ข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 1929 (ค.ศ.2010) เกี่ยวกับมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านเพิ่มเติม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 7, 2010 14:20 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้

1. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามข้อมติ UNSC ที่ 1929 (ค.ศ.2010) อย่างเคร่งครัด ตามอำนาจและกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องของตน

2. ให้กระทรวงการต่างประเทศจัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือเกี่ยวกับการดำเนินการตามข้อมติดังกล่าว และจัดทำรายงานเกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรการของข้อมติ UNSC ที่ 1929 (ค.ศ.2010) ของไทยให้แก่ UNSC ภายในวันที่ 8 สิงหาคม 2553 (60 วันภายหลังการรับรองข้อมติดังกล่าว)

สาระสำคัญ/ข้อเท็จจริง

1. ไทยในฐานะรัฐสมาชิกสหประชาชาติมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตามข้อมติ UNSC ซึ่งเป็นไปตามข้อ 25 ของกฎบัตรสหประชาชาติ

2. ข้อมติ UNSC ที่ 1929 (ค.ศ.2010) กำหนดให้รัฐสมาชิกสหประชาชาติดำเนินมาตรการต่าง ๆ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

2.1 การห้ามการลงทุนในธุรกิจและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับนิวเคลียร์ : กำหนดให้รัฐทั้งปวงห้าม การลงทุนโดยอิหร่าน ชาวอิหร่าน และองคภาวะที่จัดตั้งขึ้นในอิหร่านหรือที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจของอิหร่านในธุรกิจเหมืองแร่ยูเรเนียม การผลิตและการใช้วัสดุและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ตามบัญชีรายการในเอกสารของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency : IAEA) ที่ INFCIRC/254Rev.9/Part 1 โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ เกี่ยวกับการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม (enrichment) และการนำแร่ยูเรเนียมกลับมาใช้ใหม่ (reprocessing) ในดินแดนซึ่งอยู่ภายใต้เขตอำนาจของรัฐตน ซึ่งในเรื่องนี้ไทยมีกฎหมายภายในรองรับการดำเนินการดังกล่าวดังนี้ 1) พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ 2) พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ซึ่งรัฐมนตรีว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ 3) พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ

2.2 การควบคุมการนำเข้า-ส่งออกสินค้า : กำหนดให้รัฐทั้งปวงป้องกันการจัดหา ขาย และส่งผ่าน รถถังต่อสู้ ยานรบหุ้มเกราะ ระบบปืนใหญ่ที่มีขนาดลำกล้องขนาดใหญ่ อากาศยานรบ เฮลิคอปเตอร์โจมตี เรือรบ ขีปนาวุธหรือระบบขีปนาวุธ หรือยุทโธปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์นิวเคลียร์ตามบัญชีรายการในเอกสารของ IAEA ที่ INFCIRC/254Rev.9/Part 1 และ INFCIRC/254Rev.7/Part 2 ซึ่งในเรื่องนี้ไทยมีกฎหมายภายในรองรับการดำเนินการ ดังกล่าว ดังนี้ 1) พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ 2) พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 และพระราชกฤษฎีกาควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งอาวุธยุทธภัณฑ์และสิ่งที่ใช้ในการสงคราม พ.ศ. 2535 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ 3) พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ 4) พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2496 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ 5) พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 (มาตรา 18-23) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ

2.3 การห้ามเดินทาง : กำหนดรายชื่อบุคคลและองค์กรที่รัฐสมาชิกต้องป้องกันการเดินทางเข้า-ออกหรือผ่านแดนของรัฐตนเพิ่มเติม ดังความละเอียดปรากฏภาคผนวก 1 และ 2 ของข้อมติ UNSC ที่ 1929 (ค.ศ.2010) และให้ใช้มาตรการการห้ามเดินทางกับบุคคลที่มีรายชื่อตามข้อมติ UNSC ที่ 1737 (ค.ศ.2006) ที่ 1747 (ค.ศ.2007) และที่ 1803 (ค.ศ.2008) ซึ่งเดิมกำหนดให้เฝ้าระวังการเดินทาง และกระทรวงการต่างประเทศได้เสนอรายชื่อดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว ในเรื่องนี้ กระทรวงการต่างประเทศมีระเบียบที่เข้มงวดในการตรวจลงตราแก่ชาวอิหร่านที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย และสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสามารถใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ทั้งนี้ ในปัจจุบันบุคคลสัญชาติอิหร่านไม่ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราในการเดินทางเข้าประเทศไทย

2.4 การตรวจสอบสินค้า : กำหนดให้รัฐทั้งปวงตรวจสอบสินค้าทั้งหมดที่เข้าและออกจากอิหร่านในอาณาเขตรัฐของตน ซึ่งรวมถึงที่ท่าเรือและท่าอากาศยาน และให้ตรวจสอบเรือสินค้าในทะเลหลวงได้ โดยต้องได้รับความยินยอมจากรัฐเจ้าของธง หากมีเหตุผลเชื่อได้ว่า มีการบรรทุกสินค้าต้องห้ามตามข้อมติ UNSC ที่ 1737 (ค.ศ.2006) ที่ 1747 (คศ.2007) ที่ 1803 (ค.ศ.2008) และข้อมติที่ 1929 (ค.ศ.2010) ซึ่งเป็นบัญชีรายการเดียวกันกับข้อ 2.2 รวมทั้งให้ดำเนินการตรวจ ยึด และกำจัดสินค้าต้องห้ามดังกล่าว แล้วรายงานต่อคณะกรรมการคว่ำบาตรอิหร่าน นอกจากนี้ ห้ามให้บริการจัดหาน้ำมัน อุปกรณ์ หรือบริการอื่น ๆ แก่เรือของอิหร่านที่ต้องสงสัยว่าบรรทุกสินค้าต้องห้ามดังกล่าว ซึ่งในเรื่องนี้ ไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ 1) พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ 2) พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2496 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ 3) พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 กฎกระทรวงฉบับที่ 6 ฉบับที่ 20 และข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือนฉบับที่ 62 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ

2.5 มาตรการทางการเงินและธนาคาร : กำหนดให้รัฐทั้งปวงป้องกันการให้บริการด้านการเงินและการประกันภัยแก่อิหร่าน เฝ้าระวังการทำธุรกรรมกับบุคคลและคณะบุคคลสัญชาติอิหร่าน ห้ามมิให้ธนาคารอิหร่านตั้ง สำนักงานใหม่หรือร่วมทุนกับธนาคารในดินแดนของตน และห้ามมิให้สถาบันการเงินของรัฐตนเปิดสำนักงานในอิหร่าน หากมีเหตุให้เชื่อได้ว่ากิจกรรมดังกล่าวจะมีส่วนช่วยในการส่งเสริมกิจกรรมทางอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน นอกจากนี้ ข้อมติดังกล่าวได้กำหนดรายชื่อบุคคลและองคภาวะที่ให้ดำเนินการอายัดทรัพย์เพิ่มเติม ดังความละเอียดปรากฏภาคผนวก 1,2 และ 3 ของข้อมติ UNSC ที่ 1929 (ค.ศ. 2010) ซึ่งในเรื่องนี้ ไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 กรกฎาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ