คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีปฏิบัติ ตามมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับ
ผลกระทบจากการชุมนุม กรณีค่าจ้าง ตามที่คณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมเสนอ
ข้อเท็จจริง
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2553 และวันที่ 8 มิถุนายน 2553 เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ชุมนุม โดยมอบหมายให้กระทรวงแรงงานขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 451,740,435.- บาท ดังนี้
(1) วงเงิน 417,300,000.- บาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการย่านราชประสงค์ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมเป็นค่าใช้จ่ายพนักงาน ตามหนังสือของสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2553
(2) วงเงิน 34,400,435.- บาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ และลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม กรณีค่าจ้าง เพิ่มเติม จำนวน 3,567 ราย
ทั้งนี้ โดยให้กระทรวงแรงงานกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีปฏิบัติในการจ่ายเงินดังกล่าวตามมติคณะรัฐมนตรี โดยมีสำนักงานประกันสังคมเป็นหน่วยเบิกจ่าย ซึ่งสำนักงบประมาณได้โอนเงินงบประมาณให้สำนักงานประกันสังคมแล้ว
2. คณะอนุกรรมการประสานและติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณตามมติคณะรัฐมนตรี ภายใต้คณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ในการประชุมครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 ได้มีมติขอให้สำนักงานประกันสังคม ดำเนินการยกร่างหลักเกณฑ์ วิธีปฏิบัติ ตามมาตรการการช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม กรณีค่าจ้าง
3. บัดนี้ สำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว จึงขอเสนอหลักเกณฑ์ วิธีปฏิบัติในการจ่ายเงินดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ (ตามหนังสือสำนักงานประกันสังคม ที่ รง 0637/11644 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2553)
การเบิกจ่ายเงิน
1. สำนักงานประกันสังคมจะเบิกเงินจากกรมบัญชีกลาง เป็นงวดตามจำนวนผู้ประกอบการหรือลูกจ้างที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว
2. สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายเงินเป็นเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาย่อยกระทรวงสาธารณสุข ในนาม “ผู้ประกอบการ” หรือ “ลูกจ้าง”แล้วแต่กรณี ในการนี้ จึงขอความอนุเคราะห์ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ขอยกเว้นค่าธรรมเนียมเช็คตามจำนวนเช็คที่ต้องจ่ายออกไป
กระบวนการและหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน
1. ผู้ประกอบการและลูกจ้างจะต้องยื่นแบบคำขอรับเงินช่วยเหลือฯ ดังนี้
1.1 ผู้ประกอบการในย่านราชประสงค์ ผู้แทนสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ ขอใช้แบบตามที่สมาคมฯ กำหนดขึ้นตามข้อ 2.4 พร้อมเอกสารหลักฐานประกอบ (รวมทั้ง ภงด. 1) ยื่นต่อสำนักงานประกันสังคม
1.2 ผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างในระบบประกันสังคมที่นายจ้างรักษาสภาพการจ้างไว้หรือลูกจ้างนอกระบบประกันสังคม จะต้องยื่นแบบคำขอรับเงินช่วยเหลือฯ พร้อมเอกสารหลักฐานประกอบ (รวมทั้ง ภงด.1) ตามแบบของสำนักงานประกันสังคม ยื่นต่อสำนักงานประกันสังคม
2. สำนักงานประกันสังคมจะตรวจสอบแบบคำขอรับเงิน กรณีวงเงิน 417.3 ล้านบาท จะตรวจสอบกับรายชื่อผู้ประกอบการ ซึ่งสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ รับรองความถูกต้อง ส่วนแบบคำขอรับเงินค่าจ้างกรณีอื่น จะตรวจสอบกับบัญชีรายชื่อผู้ประกอบการที่ยื่นไว้ต่อสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
3. การจ่ายเงินสำนักงานประกันสังคมสามารถนำจ่ายให้ผู้ประกอบการ หรือลูกจ้างได้ทันในวันศุกร์ของสัปดาห์ ทั้งนี้ เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ถัดจากวันที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติ
4. สำนักงานประกันสังคมกำหนดจะจ่ายเงินถึงภายในวันที่ 30 กันยายน 2553 หากผู้ประกอบการหรือลูกจ้างยังไม่ติดต่อขอรับเงิน จะนำส่งเงินส่วนที่เกี่ยวข้องส่งคืนคลังตามระเบียบของทางราชการ
หลักฐานการจ่าย
สำนักงานประกันสังคมขออนุมัติใช้แบบรายงานการจ่ายเงิน (เช็ค)ตามแบบ ขจ. 7501 - 3 เป็นหลักฐานการจ่าย และเก็บรักษาไว้เพื่อรอการตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินต่อไป
4. สมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ ได้มีหนังสือเสนอเอกสารประกอบหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติในการจ่ายเงินให้ความช่วยเหลือค่าจ้างพนักงานแก่ผู้ประกอบการ วงเงินจำนวน 417.3 ล้านบาท ดังนี้
4.1 หนังสือจากสมาคมสรุปข้อมูลขอรับความช่วยเหลือเรื่องค่าจ้างพนักงานของผู้ประกอบการเสนอต่อเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม
4.2 แบบฟอร์ม “หนังสือขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล”
4.3 แบบฟอร์มสรุปรายชื่อพนักงานและเงินเดือนของพนักงานประจำเดือนเมษายน 2553
4.4 สำเนาแบบ ภงด. 1 ของเดือนมีนาคม 2553 และ/หรือเดือนเมษายน 2553
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 กรกฎาคม 2553--จบ--