีประโยชน์กับเกษตรกรอย่างมากจึงเห็นว่าควรมีกลไกถาวรขึ้นมาเร่งรัด ติดตาม และประสานการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกร ดังนั้น ประธานกรรมการประสานฯ จึงได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2553 และวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553 ตามลำดับ โดยมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์หารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง และ ธ.ก.ส. เพื่อพิจารณากำหนดรูปแบบและกลไกการดำเนินงานประกันรายได้เกษตรกรในลักษณะถาวรเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และเป็นระบบ

3.2 กระทรวงพาณิชย์ได้จัดตั้งคณะกรรมการพิจารณากำหนดรูปแบบและกลไกการดำเนินงานประกันรายได้เกษตรกรขึ้น เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2553 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นรองประธาน กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธ.ก.ส. ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นกรรมการ และมีนายประพล มิลินทจินดา เป็นกรรมการและเลขานุการ

4. ความเห็นและประเด็นอภิปราย

4.1 การประเมินผลโครงการประกันรายได้เกษตรกรฯ ควรเน้นการประเมินความสำเร็จของการเพิ่มรายได้และลดภาระหนี้สินของเกษตรกร ซึ่งสามารถพิจารณาได้จากผลการชำระหนี้ของเกษตรกรให้กับ ธ.ก.ส. นอกจากนั้น เพื่อให้การวิเคราะห์ได้ประเด็นที่ชัดเจน ควรแยกพิจารณารายละเอียดตามรายภาคด้วย

4.2 เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่ค่าใช้จ่ายของโครงการประกันรายได้เกษตรกร โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการชดเชยจะสูงกว่าที่ได้มีการประมาณการไว้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมการในเรื่องแหล่งเงิน รวมทั้งควรมีการจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อวิเคราะห์และกำหนดรูปแบบโครงการและการบริหารจัดการโครงการ ตลอดจนกลไกถาวรที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือเกษตรกรและประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานโครงการของรัฐบาล

4.3 ราคาประกัน เกณฑ์กลางอ้างอิง และปริมาณประกันในโครงการประกันรายได้เกษตรกรปี 2552/53 ทั้งในรอบที่ 1 และรอบที่ 2 ถูกกำหนดโดยคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ซึ่งที่ผ่านมามีการพิจารณาเพื่อปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์คำนวณเกณฑ์กลางอ้างอิงและปริมาณประกันบ่อยครั้ง ส่งผลกระทบต่อเกษตรผู้ได้รับประโยชน์บางส่วนและการดำเนินงานของโครงการฯ ดังนั้น การกำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ในโครงการควรตั้งอยู่บนแหล่งที่มาที่ชัดเจน และเป็นที่ยอมรับ ตลอดจน สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยเฉพาะการทำให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตและไม่มีหนี้สิน อาทิ การกำหนดราคาประกัน ควรพิจารณาจากต้นทุนและผลตอบแทนจากการทำการเกษตรที่ควรได้ และเพียงพอต่อการดำรงชีพ ในส่วนการกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงควรเป็นระดับที่เหมาะสมและสะท้อนราคาตลาด โดยควรนำราคาตลาดล่วงหน้า หรือจากระบบตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (Agricultural Futures Exchange of Thailand : AFET) มาพิจารณาร่วมด้วย

5. สรุปมติคณะกรรมการฯ

มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการรับข้อสังเกตของคณะกรรมการฯ เรื่อง การเปรียบเทียบผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรและโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร และการจัดทำรายงานประเมินผลโครงการประกันรายได้เกษตรกร ที่ให้ความสำคัญกับการประเมินความสำเร็จในการเพิ่มรายได้และลดภาระหนี้สินของเกษตรกรเพื่อประกอบการดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ ควรพิจารณาแนวทางการจัดหาแหล่งเงินที่เหมาะสมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการในระยะต่อไปด้วย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ