คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารและวิธีการต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
ข้อเท็จจริง
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอว่า โดยที่ประเทศไทยได้ลงนามอย่างเป็นทางการในคำประกาศแห่งองค์การต่อต้านการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาระดับโลก (World Anti — Doping Agency : WADA) เพื่อดำเนินการต่อต้านการใช้สารและวิธีการต้องห้ามทางการกีฬาไว้แล้ว ประกอบกับปัจจุบันองค์กรกีฬาระหว่างประเทศได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการใช้สารต้องห้ามในนักกีฬามากขึ้น และหากประเทศใดไม่ดำเนินการตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬาตามที่องค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามระดับโลก (WADA) กำหนดไว้ ประเทศนั้น ๆ อาจถูกตัดสิทธิมิให้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาในระดับนานาชาติ ตลอดจนระเบียบของการกีฬาแห่งประเทศไทยที่มีอยู่ไม่สามารถใช้บังคับกับการควบคุมการใช้สารต้องห้ามในนักกีฬาได้อย่างทั่วถึง คงใช้บังคับได้เฉพาะการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ กีฬาเยาวชนแห่งชาติ และกีฬาอื่น ๆ ที่การกีฬาแห่งประเทศไทยอนุญาต หรือเป็นผู้จัด ดังนั้น เพื่อให้ในการแข่งขันกีฬาเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม เสมอภาค และ เป็นธรรม และเป็นไปตามพันธกรณีในคำประกาศแห่งองค์การต่อต้านสารต้องห้ามทางการกีฬาระดับโลก
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้มีคณะกรรมการควบคุมการใช้สารและวิธีการต้องห้ามทางการกีฬา โดยมีจำนวนไม่เกินสิบเก้าคน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธาน ประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 10 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 3 คนแต่ไม่เกิน 5 คน (ร่างมาตรา 6)
2. กำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่พิจารณาเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับการออกกฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศเกี่ยวกับการกำหนดมาตรฐานการควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาให้เป็นไปตามประกาศขององค์การต่อต้านสารต้องห้ามทางการกีฬาระดับสากล รวมถึงออกระเบียบกำหนดมาตรฐาน และวิธีการตรวจสอบการ ใช้สารต้องห้ามและวิธีการต้องห้ามในนักกีฬา ตลอดจนการกำหนดโทษและการอุทธรณ์การลงโทษ (ร่างมาตรา 11)
3. กำหนดให้จัดตั้งสำนักงานควบคุมการใช้สารและวิธีการต้องห้ามทางการกีฬา ในการกีฬาแห่งประเทศไทย โดยให้ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทยแต่งตั้งพนักงานซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับ 9 เป็นผู้อำนวยการ เพื่อทำหน้าที่ให้บริการทางวิชาการ ส่งเสริม สนับสนุนด้านวิชาการ การประกันคุณภาพ การวิจัยและพัฒนาเพื่อพัฒนาและป้องกันการควบคุมการใช้สารและวิธีการต้องห้ามทางการกีฬา ส่งเสริม และสนับสนุนความร่วมมือในการป้องกันการใช้สารและ วิธีการต้องห้ามทางการกีฬาทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ (ร่างมาตรา 15 ถึงร่างมาตรา 17)
4. กำหนดให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการวินิจฉัยการใช้สารและวิธีการต้องห้ามทางการกีฬา โดยให้มีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยผลการตรวจสอบการใช้สารและวิธีการต้องห้ามทางการกีฬา และมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาโทษ โดยให้มีอำนาจลงโทษนักกีฬาหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (ร่างมาตรา 23 และร่างมาตรา 25)
5. กำหนดให้ประธานกรรมการ กรรมการ คณะอนุกรรมการพิจารณาโทษ และคณะอนุกรรมการวินิจฉัยฯ ผู้อำนวยการ พนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา (ร่างมาตรา 32)
6. กำหนดบทลงโทษทางปกครอง และโทษทางอาญาของบุคคลผู้ใช้สารเคมี หรือวิธีการต้องห้ามทางการกีฬา (ร่างมาตรา 33 ถึงร่างมาตรา 36)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 กรกฎาคม 2553--จบ--