เรื่อง การกำหนดให้ปี พ.ศ. 2554 — 2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน (Decade of Action for Road Safety)
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) ประธานกรรมการและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบกำหนดให้ “ปี 2554 — 2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน (Decade of Action for Road Safety)” เพื่อบูรณาการการดำเนินงานจากทุกภาคส่วน
2. ให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจัดทำแผนปฏิบัติการ “ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2554-2563” โดยมีเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนต่ำกว่า 10 คน ต่อประชากรหนึ่งแสนคนในปี 2563 เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีทิศทางการดำเนินงาน และการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรมชัดเจน
สาระสำคัญของเรื่อง
1. นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 327/2551 ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2551 จัดตั้งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน และแต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) เป็นประธานกรรมการและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และมาตรการเพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทย จัดทำข้อเสนอเพื่อให้รัฐบาลให้ความเห็นชอบและกำหนดนโยบายสนับสนุนการดำเนินงานโดยมุ่งประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก
2. สมัชชาสหประชาชาติได้มอบหมายให้สหพันธรัฐรัสเซียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้บริหารระดับสูงเรื่องความปลอดภัยทางถนน (First Global Ministerial Conference on Road Safety : Time for Action) ณ กรุงมอสโก ประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย เมื่อวันที่ 19 — 20 พฤศจิกายน 2552 โดยเชิญผู้แทนระดับรัฐมนตรี/ระดับสูงของประเทศต่างๆ ผู้แทนคณะกรรมาธิการภูมิภาคของสหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก และองค์กรภายใต้การกำกับขององค์การสหประชาชาติ เข้าร่วมประชุม และรองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) ประธานกรรมการและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้มอบหมายผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว โดยในการประชุมดังกล่าวได้รับทราบสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนของโลกจากรายงานขององค์การอนามัยโลก ทิศทางการดำเนินงานขององค์กรระหว่างประเทศภายใต้การกำกับขององค์การสหประชาชาติ และได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ปฏิญญามอสโก โดยได้เสนอให้เลขาธิการองค์การสหประชาชาติเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
2.1 ประกาศให้ ปี 2554 — 2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน (Decade of Action for Road Safety)
2.2 กำหนดเป้าหมายในระดับที่ท้าทาย เพื่อดำเนินการให้เหมาะสมในแต่ละประเทศ
2.3 ให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการ แผนงานและงบประมาณโดยมีกรอบในการดำเนินงานที่สำคัญ 5 ประการ คือ
2.3.1 การพัฒนาความสามารถในการบริหารจัดการ (Building management capacity)
2.3.2 การดำเนินการในการออกแบบถนนและการจัดการโครงข่ายถนนที่รองรับผู้ใช้ถนนทุกกลุ่ม (Influence road design and network management)
2.3.3 การดำเนินการเพื่อให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยของรถ (Influence vehicle safety design)
2.3.4 การดำเนินการเพื่อให้มีผลต่อพฤติกรรมของผู้ใช้ถนนทุกกลุ่ม (Influence road user ehavior)
2.3.5 การปรับปรุงการดูแลรักษาผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ (Improve post crash care)
3. สมัชชาสหประชาชาติในการประชุมครั้งที่ 64 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2553 ได้รับรองคำประกาศเจตนารมณ์ปฏิญญามอสโก และการประกาศให้ ปี พ.ศ. 2554 — 2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน และเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกมีการดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการพร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายการลดการเสียชีวิตในระดับที่ท้าทายให้เหมาะสมกับปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในแต่ละประเทศเมื่อสิ้นสุดทศวรรษ
4. คณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนในการประชุมครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2553 พิจารณาแล้วเห็นว่าประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ควรมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนวาระความปลอดภัยทางถนนของโลก จึงได้ดำเนินการพิจารณากำหนดแนวทางการดำเนินงานความปลอดภัยทางถนนตามกรอบปฏิญญามอสโก ดังนี้
4.1 สถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยนับว่ามีความรุนแรงสูงเมื่อเทียบกับประเทศที่มีรายได้ประชาชาติสูง จากรายงานสถิติคดีอุบัติเหตุจราจรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2542 — 2552 เฉลี่ยปีละ 19.92 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน ในขณะที่องค์กรอนามัยโลกระบุว่า ประเทศที่มีรายได้ประชาชาติสูงมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉลี่ยปีละ 10 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน ซึ่งหากพิจารณาเป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจตามรายงานการศึกษาของกรมทางหลวงเมื่อปี 2550 พบว่ามีมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากปัญหาอุบัติเหตุจราจรทางบกรวมทั้งสิ้นปีละ 232,855 ล้านบาท (มูลค่า ณ ปี พ.ศ. 2550) หรือประมาณร้อยละ 2.81 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งประเทศ
4.2 แนวทางการดำเนินงานตามกรอบปฏิญญามอสโก
เพื่อให้การดำเนินการในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยมีเป้าหมายเชิงนโยบายที่ชัดเจนสอดคล้องกับเป้าหมายตามมาตรฐานสากล จึงควรดำเนินการ ดังนี้
4.2.1 กำหนดให้การดำเนินการในช่วงทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ระหว่างปี พ.ศ. 2554 — 2563 ให้มีเป้าหมายตามมาตรฐานสากลคือ อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของคนไทยลดลงครึ่งหนึ่ง หรือในอัตราที่ต่ำกว่า 10 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน
4.2.2 กำหนดแนวทางการดำเนินงานใน “ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน” เพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนปฏิบัติการ ปี 2554 — 2563 จำนวน 8 ประการ ดังนี้
1) ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย โดยมีเป้าหมายให้ผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ทุกคนต้องสวมหมวกนิรภัย
2) ลดพฤติกรรมเสี่ยงจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับขี่ยานพาหนะ โดยมีเป้าหมายให้พฤติกรรมเมาแล้วขับของผู้ขับขี่ยานพาหนะลดลง
3) แก้ไขปัญหาจุดเสี่ยง จุดอันตราย โดยมีเป้าหมายให้จุดเสี่ยงทุกจุดได้รับการ แก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด
4) ปรับพฤติกรรมของผู้ขับขี่ยานพาหนะให้ใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะความเร็วของรถจักรยานยนต์ รถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุก
5) ยกระดับมาตรฐานยานพาหนะให้ปลอดภัยโดยเฉพาะมาตรฐานของรถจักรยานยนต์ รถกระบะ รถโดยสารสาธารณะ และรถบรรทุก
6) พัฒนาสมรรถนะของผู้ใช้รถใช้ถนน (Road users) ให้มีความปลอดภัย
7) พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน การรักษาและฟื้นฟูผู้บาดเจ็บ เพื่อให้การบริการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน การรักษาและฟื้นฟูผู้บาดเจ็บได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว
8) พัฒนาระบบบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนนของประเทศให้มีความแข็งแรง เพื่อให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ มีความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 มิถุนายน 2553--จบ--