สรุปรายงานสถิติอุบัติเหตุในภาคการขนส่งประจำเดือนมิถุนายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 7, 2010 16:13 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลสรุปรายงานสถิติอุบัติเหตุในภาคการขนส่งประจำเดือนมิถุนายน 2553 ของกระทรวงคมนาคมเสนอ สรุปได้ดังนี้

1. สถิติการเกิดอุบัติเหตุในภาคการขนส่งประจำเดือนมิถุนายน 2553 โดยเปรียบเทียบกับสถิติการเกิดอุบัติเหตุในภาคการขนส่งประจำเดือนมิถุนายน 2552

                    อุบัติเหตุที่รับรายงาน (ครั้ง)              ผู้บาดเจ็บ (ราย)                ผู้เสียชีวิต (ราย)
สาขาการขนส่ง      มิ.ย.52  มิ.ย.53  เปรียบเทียบ     มิ.ย.52   มิ.ย.53   เปรียบเทียบ    มิ.ย.52 มิ.ย.53 เปรียบเทียบ
ถนน                 843     527    -37.50%        536      479     -10.60%       100     80   -20.00%
จุดตัดรถไฟกับถนน        12      14     16.70%          4        3     -25.00%        12      6   -50.00%
ทางน้ำ                 6       1    -83.30%          0       39         39%         1      0     -100%
ทางอากาศ              0       0          -          0        0           -         0      0         -
รวม                 861     542    -37.00%        540      521      -3.50%       112     86   -23.20%

จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากภาคการขนส่งในความรับผิดชอบ เปรียบเทียบในช่วงเดือนมิถุนายนของปี 2552 กับปี 2553 พบว่า ในภาพรวมของทุกสาขาการขนส่งมีจำนวนครั้งของสถิติการเกิดอุบัติเหตุลดลงเฉลี่ยร้อยละ 37 จำนวนผู้บาดเจ็บลดลงร้อยละ 3.5 และจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 23.2 และเมื่อพิจารณาจากความรุนแรงเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2552 พบว่าการเกิดอุบัติเหตุทางถนนยังคงสร้างความสูญเสียอย่างร้ายแรง ซึ่งจากสถิติข้างต้น อุบัติเหตุทางถนน เดือนมิถุนายน 2553 พบว่า เกิดขึ้นสูงถึงร้อยละ 97.2 เมื่อเทียบกับการขนส่งระบบอื่น มีผู้บาดเจ็บร้อยละ 91.9 และมีผู้เสียชีวิตร้อยละ 93 โดยการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในเดือนมิถุนายน 2553 มีจำนวนครั้ง จำนวนผู้บาดเจ็บ และจำนวนผู้เสียชีวิตลดลง เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2552 โดยเส้นทางตรงยังคงเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด พฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่เคารพกฎจราจรและไม่ปลอดภัย ได้แก่ การขับรถเร็วเกินอัตราที่กำหนด และการตัดหน้ากระชั้นชิด ยังคงเป็นมูลเหตุสันนิษฐานสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งนี้ การขับรถเร็วเกินอัตราที่กำหนด มีสถิติที่ลดลงร้อยละ 44.6 และการตัดหน้ากระชั้นชิด มีสถิติเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.7 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปี 2552 นอกจากนี้ ประเภทรถที่เกี่ยวข้องกับการเกิดอุบัติเหตุที่สำคัญ ได้แก่ รถปิคอัพบรรทุก 4 ล้อ รถจักรยานยนต์ และรถยนต์

ทั้งนี้ จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุในภาคการขนส่งทางน้ำเดือนมิถุนายน 2553 ซึ่งมีจำนวนผู้บาดเจ็บสูงถึง 39 ราย เนื่องจากมีเหตุเรือสปีดโบ๊ทโดนกันในเส้นทางระหว่างฝั่งอำเภอเกาะสมุยกับฝั่งอำเภอเกาะพงัน ในช่วงเวลา 23.45 น.

2. สถิติอุบัติเหตุเฉพาะการขนส่งทางถนนเปรียบเทียบระหว่างเดือนพฤษภาคม 2553 กับเดือนมิถุนายน2553

ข้อมูลอุบัติเหตุ        พ.ค. 53         มิ.ย. 53    รวม(ม.ค.—มิ.ย. 53)
อุบัติเหตุ (ครั้ง)          785    527 (-32.9%)                6,295
ผู้เสียชีวิต (ราย)          80       80 (0.0%)                  961
ผู้บาดเจ็บ (ราย)         741    479 (-35.4%)                6,096

สถิติอุบัติเหตุการขนส่งทางถนนระหว่างเดือนมกราคม - มิถุนายน 2553 เกิดอุบัติเหตุรวม 6,295 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 961 ราย และผู้บาดเจ็บ 6,096 ราย โดยในเดือนมิถุนายน 2553 มีจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุ และจำนวนผู้บาดเจ็บลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2553

3. สถิติอุบัติเหตุการขนส่งทางถนนรายไตรมาส (เดือนเมษายน พฤษภาคม และมิถุนายน) ระหว่างปี พ.ศ. 2553 เปรียบเทียบกับ พ.ศ.2552

ข้อมูลอุบัติเหตุ     เม.ย.52  เม.ย.53        เปรียบเทียบ  พ.ค.  พ.ค.    เปรียบเทียบ   มิ.ย.   มิ.ย.     เปรียบเทียบ
                                  เม.ย. 53 กับ 52    52    53   พ.ค.53กับ52     52     53    มิ.ย.53กับ52
อุบัติเหตุ (ครั้ง)     1,718    1,867              149   868   785          -83    843    527          -316
                                         (+8.7%)                  (-9.6%)                    (-37.5%)
ผู้เสียชีวิต (ราย)      303      343               40    95    80          -15    100     80           -20
                                        (+13.2%)                 (-15.8%)                    (-20.0%)
ผู้บาดเจ็บ (ราย)    1,959    2,167              208   633   741          108    536    479           -57
                                        (+10.6%)                 (+17.1%)                    (-10.6%)

สถิติอุบัติเหตุการขนส่งทางถนนรายไตรมาส (เดือนเมษายน พฤษภาคม และมิถุนายน) ระหว่างปี พ.ศ. 2553 เปรียบเทียบกับ พ.ศ.2552 พบว่า สถิติโดยรวมมีจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุลดลง 250 ครั้ง หรือลดลงร้อยละ 7.3 แต่มีผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้น 259 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 5 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ซึ่งสามารถสรุปได้ว่าการเกิดอุบัติเหตุในแต่ละครั้งมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นจึงส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นในขณะที่มีจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุลดลง

4. ความก้าวหน้าในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุการขนส่งทางถนน

กระทรวงคมนาคมรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินการ ดังนี้

4.1 การตรวจสอบพฤติกรรมความพร้อมของผู้ขับขี่ไม่ให้เมาสุรา (แอลกอฮอล์เป็นศูนย์) กรมการขนส่งทางบก ได้ดำเนินการตรวจวัดแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับรถสาธารณะ โดยในเดือนมิถุนายน 2553 ได้ดำเนินการตรวจผู้ขับรถสาธารณะจำนวน 106,321 ราย พบว่ามีผู้ขับรถสาธารณะที่มีแอลกอฮอล์ในเลือดแต่ไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จำนวน 4 ราย จึงได้ดำเนินการลงโทษโดยให้เปลี่ยนพนักงานขับรถ

4.2 การปรับปรุงแก้ไขจุดอันตราย และโค้งอันตราย ของกรมทางหลวงชนบท ได้แก้ไข/ปรับปรุงจุดอันตรายบริเวณทางโค้งบนทางหลวงชนบทไปแล้ว จำนวน 346 แห่ง รวมสะสมตั้งแต่มกราคม ถึง มิถุนายน 2553 คิดเป็นร้อยละ 39.5 ของแผนที่จะดำเนินการรวมทั้งสิ้น 875 แห่ง

5. ข้อเสนอเพื่อการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุการขนส่งทางถนน

จากผลการวิเคราะห์ข้างต้น กระทรวงคมนาคมจะได้ดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ดังนี้

5.1 ให้กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และการทางพิเศษแห่งประเทศไทยยังคงมาตรการเร่งรัดการปรับปรุงแก้ไขจุดอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณทางตรง ซึ่งยังคงเกิดอุบัติเหตุในสัดส่วนที่มากกว่าบริเวณอื่น และการแก้ไขปรับปรุงโค้งอันตรายเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ

5.2 ให้กรมการขนส่งทางบก บริษัท ขนส่ง จำกัด และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพดำเนินการ

5.2.1 เพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายจราจรทางบก เช่น การควบคุมความเร็วของรถไม่ให้เกินอัตราที่กำหนดโดยเฉพาะรถโดยสารสาธารณะ การกวดขันการใช้งานรถผิดประเภท เช่น การบรรทุกผู้โดยสารจำนวนมากท้ายรถปิคอัพบรรทุก 4 ล้อ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง เป็นต้น

5.2.2 เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบพฤติกรรมความพร้อมของผู้ขับขี่ไม่ให้เมาสุรา/ยาบ้า/ความอ่อนเพลีย เมื่อยล้า

5.2.3 รณรงค์ให้ผู้ขับขี่ตรวจสภาพความพร้อมของรถก่อนขับขี่ทุกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับขี่ทางไกล

5.3 ดำเนินการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องให้ประชาชนใช้บริการศูนย์บริการทางหลวง สถานีบริการ เมื่อขับขี่เป็นระยะเวลานาน 3 — 4 ชั่วโมงแล้ว เพื่อป้องกันการง่วงอ่อนเพลียขณะขับขี่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้

6. ข้อเสนอเพื่อการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุการขนส่งทางน้ำ

6.1 เพิ่มความเข้มงวดให้เจ้าของเรือหลีกเลี่ยงการให้นักท่องเที่ยวเช่าเรือในช่วงเวลากลางคืนที่มีความเสี่ยงจะเกิดอุบัติเหตุสูง

6.2 เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบผู้ขับขี่เรือ / ผู้โดยสารเรือ / นักท่องเที่ยว ให้สวมเสื้อชูชีพตลอดเวลาที่อยู่ในเรือ

6.3 เพิ่มความเข้มงวดในเรื่องจำนวนผู้โดยสารเรือต้องไม่เกินจำนวนที่กำหนดไว้

6.4 เพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวังการเกิดเหตุโดยให้เจ้าหน้าที่ประจำท่าเทียบเรือชายฝั่งต้นทางและปลายทางมีการประสานแจ้งข้อมูลการนำเรือออกจากท่าเทียบเรือ โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 กรกฎาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ