เรื่อง ขอแก้ไขมาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ว่างงานและผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์และขายตรงจากผลกระทบของเหตุการณ์
ความไม่สงบทางการเมือง ภายใต้ : โครงการช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการธุรกิจโลจิสติกส์ไทย และปรับปรุง
หลักเกณฑ์สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ไทย
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้แก้ไขมาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ว่างงานและผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์และขายตรงจากผลกระทบของเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ภายใต้ : โครงการช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการธุรกิจโลจิสติกส์ไทย และปรับปรุงหลักเกณฑ์สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ไทย ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้
1. ปรับแก้ไขมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ที่ถูกเลิกจ้าง หรือผู้ว่างงานที่มีความประสงค์จะประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ และธุรกิจขายตรงดังกล่าว โดยขอเพิ่มเติมกลุ่มเป้าหมายของมาตรการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 เมษายน และ 25 พฤษภาคม 2553 ให้ครอบคลุมผู้ถูกเลิกจ้าง หรือผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมและประสงค์จะประกอบธุรกิจแฟรนไชส์และธุรกิจขายตรงด้วย
2. ปรับปรุงหลักเกณฑ์สินเชื่อ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ไทย เพิ่มเติมในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2552 ดังนี้
(1) เพิ่มเติมวัตถุประสงค์ในการใช้วงเงินสินเชื่อ โดย
วงเงินสินเชื่อต่อราย : รายละไม่เกิน 5 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน และเป็นเงินลงทุนในการติดตั้งอุปกรณ์ NGV ในรถบรรทุก/รถขนส่ง ให้แก่ผู้ประกอบการในโครงการ โดยให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ ธพว. ในการอนุมัติวงเงินสินเชื่อต่อราย
(2) ขอผ่อนปรนให้ผู้กู้ที่มีกิจการเกี่ยวเนื่องกันสามารถใช้วงเงินสินเชื่อได้ตามประเภทของกิจการในกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
กรณีเป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกัน หรือกิจการที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกัน ซึ่งสามารถแยกการดำเนินธุรกิจ และ/หรือสถานประกอบการได้อย่างชัดเจน อนุโลมให้สามารถขอสินเชื่อได้โดยกู้ได้วงเงินสูงสุดกิจการละไม่เกิน 5 ล้านบาท ของโครงการช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ไทย
ข้อเท็จจริง
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2553 และวันที่ 25 พฤษภาคม 2553 เห็นชอบให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ดำเนินมาตรการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง โดยมีหลักเกณฑ์ที่สำคัญ ดังนี้
(1) วงเงินสินเชื่อรวม : 5,000 ล้านบาท
(2) ผู้ประกอบการ SMEs สามารถขอสินเชื่อได้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยไม่ต้องใช้หลักประกันและไม่มีการตรวจสอบประวัติทางการเงินย้อนหลัง
(3) ระยะเวลากู้ยืม : ไม่เกิน 6 ปี โดย 2 ปีแรกจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยไม่ต้องจ่ายคืนเงินต้น (Grace Period 2 ปี)
(4) อัตราดอกเบี้ย
- กรณีเป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบ และกิจการถูกไฟไหม้วงเงินกู้ 30,000 บาทแรก ไม่คิดอัตราดอกเบี้ยในปีแรก ปีที่ 2-6 คิดอัตราร้อยละ 3 ส่วนที่เกิน 300,000 บาท ให้คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ตั้งแต่ ปีที่ 1-6
- กรณีเป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบ และกิจการไม่ถูกไฟไหม้ ให้คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ตั้งแต่ปีที่ 1-6
(5) ระยะเวลาการพิจารณา : ให้ ธพว. ดำเนินการปล่อยสินเชื่อให้แล้วเสร็จภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับเอกสารครบถ้วน
2. กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการช่วยเหลือ ผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม เมื่อวันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน 2553 ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อชี้แจงรายละเอียดการนำเสนอมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินพร้อมทั้งขอปรับเปลี่ยนให้มาตรการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 เมษายน และ 25 พฤษภาคม 2553 เพิ่มเติมกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุม ผู้ถูกเลิกจ้าง หรือ ผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมและประสงค์จะประกอบธุรกิจแฟรสไชส์และธุรกิจขายตรงด้วย และซึ่งที่ประชุม มีมติให้หารือกับกระทรวงการคลัง
3. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2552 อนุมัติโครงการช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ไทย ในวงเงิน 3,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MLR ลบ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี โดย ธพว.เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งจากการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ไทยที่ผ่านมา ปรากฏว่าการสนับสนุนสินเชื่อดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมความต้องการของผู้ประกอบการที่ต้องการการสนับสนุนสินเชื่อ เพื่อเป็นเงินลงทุนในการติดตั้งอุปกรณ์ NGV ในรถบรรทุก/รถขนส่ง รวมทั้งการผ่อนปรนให้ผู้ที่มีกิจการเกี่ยวเนื่องกันสามารถขอรับความช่วยเหลือด้านการเงินได้ด้วย
4. กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้หารือเป็นการภายในกับ ธพว. และ ธพว.มีความเห็นว่า ควรนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เพื่อขอเพิ่มเติมกลุ่มเป้าหมายของมาตรการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองให้ครอบคลุมผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมและประสงค์ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์และธุรกิจขายตรงด้วย พร้อมเสนอปรับปรุงหลักเกณฑ์สินเชื่อผู้ประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ไทยให้ครอบคลุมความต้องการของผู้ประกอบการตามข้อ 3 ในคราวเดียวกัน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 กรกฎาคม 2553--จบ--