รายงานผลการประชุมรัฐมนตรีพลังงานเอเปค ครั้งที่ 9

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 7, 2010 14:38 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปรายงานผลการประชุมรัฐมนตรีพลังงานเอเปค ครั้งที่ 9 ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ดังนี้

1. ผู้เข้าร่วมการประชุม การประชุมรัฐมนตรีพลังงานเอเปค ครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2553 มีรัฐมนตรีและตัวแทนรัฐมนตรีจากเขตเศรษฐกิจเอเปค จำนวน 20 ประเทศ และ 2 องค์การระหว่างประเทศ และคณะผู้แทนเขตเศรษฐกิจเอเปค

2. การประชุมเต็มคณะ

2.1 การประชุมรัฐมนตรีพลังงานเอเปค ครั้งที่ 9

ที่ประชุมได้รับทราบความร่วมมือด้านพลังงานในกลุ่มประเทศเขตเศรษฐกิจเอเปคจากรัฐมนตรีพลังงาน/หัวหน้าคณะผู้แทนเขตเศรษฐกิจเอเปค ที่ได้รับเชิญให้กล่าวสุนทรพจน์ภายใต้หัวข้อที่สนับสนุนสาระหลักของการประชุมว่าด้วย Low Carbon Paths to Energy Security : วิถีคาร์บอนต่ำนำสู่ความมั่นคงด้านพลังงาน

ประเทศไทย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวสุนทรพจน์ ภายใต้หัวข้อความมั่นคงด้านพลังงาน ชื่อเรื่อง Thailand’s Low Carbon Society Vision and Energy Security ซึ่งอธิบายถึงแนวทางการพัฒนาของประเทศไทย ในการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องการลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

รัฐมนตรีพลังงาน/หัวหน้าคณะผู้แทนเขตเศรษฐกิจเอเปค ได้ร่วมกันอภิปรายถึงความสำคัญของการพัฒนาพลังงาน ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและได้ให้ปฏิญญาความร่วมมือในเขตเศรษฐกิจเอเปค โดยกล่าวถึงโครงการที่สำคัญต่าง ๆ อาทิ

  • การส่งเสริมมาตรฐานประสิทธิภาพและการทดสอบ (Collaborative Assessment of Standards and Testing)
  • การส่งเสริม Carbon Capture Storage Technology และพลังงานถ่านหินสะอาด
  • โครงการ APEC Peer Review on Energy Efficiency
  • โครงการ Cooperative Energy Efficiency Design for Sustainability (CEEDS) ซึ่งเป็นการพัฒนาและส่งเสริมการออกแบบและการเลือกใช้วัสดุสำหรับก่อสร้างอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน โดยประเทศไทยได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม CEEDS
  • ศึกษาศักยภาพการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากพลังงานนิวเคลียร์
  • สนับสนุนระบบ Smart Grid ในภูมิภาค
  • จัดทำแผนพัฒนาเทคโนโลยีของภูมิภาค (APEC Technology Development Roadmap)
  • โครงการเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำ โดยนำเทคโนโลยีพลังงานสะอาดเข้ามาใช้ในเมือง/ชุมชน อย่างเต็มรูปแบบ และเมื่อได้ผลจะมีการขยายผลไปยังเมือง — ชุมชนอื่น ๆ

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบให้จัดการประชุมร่วมกันครั้งแรกระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านพลังงานและด้านคมนาคมของภูมิภาคเอเปค ในปี พ.ศ. 2554 โดยสหรัฐอเมริการับเป็นเจ้าภาพ

2.2 การประชุมรัฐมนตรีพลังงานเอเปค ครั้งต่อไป

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้จัดการประชุมรัฐมนตรีพลังงานเอเปค ครั้งที่ 10 ในปี พ.ศ. 2555 โดยสหพันธรัฐรัสเซียรับเป็นเจ้าภาพ

3. การประชุมระดับทวิภาคีกับรัฐมนตรีและตัวแทนรัฐมนตรีพลังงานเอเปค

3.1 ประเด็นหารือกับประเทศสหรัฐอเมริกา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านพลังงานกับหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศสหรัฐอเมริกา Mr. Daniel B.Poneman รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2553 โดยทั้งสองประเทศเห็นพ้องร่วมกันว่า ควรมีความร่วมมือด้านวิชาการด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยเฉพาะเรื่อง Celluosic 2nd Generation of Biofuel ซึ่งสหรัฐฯ มีการวิจัยทางด้านนี้จำนวนมาก เพื่อต้องการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชที่ไม่ใช่พืชอาหาร ดังนั้น การแลกเปลี่ยนความร่วมมือในเรื่องดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ยิ่งต่อการพัฒนาด้านเชื้อเพลิงชีวภาพของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นควรที่จะมีความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์ ทั้งด้านเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ ด้านความปลอดภัย รวมถึงแนวทางกำกับดูแล และ ด้านการชักจูงชุมชนและสาธารณชนให้เข้าใจและเห็นด้วยกับการพัฒนาพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์

3.2 ประเด็นหารือกับประเทศออสเตรเลีย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านพลังงานกับหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศออสเตรเลีย Mr. Drew Clarke เลขานุการกรมทรัพยากรพลังงานและการท่องเที่ยวออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2553 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้กล่าวถึงกรณีที่แท่นขุดเจาะที่ Montara รั่วไหล ซึ่งบริษัท ปตท.สผ. ได้เร่งดำเนินการจัดการให้หยุดการรั่วไหลโดยเร็ว ทั้งนี้ เลขานุการกรมทรัพยากรพลังงานและการท่องเที่ยวออสเตรเลียแจ้งว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและพลังงาน ได้รับรายงานผลการสอบสวนเรื่องดังกล่าวจาก Montara Commission แล้ว โดยอาจจะต้องใช้เวลา 6 — 8 สัปดาห์ในการตัดสินใจถึงแนวทางในการดำเนินงานต่อไปในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานประเทศไทยได้ขอให้ประเทศออสเตรเลียให้ความอนุเคราะห์ในเรื่องดังกล่าวด้วย ตลอดจนขอให้ฝ่ายออสเตรเลียให้การสนับสนุนบริษัทน้ำมันแห่งชาติของไทยในการดำเนินการลงทุนในนอุตสาหกรรมปิโตรเลียมต้นน้ำอย่าง ต่อเนื่องต่อไป

3.3 ประเด็นหารือกับประเทศสาธารณรัฐเกาหลีใต้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านพลังงานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการจัดการเศรษฐกิจ H.E. Mr. Choi Kyunghwan เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2553 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ขอให้มีความร่วมมือด้านวิชาการพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยประสงค์จะเรียนรู้ประสบการณ์ด้านการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ เพื่อให้เกิดการยอมรับของประชาชน เกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ของประเทศเกาหลีใต้ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ประเทศไทยได้เชิญชวนให้ ประเทศเกาหลีใต้ ได้มีโอกาสมาเรียนรู้ เทคโนโลยี และแนวนโยบายด้านพลังงานทดแทน โดยเฉพาะเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งประเทศไทยมีวัตถุดิบและฐานการผลิตเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ประเทศเกาหลีใต้มีแผนที่จะใช้/ขยายการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อทดแทนการใช้น้ำมันเพื่อใช้ในภาคขนส่ง ตลอดจนความร่วมมือในการจัดสัมมนา Green Field Investment ที่จะชักนำนักลงทุนจากเกาหลีใต้เข้ามาลงทุนด้านพลังงานสะอาดในประเทศไทย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้แจ้งว่าที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ประสานงานกับสถานเอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ประจำประเทศไทยมาโดยตลอด เพื่อให้ความร่วมมือในเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นโดยเร็ว

3.4 ประเด็นหารือกับศูนย์วิจัยด้านพลังงานในภูมิภาคเอเปค

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านพลังงานกับประธานศูนย์วิจัยด้านพลังงานในภูมิภาคเอเปค (Asia Pacific Energy Research Center : APERC) Mr.Kenji Kobayashi เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2553 โดยประธานศูนย์วิจัยพลังงานได้ขอให้ประเทศไทยสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ/นักวิชาการ เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของเอเปค เช่น APEC Peer Review on Energy Efficiency, APEC Low Carbon Model Town และอื่น ๆ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยินดีให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่และต่อเนื่อง นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้แจ้งตอบรับและยืนยันว่าประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนา Cooperation Energy Effiency Design for Sustainability ร่วมกับ APERC ซึ่งจะเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ รวมถึงมาตรการการส่งเสริม และมาตรการบังคับ ในการอนุรักษ์พลังงานในอาคาร โดยรวมถึงการออกแบบการเลือกใช้วัสดุ อุปกรณ์ การก่อสร้าง และพฤติกรรมการใช้พลังงาน ในอาคาร โดยรายละเอียดการจัดงานสัมมนาจะได้ประสานงานเพื่อดำเนินการต่อไป

4. การศึกษาดูงานบริษัทชั้นนำด้านพลังงาน ณ เมืองโอซากา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ศึกษาดูงานการดำเนินการด้านเซลล์แสงอาทิตย์ ณ บริษัทเคียวเซร่า จำกัด ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศญี่ปุ่น และ ณ บริษัทชาร์ป จำกัด นอกจากนี้ ได้ศึกษาดูงานการดำเนินการเพื่อบริหารจัดการสายส่งของบริษัทคันไซ อิเล็กทริค ที่มีลักษณะการดำเนินงานเหมือนกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ควบคุมการจ่ายไฟฟ้าและการใช้ไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น โดยมีส่วนแบ่งในตลาดเป็นลำดับ 2 รวมทั้งได้ศึกษาดูงาน ณ บริษัทเอนเนอเก็ต ที่เป็นบริษัทในเครือบริษัทคันไซ อิเล็กทริค ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการผลิตมิเตอร์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่สามารถตรวจสอบปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้จากห้องควบคุมระบบการจ่ายไฟฟ้า และตรวจสอบการใช้ไฟฟ้าได้ ณ บริษัทคันไซ อิเล็กทริค จำกัด

การศึกษาดูงานดังกล่าวนั้น ทำให้กระทรวงพลังงานได้เห็นความก้าวหน้าในการดำเนินงานด้านพลังงานหมุนเวียนและระบบควบคุมให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้สามารถนำมาวางแผนในการจัดทำยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับการดำเนินงานด้านพลังงานที่เน้นการจัดทำแผนพัฒนาเทคโนโลยีของไทยให้สอดรับกับเทคโนโลยีในภูมิภาคเอเปคได้ต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 กรกฎาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ