รายงานการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 15 (CITIES CoP15)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 7, 2010 14:38 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 15 (CITIES CoP15) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

ทส. รายงานว่า ทส. ได้อนุมัติองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยในการเข้าร่วมประชุมภาคีอนุสัญญา CITIES ครั้งที่ 15 (CoP15) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 — 25 มีนาคม 2553 ณ เมืองโดฮา รัฐกาตาร์ โดยมอบหมายให้นายภิมุข สิมะโรจน์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าคณะ และมีคณะผู้แทนประเทศไทย ประกอบด้วย ผู้แทนจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 4 คน กรมวิชาการเกษตร 2 คน และกรมประมง 3 คน โดยการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 15 (CoP15) มีวาระการประชุมทั้งหมด 70 วาระ เป็นการพิจารณาเกี่ยวกับการดำเนินงานตามพันธกรณีแห่งอนุสัญญา CITIES ให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน มีสาระสำคัญที่มีผลกระทบกับประเทศไทยสรุปได้ ดังนี้

1. ที่ประชุมรับทราบถึงบทบาทการเป็นผู้นำของประเทศไทยในการอนุรักษ์เสือโคร่ง โดยการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีเอเชียด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง ครั้งที่ 1 ซึ่งผลจากการประชุมได้บรรลุข้อตกลงและประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการอนุรักษ์เสือโคร่ง (Hua Hin Declaration) และรับทราบถึงมาตรการของประเทศไทยในการควบคุมการค้างาช้างภายในประเทศและการรณรงค์หยุดการลักลอบนำงาช้างและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้างออกนอกประเทศ เริ่มตั้งแต่การยกร่างแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน และ การยกร่างพระราชบัญญัติช้าง พ.ศ. .... ขึ้นมาใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายให้ครอบคลุมทุกประเด็นปัญหา รวมทั้งการออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ให้ผู้ประกอบการค้างาช้างต้องจดทะเบียนและจัดทำบัญชีสินค้าเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมและตรวจสอบได้ ตลอดจนการฝึกอบรมให้ความรู้ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติ หน้าที่ได้อย่างเต็มที่ และการรณรงค์นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไม่ให้ซื้อและนำงาช้างหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้างติดตัวออกนอกประเทศ ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

2. ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในการเพิ่มมาตรการในการอนุรักษ์เสือโคร่งและสัตว์อื่น ๆ ในกลุ่ม Asian Big Cat โดยให้เพิ่มมาตรการรายงานการค้าเสือ และการควบคุมการเพาะพันธุ์เสือในปริมาณที่เหมาะสมต่อการอนุรักษ์เสือในธรรมชาติเท่านั้น โดยทาง EU ที่เป็นผู้เสนอพยายามจะเพิ่มมาตรการควบคุมการค้าภายในประเทศ โดยขยายคำนิยามของคำว่า trade ให้ครอบคลุมการค้าภายในประเทศด้วย รวมทั้งให้เพิ่มมาตรการการลงโทษหากมีประเทศสมาชิกไม่ปฏิบัติตามมติที่ประชุม แต่ประเทศจีนคัดค้านอย่างหนักและขอให้ประเทศแหล่งกำเนิดเสือร่วมสนับสนุน เนื่องจากเห็นว่า คำจำกัดความคำว่า trade ที่อ้างถึงในข้อเสนอของ EU นั้น เกินขอบเขตอำนาจของอนุสัญญาที่มุ่งเฉพาะการค้าระหว่างประเทศเท่านั้น จึงเสนอขอให้ตัดคำจำกัดความนี้ออก รวมทั้งตัดมาตรการในการลงโทษออกด้วย และแจ้งว่าประเทศแหล่งกำเนิดเสือจะทำงานร่วมกันกำหนดมาตรการหรือแผนปฏิบัติร่วม

3. ที่ประชุมลงมติไม่รับข้อเสนอของประเทศแทนซาเนียและแซมเบียในการขอลดบัญชีช้างแอฟริกาของทั้งสองประเทศจากบัญชี 1 ลงมาเป็นบัญชี 2 เพื่อสามารถค้าช้างและงาช้างระหว่างประเทศได้อย่างถูกกฎหมาย ทำให้ทั้งสองประเทศไม่สามารถค้างาช้างที่อยู่ในสต๊อกของรัฐบาลได้รวมทั้งสิ้น 111,540.94 กิโลกรัม ซึ่งจากมติที่ประชุมดังกล่าว อาจส่งผลกระทบให้มีการลักลอบค้างาช้างระหว่างประเทศมากขึ้น ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรต้องมีมาตรการป้องกันและ เฝ้าระวังที่เข้มงวด

4. ที่ประชุมลงมติไม่รับข้อเสนอในการขอขึ้นบัญชี Blue Fin Tuna ในบัญชี 1 (ตามที่กลุ่มประเทศยุโรปและอเมริกาสนับสนุน เนื่องจากเห็นว่ามีประชากรลดลงอย่างรวดเร็วและใกล้สูญพันธุ์) โดยมีประเทศญี่ปุ่นที่เป็นผู้นำในการคัดค้านและได้รับเสียงสนับสนุนจากประเทศในกลุ่มเอเชีย เพราะเห็นว่าข้อมูลในการสำรวจประชากรในธรรมชาติยังไม่มีการศึกษายืนยันที่แน่ชัด และการควบคุมการทำประมงก็มีหน่วยงานระดับนานาชาติควบคุมอยู่แล้ว มติที่ประชุมส่งผลดีต่อประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยมีการนำเข้าและส่งออกปลาทูน่าปีละกว่า 7 แสนตัน หากมีการขึ้นบัญชีปลา Blue fin Tuna ตามข้อเสนอ อาจกระทบต่อการค้าและเกิดปัญหาในทางปฏิบัติเพื่อควบคุมการอนุญาต อย่างไรก็ตามประเทศไทยร่วมกับภาคีสมาชิกที่มีการค้า Blue Fin Tuna จะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและหามาตรการรองรับหากมีการเสนอขอขึ้นบัญชีอีกในการประชุมครั้งต่อไป

5. ที่ประชุมลงมติไม่รับข้อเสนอในการขอขึ้นทะเบียนปลาฉลามจำนวน 4 ชนิด [ได้แก่ ฉลามหัวค้อนหยัก (Sphyrna lewini) ฉลามหัวค้อนยักษ์ (Sphyrna mokarran) ฉลามหัวค้อนดำ (Sphyrna zygaena,) และฉลามครีบด่าง (Carcharhinus longimanus)] ในบัญชี 2 ของอนุสัญญาไซเตส โดยมีประเทศญี่ปุ่นและจีนเป็นผู้นำในการคัดค้านและได้รับเสียงสนับสนุนส่วนใหญ่ โดยชูประเด็นในทำนองเดียวกันกับปลา Blue Fin Tuna และประเด็นที่ยังไม่มีความชัดเจนใน คำจำกัดความของคำว่า Introduction from the sea ซึ่งจะทำให้เกิดความยุ่งยากในการปฏิบัติ เพราะการจับปลาฉลามส่วนใหญ่จับจากน่านน้ำสากล นอกจากนี้ยังมีปัญหาในการจำแนกชนิดพันธุ์ของปลาฉลามแต่ละชนิด มติที่ประชุมดังกล่าวก็ส่งผลดีต่อประเทศไทยเช่นกัน เพราะประเทศไทยยังมีการบริโภคและส่งออกเนื้อปลาฉลาม รวมทั้งหูฉลามจำนวนมาก

6. ที่ประชุมมีมติไม่รับการขอขึ้นทะเบียนสัตว์บัญชี 1 ที่ได้จากการเพาะพันธุ์เพื่อการค้าเชิงพาณิชย์ (นกกระตั้วและนกแก้วมาคอว์) เสนอโดยประเทศฟิลิปปินส์ โดยมีสหรัฐอเมริกาและประเทศถิ่นกำเนิดนกดังกล่าวในแถบอเมริกาใต้คัดค้านทำให้ต้องลงคะแนนเสียง ซึ่งผลปรากฏว่า ได้คะแนนเสียงไม่ถึง 2 ใน 3 ของจำนวนประเทศที่ออกเสียงทั้งหมด (ขาดไป 2 เสียง) ทำให้คำขอตกไปอีกครั้ง นับเป็นครั้งที่ 3 เหตุผลสำคัญที่ไม่ผ่านการลงคะแนนเพราะไม่แน่ใจ หรือไม่มีหลักฐานเพียงพอว่า พ่อ-แม่พันธุ์ (Parental stock) ได้มาอย่างถูกต้อง ในกรณีนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของประเทศไทยที่จะต้องเตรียมความพร้อมก่อนที่จะยื่นข้อเสนอขอขึ้นทะเบียนการเพาะพันธุ์นกต่างประเทศ เนื่องจากผู้ประกอบการค้านกต่างประเทศที่มีอยู่ในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังไม่สามารถที่จะแสดงหลักฐานได้อย่างเพียงพอและชัดเจน

7. ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการแก้ไขแนวทางในการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสัตว์บัญชี 1 ที่ได้จากการเพาะพันธุ์เพื่อการค้าเชิงพาณิชย์ ตามที่สำนักเลขาธิการ CITIES เสนอโดยผู้ยื่นคำขอไม่ต้องรอให้มีการลงคะแนนเสียงรับรอง (2 ใน 3) จากที่ประชุม CoP ซึ่งจะมีการประชุมทุก 3 ปี หากมีผู้คัดค้านข้อเสนอ แต่ให้ยื่นคำขอผ่านสำนักเลขาธิการ CITIES หากมีผู้คัดค้านให้ส่งเรื่องให้ คณะกรรมการด้านสัตว์พิจารณาภายใน 60 วัน แล้วส่งข้อเสนอแนะให้ผู้คัดค้านและผู้ยื่นคำขอรับทราบและชี้แจงภายใน 30 วัน จากนั้นนำข้อมูลที่ได้จากทั้งสองฝ่าย ส่งให้คณะกรรมการบริหารพิจารณาตัดสิน หากคำคัดค้านมีเหตุผลและคำชี้แจงของผู้ยื่นคำขอฟังไม่ขึ้น ก็ให้คำขอนั้นตกไป หากคำคัดค้านฟังขึ้นก็ให้ขึ้นทะเบียนได้ ข้อดี คือ สามารถลดช่วงระยะเวลาในการขอขึ้นทะเบียนได้อย่างมาก โดย ไม่ต้องรอให้มีการประชุม CoP ซึ่งจัดขึ้นทุก ๆ 3 ปี แต่การประชุมคณะกรรมการบริหารจะมีการประชุมทุกปี ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยได้มีผู้ประกอบการยื่นขอขึ้นทะเบียนแล้ว และกำลังจะยื่นขออีกจำนวนมาก

8. ที่ประชุมพิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการด้านพืชที่ให้ทบทวนคำอธิบายแนบท้ายของพืชตระกูล Cactaceae และ Orchidaceae ที่มีอยู่เดิมว่า สามารถควบคุมการค้าชนิดพันธุ์พืชตามรูปแบบที่มีในตลาดได้หรือไม่ โดยพิจารณาการค้าผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่มีส่วนผสมของ Cibotium barometz, Cistanche deserticola, Dionea muscipula และ Euphorbia spp. ซึ่งผลการประชุมเห็นชอบให้แก้ไขคำอธิบายแนบท้ายโดยยกเว้นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่มีมีส่วนผสมของ Euphobia antisyphylitica (Candellilar wax) ออกจากการควบคุมของอนุสัญญา ทำให้ประเทศไทยสามารถค้าผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่มีส่วนผสมของ Euphobia antisyphylitica (ใช้สำหรับเคลือบเงา) อันได้แก่ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง (ลิปสติก) ผลิตภัณฑ์หมากฝรั่ง เป็นต้น ได้สะดวกขึ้น

9. ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม CoP16 ซึ่งกำหนดจะจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2556 โดยเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2553 การเป็นเจ้าภาพดังกล่าวประเทศไทยได้รับสิทธิเข้าเป็นกรรมการบริหารรวม 2 สมัยประชุม (ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนถึงก่อนสมัยประชุม CoP17 ในปี พ.ศ. 2559) ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมเพื่อปกป้องสิทธิและประโยชน์ทางด้านการค้าและการอนุรักษ์สัตว์ป่าและพืชป่าของประเทศได้อย่างเต็มที่

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 กรกฎาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ