การปรับภารกิจและโครงสร้างของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 14, 2010 15:24 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการให้สภาความมั่นคงแห่งชาติดำเนินการปรับภารกิจและโครงสร้างองค์กร และดำเนินการตามขั้นตอนที่สำนักงาน ก.พ.ร.กำหนด ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) รายงานว่า

1. ตามพระราชบัญญัติความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2502 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2507 สมช.เป็น หน่วยงานทางยุทธศาสตร์ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและเสนอแนะนโยบายด้านความมั่นคง รวมทั้งประสานภารกิจในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติและจัดเป็นหน่วยงานขนาดเล็ก

2. การดำเนินงานของ สมช. มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับบริบทของภัยคุกคามด้านความมั่นคง และกลไกของระบบงานความมั่นคงของประเทศซึ่งกระจายอยู่ในความรับผิดชอบของส่วนราชการต่าง ๆ ทั้งในเชิงการป้องกัน การต่อต้าน การแก้ไขปัญหา และการฟื้นฟู ดังนั้น เมื่อสถานการณ์และบริบทของภัยคุกคามความมั่นคงได้เปลี่ยนแปลงไป พร้อม ๆ กับมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของกลไกของระบบงานความมั่นคง ในขณะที่ สมช.มิได้มีการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างองค์กรให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทำให้การดำเนินงานเกิดข้อจำกัดและกระทบต่อประสิทธิภาพการรักษาความมั่นคงแห่งชาติในภาพรวม ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินงานของ สมช.โดยสรุป ดังนี้

2.1 สถานการณ์ความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไป ปัจจุบันสถานการณ์ความมั่นคงและภูมิทัศน์ระหว่างประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากเป็นผลจากกระบวนการจัดระเบียบอำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศใหม่และกระแสโลกาภิวัตน์ ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายของสถานการณ์ความมั่นคงในทางที่ซับซ้อน รุนแรงขึ้น และไม่หยุดนิ่ง การรับมือกับการขยายตัวของภัยคุกคามรูปแบบใหม่ซึ่งต่างไปจากภัยคุกคามความมั่นคงที่คุ้นเคย เช่น อาชญากรรมข้ามชาติและการก่อการร้าย การแพร่กระจายของอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูง ความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่ส่งผลให้เกิดทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรง และการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของโรคระบาด ในขณะที่ ยังคงมีการปรากฏอยู่ของปัญหาความมั่นคงที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และประการสำคัญ คือ ปัญหาความมั่นคงภายในประเทศทั้งการใช้ความรุนแรงอันมีมูลเหตุจูงใจจากผลประโยชน์ทางการเมือง การแตกแยกทางความคิดของคนในสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำให้เอกภาพภายในชาติถูกทำลาย ตลอดจนการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

2.2 พัฒนาการของกลไกในระบบงานความมั่นคงภายหลังจากได้มีการปฏิรูปโครงสร้างระบบราชการในปี 2545 มีการปรับปรุงกลไกรับผิดชอบงานด้านความมั่นคงมาเป็นระยะ การก้าวเข้ามามีบทบาทของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร บทบาทด้านความมั่นคงที่เพิ่มมากขึ้นของหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) โดยเฉพาะกรมสอบสวนคดีพิเศษที่รับผิดชอบการบังคับใช้กฎหมายต่อกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์กระทบต่อความมั่นคง บทบาทของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ต่อการรักษาความมั่นคงของประชาชน และโครงสร้างของกลไกบริหารจัดการพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งที่ได้จัดตั้งขึ้นแล้ว และที่อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุง

นอกจากนี้ยังมีการบัญญัติและปรับปรุงกฎหมายด้านความมั่นคงอีกหลายฉบับ เช่น พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ฯลฯ

3. สถานการณ์ความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงบ่งชี้ว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงและก้าวเข้าสู่ยุคที่เป็นสังคมแห่งความเสี่ยง ทำให้การทำงานของ สมช. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานเสนอแนะนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงจำเป็นต้องปรับตัว โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างองค์กรให้เอื้ออำนวยต่อการรับมือกับบริบทความมั่นคงที่เปลี่ยนไปและการเชื่อมโยงประสานการทำงานกับหน่วยงานในโครงสร้างระบบงานความมั่นคงที่มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งการปรับภารกิจและโครงสร้างของ สมช.จะเป็นหลักประกันในการรักษาผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติ ทำให้การดำเนินงานด้านความมั่นคงเป็นไปอย่างทันสถานการณ์และครอบคลุมประเด็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศในระยะต่อไป โดยการปรับปรุงองค์กรครั้งนี้จะนำไปสู่

3.1 การมีองค์ความรู้ด้านความมั่นคงในทุกมิติ

3.2 การมีนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงที่สามารถสนองตอบความต้องการของชาติและปฏิบัติได้จริง

3.3 การเชื่อมโยงนโยบายและยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติที่สามารถติดตาม ประเมินผลได้อย่างชัดเจน

3.4 การเตรียมพร้อมแห่งชาติในการเผชิญกับภาวะวิกฤตด้านความมั่นคงในทุกลักษณะ

3.5 การเชื่อมโยงฐานข้อมูลทั้งในด้านวิชาการความมั่นคงและฐานข้อมูลด้านข่าวกรองเพื่อสนับสนุนการดำเนินนโยบาย

3.6 การปรับปรุงพระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2502 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2507 เพื่อให้เป็นกฎหมายที่สนับสนุนประสิทธิภาพการดำเนินงานของ สมช.และการรักษาความมั่นคงแห่งชาติได้อย่างแท้จริง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 กรกฎาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ