ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะ และบริการสำหรับ คนพิการในโครงสร้างพื้นฐานและในระบบการขนส่งสาธารณะ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 14, 2010 14:30 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะ หรือการจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก และบริการสำหรับคนพิการ

ในโครงสร้างพื้นฐานและในระบบการขนส่งสาธารณะ พ.ศ. ....

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะ หรือการจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก และบริการสำหรับคนพิการในโครงสร้างพื้นฐานและในระบบการขนส่งสาธารณะ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

1. บททั่วไป

กำหนดคำนิยาม “ระบบการขนส่งสาธารณะ” “สิ่งอำนวยความสะดวก” “การบริการ” “พื้นผิวต่างสัมผัส” “ความกว้างสุทธิ” “ทางสัญจร” “อาคาร สถานที่” “สถานี” “ยานพาหนะ” “คนพิการ” (ร่างข้อ 2)

2. หมวด 1 สิ่งอำนวยความสะดวกในระบบการขนส่งทางถนน

2.1 ส่วนที่ 1 อาคาร สถานที่

2.1.1 กำหนดให้อาคาร สถานที่ในระบบการขนส่งทางถนน ซึ่งได้แก่ อาคาร สถานที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคมและสถานีขนส่งผู้โดยสารต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร และกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (ร่างข้อ 4)

2.1.2 กำหนดให้ภายใต้บังคับความในข้อ 4 สถานีขนส่งผู้โดยสารอาจมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมตามความเหมาะสม หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ร่างข้อ 5)

2.2 ส่วนที่ 2 ยานพาหนะ

กำหนดให้ประเภท ลักษณะ ขนาดยานพาหนะและระยะเวลาที่จะจัดให้มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ร่างข้อ 6)

3. หมวด 2 สิ่งอำนวยความสะดวกในระบบการขนส่งสาธารณะทางเรือโดยสาร

3.1 ส่วนที่ 1อาคาร สถานที่

กำหนดให้อาคาร สถานที่ในระบบการขนส่งสาธารณะทางเรือโดยสารต้องจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ หรือตามที่กรมเจ้าท่าประกาศกำหนด (ร่างข้อ 7)

3.2 ส่วนที่ 2 ยานพาหนะ

กำหนดให้เรือโดยสารมีสภาพ มาตรฐานอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการในเรือที่เอื้ออำนวยต่อคนพิการ อาทิเช่น ที่นั่งสำหรับคนพิการที่เป็นสัดส่วนในเรือ มีป้ายหรือเครื่องหมายแสดงอย่างชัดเจนให้เป็นไปตามที่กรมเจ้าท่าประกาศกำหนด (ร่างข้อ 8)

3.3 ส่วนที่ 3 อุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวก

กำหนดให้อุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกต้องมีสภาพมั่นคงและปลอดภัยในการใช้งาน และช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการ ทั้งนี้ ลักษณะรายละเอียดต่าง ๆ และบริเวณที่ตั้งของอุปกรณ์และ สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการให้เป็นไปตามที่กรมเจ้าท่าประกาศกำหนด (ร่างข้อ 9)

4. หมวด 3 สิ่งอำนวยความสะดวกในระบบการขนส่งสาธารณะทางอากาศยาน

4.1 ส่วนที่ 1 อาคาร สถานที่

4.1.1 กำหนดให้อาคาร สถานที่ในระบบการขนส่งสาธารณะทางอากาศยาน ซึ่งได้แก่ อาคารที่พักผู้โดยสารและอาคารที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการผู้โดยสารต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารและกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (ร่างข้อ 10)

4.1.2 ภายใต้บังคับข้อ 10 อาคารที่พักผู้โดยสารอาจมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการเป็นการเพิ่มเติมความเหมาะสม หรือตามที่กรมการบินพลเรือนประกาศกำหนด (ร่างข้อ 11)

4.2 ส่วนที่ 2 ยานพาหนะ

กำหนดให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศต้องจัดที่นั่งที่สะดวกสำหรับคนพิการในอากาศยานที่ให้บริการสาธารณะและจัดให้มีที่เก็บรถเข็นคนพิการในบริเวณทางขึ้น-ลง (ร่างข้อ 12)

4.3 ส่วนที่ 3 อุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวก

กำหนดให้อุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกต้องมีสภาพมั่นคงและปลอดภัยในการใช้งานและช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการ ทั้งนี้ ลักษณะรายละเอียดต่าง ๆ และบริเวณที่ตั้งของอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการให้เป็นไปตามที่กรมการบินพลเรือนประกาศกำหนด (ร่างข้อ 13)

5. หมวด 4 สิ่งอำนวยความสะดวกในระบบการขนส่งทางราง

5.1 ส่วนที่ 1 อาคาร สถานที่

5.1.1 กำหนดให้อาคาร สถานที่ในระบบการขนส่งทางรางซึ่งได้แก่ อาคาร สถานที่ที่เปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป สถานีรถไฟรวมทางขึ้นลงสถานี สถานีรถไฟฟ้ารวมทางขึ้นลงสถานี อาคารจอดรถของสถานีรถไฟหรือรถไฟฟ้า ต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารและกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (ร่างข้อ 14)

5.1.2 กำหนดให้อาคาร สถานที่ในระบบการขนส่งทางรถไฟต้องจัดให้มีอุปกรณ์หรือ สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ หรือตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด (ร่างข้อ 15)

5.1.3 กำหนดให้ภายใต้บังคับความในข้อ 14 สถานีต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการเป็นการเพิ่มเติมตามความเหมาะสม (ร่างข้อ 16)

5.2 ส่วนที่ 2 ยานพาหนะ

กำหนดให้มีที่นั่งสำหรับคนพิการอย่างน้อยสองที่นั่งในรถระบบการขนส่งทางรางต่อหนึ่งขบวนและจัดที่ไว้สำหรับรถเข็นคนพิการในบริเวณใกล้เคียงกับประตูเข้า-ออกภายในตัวตู้รถไฟหรือตัวตู้รถไฟฟ้า จัดให้มีป้ายอิเล็กทรอนิกส์แสดงข้อความต่าง ๆ ภายในตัวตู้รถไฟหรือตู้รถไฟฟ้าให้พอเพียงและเหมาะสมสำหรับการให้ข้อมูลต่อคนพิการ การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกบนยานพาหนะในระบบการขนส่งทางราง ให้เป็นไปตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทยและการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด (ร่างข้อ 17 — ร่างข้อ 18)

5.3 ส่วนที่ 3 อุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวก

กำหนดให้สิ่งอำนวยความสะดวกต้องมีสภาพมั่นคงและปลอดภัยในการใช้งานและช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการ ทั้งนี้ ลักษณะ รายละเอียดต่างๆ และบริเวณที่ตั้งของอุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ให้เป็นไปตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทยและการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด (ร่างข้อ 19)

6. หมวด 5 สิ่งอำนวยความสะดวกในเขตทางหลวงและทางพิเศษ

6.1 ส่วนที่ 1 อาคาร สถานที่

กำหนดให้ทางหรืออาคารดังต่อไปนี้ ต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกในบริเวณที่เปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป

(1) ทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงชนบท และทางหลวงสัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงและทางพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ที่เปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปในเขตเมืองหรือชุมชนที่มีความหนาแน่นและเหมาะสม ทั้งนี้ ตามที่ผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

(2) อาคารที่พักริมทางหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นอุปกรณ์งานทางบรรดาที่มีหรือที่ได้จัดไว้ในเขตทางหลวงหรือในเขตทางพิเศษที่เปิดบริการแก่ประชาชนทั่วไปเกิน 300 ตารางเมตร หรือบริเวณที่พักริมทางซึ่งมีพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนาให้รองรับการบริการแก่ประชาชนทั่วไปเกิน 1 ไร่ หากจัดให้มีห้องน้ำห้องส้วมสำหรับบริการแก่ประชาชนทั่วไป ให้จัดห้องน้ำห้องส้วมสำหรับคนพิการตามความเหมาะสมด้วย ทั้งนี้ สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับพิการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารและกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (ร่างข้อ 20 — ร่างข้อ 21)

6.2 ส่วนที่ 2 ป้ายแสดงสิ่งอำนวยความสะดวก

กำหนดให้ทางหลวงหรือทางพิเศษและอาคารตามข้อ 20 ต้องจัดให้มีป้ายแสดงสิ่งอำนวยความสะดวก โดยมีสัญลักษณ์รูปคนพิการ เครื่องหมายแสดงทางไปสู่สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ สัญลักษณ์ หรือตัวอักษรแสดงประเภทของสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ (ร่างข้อ 22)

6.3 ส่วนที่ 3 สถานที่จอดรถ

กำหนดรายละเอียดสถานที่จอดรถสำหรับคนพิการบริเวณที่พักริมทางในเขตทางหลวงหรือทางพิเศษตามข้อ 20 ให้มีสถานที่จอดรถสำหรับคนพิการอย่างน้อยตามอัตราส่วนที่กำหนด และใกล้ทางเข้าออกอาคารให้มากที่สุด (ร่างข้อ 25 — ร่างข้อ 27)

6.4 ส่วนที่ 4 พื้นที่สำหรับรถเข็นคนพิการ

กำหนดให้อาคารที่พักริมทางหรือบริเวณที่พักริมทางในเขตทางหลวงหรือทางพิเศษตามข้อ 20 ต้องจัดที่ว่างสำหรับเก้าอี้เข็นคนพิการ ขนาดของสถานที่ 4 — 25 ที่นั่งสำหรับรถเข็นคนพิการ 1 คัน ขนาดของสถานที่ 26 — 50 ที่นั่ง สำหรับรถเข็นคนพิการ 2 คัน และขนาดของสถานที่ 51 ที่นั่งขึ้นไป สำหรับรถเข็นคนพิการ 3 คัน (ร่างข้อ 28)

6.5 ส่วนที่ 5 ทางสัญจร

กำหนดให้ทางหลวงหรือทางพิเศษและอาคารตามข้อ 20 ที่จัดให้มีทางสัญจรต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวก โดยมีรายละเอียดตามที่กำหนด (ร่างข้อ 29)

6.6 ส่วนที่ 6 สัญญาณคนข้ามถนนและทางข้ามถนน

กำหนดให้ทางหลวงตามข้อ 20 (1) ที่จัดให้มีสัญญาณคนข้ามถนนต้องให้มีเสียงให้คนพิการทางการเห็นได้ยิน 2 ระยะ คือ ระยะแรกเป็นเสียงปกติเมื่อใกล้จะสิ้นสุดเวลาของสัญญาณให้เป็นเสียงถี่ขึ้น และทางข้ามถนนที่ไม่มีสัญญาณไฟจราจร และมีพื้นผิวที่ต่างระดับกันให้ทาสีที่ตัดกับสีพื้นผิวเดิมให้เห็นเด่นชัด (ร่างข้อ 30 — ร่างข้อ 31)

6.7 ส่วนที่ 7 ราวกันตก

กำหนดให้บริเวณที่พักริมทางตามข้อ 20 (2) ต้องจัดให้มีราวกันตกและที่หยุดล้อเลื่อนในบริเวณที่อันตรายเพื่อป้องกันอันตรายและการลื่นไหลของรถเข็นคนพิการ (ร่างข้อ 32)

7. หมวด 6 การบริการ

7.1 กำหนดให้ผู้ให้บริการมีหน้าที่ดูแล และให้บริการแก่คนพิการให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการใช้บริการ ทั้งด้านอาคาร สถานที่ และยานพาหนะ คนพิการและผู้ดูแลคนพิการมีสิทธิได้รับการปฏิบัติ การบริการ การลดหย่อน หรือยกเว้นค่าโดยสาร ค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการอื่นตามที่กฎหมายหรือระเบียบกำหนด (ร่างข้อ 33 — ร่างข้อ 34)

8. บทเฉพาะกาล

กำหนดให้กฎกระทรวงนี้มิให้ใช้บังคับกับยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารสาธารณะดังต่อไปนี้

8.1 ยานพาหนะทางถนนที่จดทะเบียนไว้ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ

8.2 ยานพาหนะทางรางที่ให้บริการอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ

ภายใต้บังคับของกฎหมายอื่นให้อาคาร สถานที่ รวมถึงทางหลวงหรือทางพิเศษตาม ข้อ 20 (1) และอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างตามข้อ 20 (2) ซึ่งได้ก่อสร้างแล้วเสร็จหรือได้เริ่มดำเนินการโครงการไปจนถึงขั้นตอนการลงนามในสัญญาจ้างก่อนที่กฎกระทรวงนี้จะมีผลใช้บังคับให้ได้รับการยกเว้นในการดำเนินการ (ร่างข้อ 38)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 กรกฎาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ