ผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 7/2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 7, 2010 13:49 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบมติคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 7/2553 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2553 ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจเสนอ

สาระสำคัญ

คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (รศก.) ได้มีการประชุม ครั้งที่ 7/2553 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2553 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. รายงานสถานการณ์การส่งออกของประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานสถานการณ์การส่งออกของประเทศในระยะ 5 เดือนแรกของปี 2553 โดยมีสาระสำคัญ ความเห็นและประเด็นอภิปราย และมติคณะกรรมการ รศก. ดังนี้

1.1 สรุปสาระสำคัญ

1.1.1 การส่งออกในระยะ 5 เดือนแรกของปี 2553 มีมูลค่า 75,027.8 ล้านเหรียญ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.5 โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปลายปี 2552 เป็นต้นมา ในรูปเงินบาท มีมูลค่า 2,441,197.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.3

1.1.2 ปัจจัยที่ส่งผลทำให้การส่งออกขยายตัว ได้แก่ (1) ความต้องการในตลาดโลกที่ฟื้นตัวมากขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าของตลาดส่งออกสำคัญ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และประเทศในแถบเอเชีย คือ จีน อินเดีย เอเชียตะวันออกและอาเซียน (2) สต็อกของผู้นำเข้าในต่างประเทศที่ลดลง ทำให้ผู้ซื้อในต่างประเทศเริ่มกลับมาซื้อมากขึ้น ทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม และ (3) ผลสำเร็จจากข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ ทำให้การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราสูง โดยเฉพาะจีน อินเดีย และอาเซียน รวมทั้งความสำเร็จจากการดำเนินมาตรการเร่งรัดผลักดันการส่งออกร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนที่ดำเนินการมาโดยตลอดและต่อเนื่อง

1.1.3 สินค้าส่งออกสำคัญในระยะ 5 เดือนแรกของปี 2553 ส่งออกเพิ่มขึ้นในอัตราสูง ทุกหมวดสินค้า ดังนี้

1) สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรสำคัญส่งออกเพิ่มขึ้นทุกรายการเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า โดยเฉพาะยางพารา มันสำปะหลัง น้ำตาล และอาหาร ทั้งในรูปสด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป เช่น กุ้งแช่แข็งและแปรรูป ผักและผลไม้ ไก่แช่แข็งและแปรรูป และอาหารอื่น ๆ ยกเว้นข้าวที่มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 แต่ปริมาณส่งออกลดลงร้อยละ 3.7 เนื่องจากปัญหาการแข่งขันด้านราคากับเวียดนาม ปากีสถานและอินเดียและ การแข็งค่าของเงินบาท

2) สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ส่งออกเพิ่มขึ้นเกือบทุกรายการ โดย (1) สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 20 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งพิมพ์ เครื่องสำอาง เลนส์ และ เฟอร์นิเจอร์ รวมทั้งอัญมณีที่หักทองคำออกแล้วส่งออกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 21.3 (การส่งออกทองคำ ลดลงร้อยละ 15.4) (2) สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นน้อยกว่าร้อยละ 20 ได้แก่ สิ่งทอ วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้เครื่องประดับตกแต่ง อาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์เภสัช/เครื่องมือแพทย์ นาฬิกา เครื่องกีฬา และของเล่น และ (3) สินค้าที่ส่งออกลดลง ได้แก่ เครื่องเดินทาง และเครื่องหนัง ลดลงร้อยละ 1.8 เป็นการลดลงของการส่งออกรองเท้าที่ลดลงร้อยละ 15.9 เนื่องจากการย้ายฐานการผลิตรองเท้ากีฬาไปเวียดนาม และอัญมณี ลดลงร้อยละ 3.8

1.1.4 ตลาดส่งออกสำคัญ ส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอัตราสูงทั้งตลาดหลักและตลาดใหม่ โดยตลาดหลักส่งออกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 34.7 เป็นการเพิ่มขึ้นในทุกตลาด โดยเฉพาะอาเซียน(5) เพิ่มขึ้นร้อยละ 61.2 รองลงมา ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (15) เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.2, 21.7 และ 20.0 ตามลำดับ ส่วนตลาดใหม่ส่งออกเพิ่มขึ้นในทุกตลาด ยกเว้นแอฟริกาที่ส่งออกลดลงร้อยละ 5.4 เป็นการลดลงของการส่งออกไปมาดาดัสการ์ที่ลดลงถึงร้อยละ 96.2 สินค้าที่ส่งออกลดลง ได้แก่ เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ซึ่งลดลงถึงร้อยละ 99.6

1.2 มติคณะกรรมการ รศก.

รับทราบและมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์รับความเห็นของคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

2. รายงานสถานการณ์น้ำเพื่อการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานสถานการณ์น้ำและการดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยมีสาระสำคัญ ความเห็นและประเด็นอภิปราย และมติคณะกรรมการ รศก. ดังนี้

2.1 สรุปสาระสำคัญ

2.1.1 สถานการณ์น้ำและแนวทางการจัดสรรน้ำ

1) ปริมาณน้ำฝนสะสมของประเทศไทยในช่วง 1 มกราคม - 26 มิถุนายน 2553 มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 496.3 มิลลิเมตร โดยในปี 2552 และ 2553 มีปริมาณน้ำฝนสะสม 608.4 และ 411.6 มิลลิเมตร ตามลำดับ หรือมีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ยกเว้นเฉพาะบริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกที่ยังมีปริมาณน้ำฝนตกปกติ

2) สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และกลางทั้งประเทศ (วันที่ 27 มิถุนายน 2553) มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งหมด 33,661 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งหมด โดยมีปริมาณน้ำที่สามารถใช้การได้ 9,816 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 14 ของความจุอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งหมด และเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางในช่วงเดียวกันของปี 2552 มีปริมาณน้ำในอ่างทั้งหมด 41,633 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ น้อยกว่า 7,972 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยแบ่งตามขนาดของอ่างเก็บน้ำได้ดังนี้

2.1) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 33 แห่ง มีปริมาณน้ำทั้งหมด 32,067 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของปริมาณน้ำในอ่างขนาดใหญ่ และมีปริมาณน้ำใช้การได้ 8,540 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 12 ของปริมาณน้ำในอ่างขนาดใหญ่ทั้งหมด

2.2) อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 367 แห่ง มีปริมาณน้ำทั้งหมด 1,594 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของปริมาณน้ำในอ่างขนาดกลาง และมีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,276 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 32 ของปริมาณน้ำในอ่างขนาดใหญ่ทั้งหมด

3) แนวทางการจัดสรรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในช่วงฤดูแล้งปี 2553-2554 ประกอบด้วย (1) น้ำใช้เพื่ออุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศน์ใช้ประมาณ 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมาจากเขื่อนแควน้อย เขื่อนป่าสัก และผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลอง (2) น้ำใช้สำหรับการเกษตรใช้จากเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ คาดการณ์ ณ 1 พฤศจิกายน 2553 มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 6,700 — 7,550 ล้านลูกบาศก์เมตร (3) การเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูฝน 1 ฤดู 4,300 ล้านลูกบาศก์เมตร และ (4) การจัดสรรน้ำสำหรับการเกษตร 2,400 — 3,250 ล้านลูกบาศก์เมตร

2.1.2 การดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากสถานการณ์ด้านภัยแล้งมีแนวโน้มที่จะต่อเนื่อง จึงได้ดำเนินการ ดังนี้

1) แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเลื่อนการทำนาปีในเขตพื้นที่ชลประทานทุกโครงการที่รับน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์จากปกติเดือนพฤษภาคมเป็นประมาณกลางเดือนกรกฎาคม 2553

2) ปฏิบัติการฝนหลวง โดยในช่วงวันที่ 25 มกราคม — 24 มิถุนายน 2553 ได้มีการปฏิบัติการฝนหลวงรวม 118 วัน จำนวน 3,052 เที่ยวบิน มีรายงานฝนตกในปฏิบัติการ รวม 107 วัน จำนวน 660 สถานีวัดปริมาณน้ำฝนรายวันสูงสุดได้ 250 มิลลิเมตร มีรายงานฝนตก 63 จังหวัด จากเป้าหมายทั้งหมด 70 จังหวัด

3) แก้ไขปัญหาความเค็มของน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปาของการประปานครหลวง ในช่วงน้ำทะเลหนุนสูง กรมชลประทานจะเพิ่มการระบายน้ำ รวมทั้งเพิ่มการรับน้ำเข้าคลองเพื่อช่วยผลักดันน้ำเค็ม และเจือจางน้ำเค็มให้สามารถใช้น้ำผลิตน้ำประปาได้

4) การประเมินความเสียหายเบื้องต้นในช่วงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 — ปัจจุบัน มีผลิตผลทางการเกษตรที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ข้าวนาปรัง สับปะรด ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล สำหรับผลิตผลทางการเกษตรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบแต่ไม่รุนแรง ได้แก่ ข้าวนาปี มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ปศุสัตว์ และประมง ทั้งนี้ สรุปมูลค่าความสูญเสียเชิงเศรษฐกิจของผลิตผลทางการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งประมาณ 13,986 ล้านบาท ประกอบด้วย ข้าวนาปรัง 7,330 ล้านบาท ปาล์มน้ำมัน 2,074 ล้านบาท สับปะรด 148 ล้านบาท และผลไม้ 4,433 ล้านบาท

สำหรับอัตราการขยายตัวของภาคเกษตรในปี 2553 คาดว่าภาคเกษตรจะขยายตัวลดลงจากร้อยละ 3.1 เป็น 2.7 เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้ง การระบาดของศัตรูพืช และปริมาณน้ำในเขื่อนหลักที่ลดน้อยกว่าปกติส่งผลให้รายได้เฉลี่ยของเกษตรกรลดลงจาก 130,000 เป็น 127,550 บาท/ครัวเรือน/ปี หรือลดลง 2,450 บาท/ครัวเรือน/ปี ซึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมาก คือ ผู้ปลูกข้าวนาปรัง และผลไม้

2.2 มติคณะกรรมการ รศก.

2.2.1 รับทราบรายงานสถานการณ์น้ำเพื่อการเกษตร

2.2.2 มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เร่งดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการประกันรายได้เกษตรกรระดับชาติ เพื่อให้กำกับดูแลการดำเนินงานโครงการประกันรายได้ในภาพรวมให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ โดยมีผู้แทนกระทรวงแรงงานร่วมในคณะกรรมการฯ ดังกล่าวด้วย

2.2.3 มอบหมายฝ่ายเลขานุการฯ แจ้งให้กระทรวงมหาดไทยเร่งพิจารณากำหนดแนวทางการดำเนินงานจัดหาแหล่งเก็บกักน้ำอุปโภคและบริโภคไว้ใช้ในฤดูแล้งให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการต่อไป

3. รายงานผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองต่ออุตสาหกรรมไมซ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) ได้เสนอเรื่อง รายงานผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองต่ออุตสาหกรรมไมซ์ ให้คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจพิจารณาตามข้อสั่งการของประธานกรรมการช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง (เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ) โดยมีสาระสำคัญ ความเห็นและประเด็นอภิปราย และมติคณะกรรมการ รศก. ดังนี้

3.1 สรุปสาระสำคัญ

3.1.1 เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในช่วงเดือนเมษายน — มิถุนายน 2553 ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไมซ์คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 1,027 ล้านบาท โดยจำแนกเป็น (1) งานที่ภาครัฐโดย สสปน. ให้การสนับสนุน มีมูลค่าความเสียหาย 730 ล้านบาท (2) งานที่ดำเนินการโดยสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) จำนวน 202 ล้านบาท และ (3) งานที่ดำเนินการโดยสมาคมการแสดงสินค้าไทย 95 ล้านบาท ทั้งนี้ สสปน. คาดการณ์ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวในกลุ่มอุตสาหกรรมไมซ์เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในปี 2553 เหลือเพียง 5.5 แสนคน (ลดลงร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา) คิดเป็นรายได้ทั้งสิ้น 3.1 หมื่นล้านบาท (ลดลงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา)

3.1.2 สสปน. ได้เสนอแผนฟื้นฟูและเยียวยาอุตสาหกรรมไมซ์ เพื่อคงจำนวนและรายได้ของอุตสาหกรรมไมซ์ ไม่ให้ต่ำกว่าปี 2552 เพื่อให้คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจพิจารณา ดังนี้

1) อนุมัติงบประมาณวงเงิน 200 ล้านบาท จากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบประมาณ 2553 เพื่อดำเนินโครงการตามแผนฟื้นฟูและเยียวยาอุตสาหกรรมไมซ์ ซึ่งประกอบด้วย 2 มาตรการ ดังนี้

1.1) มาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไมซ์โดยตรง วงเงิน 110 ล้านบาท เพื่อให้เงินสนับสนุนชดเชยสำหรับคณะผู้เดินทางเข้ามาประชุมและท่องเที่ยว การออกโรดโชว์ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐทางด้านเศรษฐกิจ และ/หรือคณะนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย 11 โครงการย่อย เช่น โครงการชดเชยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเนื่องจากวิกฤตการณ์ (5 ล้านบาท) โครงการประกันความเสียหายในการจัดงานกรณีต้องยกเลิกหรือเลื่อนการจัดงานด้วยเหตุสุดวิสัย (30 ล้านบาท) โครงการ Extra Night, Extra Smile PLUS (20.50 ล้านบาท) โครงการสนับสนุน Hosted Key Buyers (30ล้านบาท) และโครงการจัดกิจกรรม FAM Trip (10 ล้านบาท) เป็นต้น

1.2) มาตรการฟื้นฟูอุตสาหกรรมไมซ์ในภาพรวม วงเงิน 90 ล้านบาท เพื่อประชาสัมพันธ์และสื่อสารภาพลักษณ์ของประเทศ เผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อการตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางในการจัดประชุมและจัดนิทรรศการ รวมทั้งการสนับสนุนในการเชิญผู้จัดงานประชุมนานาชาติให้เดินทางมาจัดงานในประเทศไทย ประกอบด้วย 6 โครงการย่อย เช่น โครงการ Thailand a New Reflection (20 ล้านบาท) โครงการส่งเสริมการตลาด Bigger Smile (23.50 ล้านบาท) โครงการสนับสนุนงานและการดึงงานประชุมระดับกลุ่มผู้นำความคิดและนักธุรกิจระดับสูง (27 ล้านบาท) และโครงการสร้างความเชื่อมั่นให้กับอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทย ผ่านการสัมผัสประสบการณ์ไมซ์ในประเทศไทยผ่านสื่อมวลชนต่างประเทศ (6 ล้านบาท) เป็นต้น

2) เห็นชอบในหลักการให้หน่วยงานภาครัฐทุกกระทรวง ทบวง กรม และรัฐวิสาหกิจให้ความร่วมมือในการดำเนินการพิจารณาความเป็นไปได้ในการเสนอตัวให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ หรือสนับสนุนให้มีการจัดประชุมนานาชาติในประเทศไทย โดยหน่วยงานภาครัฐพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว และหารือกับสำนักงบประมาณ เพื่อการเสนอขอตั้งงบประมาณเพิ่มเติมตามความจำเป็นและเหมาะสมสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2554

3) มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์ เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการจัดทำเว็บไซต์กลาง ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศที่สำคัญ เพื่อการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทยอย่างทันต่อเหตุการณ์ โดยให้สำนักงบประมาณพิจารณาให้การสนับสนุนงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสม

3.2 มติคณะกรรมการ รศก.

3.2.1 รับทราบรายงานผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองต่ออุตสาหกรรมไมซ์ และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อสังเกตของรัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศไปพิจารณาดำเนินการให้มีความสอดคล้องกัน และไม่เกิดความซ้ำซ้อน

3.2.2 เห็นชอบในหลักการให้สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ดำเนินโครงการตามแผนฟื้นฟูและเยียวยาอุตสาหกรรมไมซ์ ภายในวงเงินไม่เกิน 40 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยให้สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ เบิกจ่ายงบประมาณให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2553 และให้สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการขอตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณต่อไป

3.2.3 เห็นชอบในหลักการให้หน่วยงานภาครัฐทุกกระทรวง ทบวง กรม และรัฐวิสาหกิจให้ความร่วมมือในการพิจารณาความเป็นไปได้ในการเสนอตัวให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ หรือพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนให้มีการจัดประชุมนานาชาติในประเทศไทยตามความจำเป็นและเหมาะสม

4. การพิจารณาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการก่อสร้าง

สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เสนอเรื่อง การพิจารณาแก้ไขปัญหาความ เดือดร้อนของผู้ประกอบการก่อสร้าง ให้คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจพิจารณาช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ ผู้ประกอบการก่อสร้างในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลรวม 8 จังหวัดที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติความมั่นคง

ในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 โดยมีข้อเสนอเพื่อพิจารณา มติคณะรัฐมนตรีและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ความเห็นและประเด็นอภิปราย และมติคณะกรรมการ รศก. ดังนี้

4.1 ข้อเสนอเพื่อพิจารณา

สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ขอขยายเวลาของสัญญาโครงการก่อสร้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่ผู้ประกอบการยังดำเนินการก่อสร้างอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งเขตพื้นที่หรือจังหวัด ที่ประสบปัญหาจากการชุมนุมออกไปทุกโครงการ นับตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าเหตุการณ์การชุมนุมจะยุติ โดยขอเป็นมติคณะรัฐมนตรีเพื่อส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ ถือไปปฏิบัติ

4.2 มติคณะรัฐมนตรีและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการขอขยายระยะเวลาสัญญางานก่อสร้าง ที่ผ่านมารัฐบาลได้พิจารณาให้ความเห็นชอบการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา อุทกภัย และวิกฤตภาวะราคาน้ำมัน ราคาเหล็กและวัสดุก่อสร้างปรับราคาสูงขึ้น ทั้งนี้ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมได้กำหนดให้การงดหรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญา หรือการขยายเวลาทำการตามสัญญาหรือข้อตกลง ให้อยู่ในอำนาจของหัวหน้าส่วนราชการที่จะพิจารณาได้ตามจำนวนวันที่มีเหตุเกิดขึ้นจริงเฉพาะกรณีดังต่อไปนี้ (1) เหตุเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของส่วนราชการ (2) เหตุสุดวิสัย (3) เหตุเกิดจากพฤติการณ์อันหนึ่งอันใดที่คู่สัญญาไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย ให้ส่วนราชการระบุไว้ในสัญญากำหนดให้คู่สัญญาต้องแจ้งเหตุดังกล่าวให้ส่วนราชการทราบภายใน 15 วัน นับแต่เหตุนั้นได้สิ้นสุดลง หากมิได้แจ้งภายในเวลาที่กำหนด คู่สัญญาจะยกมากล่าวอ้าง เพื่อขอลดหรืองดค่าปรับ หรือขอขยายเวลาในภายหลังมิได้เว้นแต่กรณีตาม (1) ซึ่งมีหลักฐานชัดแจ้ง หรือส่วนราชการทราบดีอยู่แล้วตั้งแต่ต้น

4.3 มติคณะกรรมการ รศก.

เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นในครั้งนี้อยู่ในวงจำกัด ซึ่งแตกต่างจากกรณีภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา และวิกฤตภาวะราคาน้ำมัน ที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติให้ความช่วยเหลือไปแล้ว ดังนั้น จึงเห็นควรแจ้งให้สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์และผู้ประกอบการขอรับการผ่อนผันกับหน่วยงานโดยตรง ทั้งนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาให้ความร่วมมือในการพิจารณาขยายระยะเวลาสัญญาโครงการก่อสร้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่ผู้ประกอบการยังดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นกรณีไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 กรกฎาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ