โครงการปลูกยางพาราในที่แห่งใหม่ ระยะที่ 3 พ.ศ. 2553 — 2555 ตามพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง มาตรา 21 ทวิ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 7, 2010 12:51 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการโครงการปลูกยางพาราในที่แห่งใหม่ ระยะที่ 3 พ.ศ. 2553 — 2555 ตามพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง มาตรา 21 ทวิ ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) ประธานกรรมการนโยบายยางธรรมชาติเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

รองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) ประธานกรรมการนโยบายยางธรรมชาติรายงานว่า

1. คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติได้มีมติในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2553 เห็นชอบให้มีการส่งเสริมปลูกยางพาราในพื้นที่ปลูกยางใหม่ ปี พ.ศ. 2553 — 2555 และมอบหมายให้สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ไปจัดทำโครงการเสนอต่อไป

2. ในการประชุมคณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยาง (ก.ส.ย.) ครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2553 มีมติเห็นชอบโครงการส่งเสริมการปลูกยางพาราในพื้นที่แห่งใหม่ ระยะที่ 3 พ.ศ. 2553 — 2555 ตามพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ. 2503 มาตรา 21 ทวิ เป้าหมาย 800,000 ไร่ และได้นำมติของ ก.ส.ย.ดังกล่าวเสนอในการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ครั้งที่ 2/2553 เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2553 ซึ่งที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติ ดังนี้

  • ให้ความเห็นชอบโครงการปลูกยางพาราในที่แห่งใหม่ ระยะที่ 3 พ.ศ. 2553 — 2555 ตามพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ. 2503 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2530 มาตรา 21 ทวิ
  • ปรับเป้าหมายของโครงการเป็นภาคเหนือ 150,000 ไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 500,000 ไร่ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ 150,000 ไร่ ทั้งนี้สามารถปรับเปลี่ยนเป้าหมายของโครงการได้ตามความต้องการของเกษตรกรในแต่ละภาค
  • มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรไปจัดการควบคุมมาตรฐานพันธุ์ยางที่จะใช้ในการส่งเสริมและให้เข้มงวดในเรื่องมาตรฐานปุ๋ยสำหรับสวนยาง
  • ให้ สกย.เป็นเจ้าของเรื่องในการขอรับการสนับสนุนคาร์บอนเครดิต

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

2.1 วัตถุประสงค์ 3.1) เพื่อส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยที่ไม่เคยมีสวนยางมาก่อน ปลูกยางพาราเพิ่มรายได้และมีความเข้มแข็ง 3.2) เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรในพื้นที่แห่งใหม่ที่มีศักยภาพในการปลูกยางพารามีทางเลือกในการประกอบอาชีพที่มั่นคงและมีรายได้เพิ่มขึ้น 3.3) เพื่อส่งเสริมการสร้างงานในท้องถิ่น ลดการเคลื่อนย้ายแรงงานจากชนบทเข้าสู่เมือง 3.4) เพื่อส่งเสริมพื้นที่การปลูกป่า ช่วยฟื้นฟูรักษาสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศน์ที่ดี

2.2 เป้าหมายโครงการ ส่งเสริมการปลูกยางพันธุ์ดีในเขตพื้นที่ที่เหมาะสม จำนวน 800,000 ไร่ แบ่งเป็น ภาคเหนือ จำนวน 150,000 ไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 500,000 ไร่ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ จำนวน 150,000 ไร่

2.3 ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (พ.ศ. 2553 — 2555) และการส่งเสริมต่อเนื่อง 6 ปี (พ.ศ. 2556 — 2561)

2.4 ผลที่คาดว่าจะได้รับ

2.4.1 เกษตรกร : เกษตรกรเข้าร่วมโครงการประมาณ 80,000 — 160,000 ราย (เฉลี่ยระหว่างรายละ 5 -10 ไร่) มีรายได้คิดเป็นมูลค่า 112,000 — 224,000 บาท/ราย/ปี

2.4.2 เศรษฐกิจ : ก่อให้เกิดการสร้างงานในท้องถิ่น โดยมีแรงงานภาคการเกษตรไม่น้อยกว่า 100,000 คน และผลผลิตยางธรรมชาติของประเทศเพิ่มขึ้น นับจากปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป จำนวน 222,400 ตันต่อปี มูลค่าประมาณ 22,240 ล้านบาทต่อปี (ราคายาง F.O.B 100 บาทต่อกิโลกรัม ณ 19 มกราคม 2553)

2.4.3 สังคม : ลดการอพยพเคลื่อนย้ายแรงงานภาคการเกษตร ส่งผลให้ครอบครัวอบอุ่นสังคมสงบและมีความสุขสันติ เป็นแรงเสริมการทำนุบำรุงศาสนาและวัฒนธรรมอันดีของบ้านเมือง

2.4.4 ภาครัฐ : รัฐมีรายได้การเก็บเงินจากผู้ส่งยางออกนอกราชอาณาจักร (Cess) เพิ่มขึ้นประมาณ ปีละ 311 ล้านบาท (อัตรา 1.40 บาทต่อกิโลกรัม) เป็นทุนสงเคราะห์ชาวสวนยางต่อไป

2.4.5 สิ่งแวดล้อม : การปลูกยางทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น สร้างเสริมระบบนิเวศน์ที่ดี เห็นได้จากการปลูกยางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในพื้นที่ที่มีการส่งเสริมให้ปลูกยางพาราช่วยลดภาวะโลกร้อนได้

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 กรกฎาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ