ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพการสาธารณสุข พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 14, 2010 14:07 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพการสาธารณสุข พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ

ข้อเท็จจริง

กระทรวงสาธารณสุขเสนอว่า ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายวิชาชีพด้านการป้องกันควบคุมโรคสำหรับการดูแลสุขภาพของประชาชน จะมีแต่วิชาชีพด้านการดูแลการเจ็บป่วยและฟื้นฟูสภาพซึ่งสถานีอนามัยถือเป็นกลไกการจัดการบริการในพื้นที่ที่มีความใกล้ชิดกับชุมชนท้องถิ่นและประชาชนอย่างมากที่สุด การที่บุคลากรสาธารณสุข และหรือหมออนามัยได้ปฏิบัติหน้าที่ให้บริการโดยมีมาตรฐานและจริยธรรมวิชาชีพจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของวิชาชีพ แต่ปรากฏว่าโดยพฤตินัยระบบได้มีการปล่อยให้บุคคลเหล่านี้กระทำโดยอิสระในการให้บริการต่อเนื่องมายาวนานกว่า 96 ปี หากบุคคลเหล่านี้ไม่มีความเป็นวิชาชีพก็ย่อมหมายถึงประชาชนไม่ได้รับการบริการที่มีมาตรฐาน

เพื่อเป็นการกำกับ ควบคุมมาตรฐานและจริยธรรมของบุคลากรสาธารณสุข และหรือหมออนามัย และเพื่อให้การดูแลสุขภาพของประชาชนเป็นไปอย่างทั่วถึงมีคุณภาพมาตรฐาน ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา 51 และมาตรา 80 (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตลอดจนเพื่อเป็นการควบคุมมิให้มีการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากบุคคลซึ่งไม่มีความรู้ อันจะก่อให้เกิดอันตรายและความเสียหายต่อสุขภาพของประชาชน นอกจากนี้เพื่อกำหนดคุณภาพและมาตรฐานในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรด้านการสาธารณสุข จึงสมควรมีกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพสาธารณสุข

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดให้มีสภาการสาธารณสุขเป็นนิติบุคคลโดยมีวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 5 ถึงร่างมาตรา 7)

2. กำหนดให้รายได้ส่วนหนึ่งของสภาการสาธารณสุขประกอบด้วยเงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน (ร่างมาตรา 8)

3. กำหนดให้สภาการสาธารณสุขประกอบด้วยสามัญสมาชิกและสมาชิกกิตติมศักดิ์ กำหนดคุณสมบัติ สมาชิกภาพ สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก (ร่างมาตรา 10 ถึงร่างมาตรา 12)

4. กำหนดให้มีคณะกรรมการสภาการสาธารณสุข ประกอบด้วย กรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการซึ่งเป็นคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์หรือที่เรียกชื่ออย่างอื่นหรือเทียบเท่าคณะ กรรมการผู้แทนกระทรวงและองค์กรวิชาชีพ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งโดยสมาชิกสามัญ (ร่างมาตรา 13)

5. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการเลือกกรรมการเพื่อดำรงตำแหน่งนายกสภาการสาธารณสุข อุปนายก เลขาธิการ รองเลขาธิการ เป็นต้น กำหนดวิธีการถอดถอนเลขาธิการ รองเลขาธิการ และตำแหน่งอื่น ๆ (ร่างมาตรา 15 และร่างมาตรา 16)

6. กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่ง อำนาจหน้าที่ และองค์ประชุมคณะกรรมการ (ร่างมาตรา 17 ถึงร่างมาตรา 19 ร่างมาตรา 22 ร่างมาตรา 24)

7. กำหนดห้ามผู้ซึ่งมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุขทำการประกอบวิชาชีพสาธารณสุข เว้นแต่เข้าตามเงื่อนไขที่กำหนด (ร่างมาตรา 27)

8. กำหนดหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียน การออกใบอนุญาต อายุใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต การออกหนังสืออนุมัติ การออกวุฒิบัตรหรือหนังสือแสดงวุฒิ (ร่างมาตรา 30 และร่างมาตรา 31)

9. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกล่าวหา กล่าวโทษ การแต่งตั้งคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการสอบสวน และบทลงโทษ กรณีผู้ประกอบวิชาชีพ การสาธารณสุขประพฤติผิดจรรยาบรรณ (ร่างมาตรา 33 ถึงร่างมาตรา 45)

10.กำหนดบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับการให้มีสมาชิกสภาการสาธารณสุขและการให้นำกฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรมในส่วนที่เกี่ยวกับวิชาชีพการสาธารณสุขมาใช้บังคับโดยอนุโลม (ร่างมาตรา 54 และร่างมาตรา 55)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 กรกฎาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ