มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ชุมนุมเพิ่มเติม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 14, 2010 15:30 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ชุมนุมเพิ่มเติม ตามที่คณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมเสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม เพิ่มเติมจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553 ตามมติคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม วันที่ 7 กรกฎาคม 2553 ที่เสนอ

2. อนุมัติให้ผู้ประกอบการที่ถูกเพลิงไหม้โดยตรง และผู้ประกอบการที่ไม่ได้ถูกเพลิงไหม้โดยตรง แต่ได้รับความเสียหายเกี่ยวเนื่องจากเพลิงไหม้ เช่น น้ำดับเพลิง สารเคมี และควันไฟ ได้รับความช่วยเหลือทั้งมาตรการเงินสด (มาตรการเงินช่วยเหลือพิเศษแบบให้เปล่า) และมาตรการภาษี (เพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายจากเหตุเพลิงไหม้)

ทั้งผู้ที่มีประกันภัยและไม่มีประกันภัย ตามมาตรการช่วยเหลือพิเศษให้แก่ผู้ประกอบการที่ถูกเพลิงไหม้อันเนื่องมาจากการชุมนุมโดยตรง และผู้ประกอบการที่ไม่ได้ถูกเพลิงไหม้โดยตรง แต่ได้รับความเสียหายเกี่ยวเนื่องจากเพลิงไหม้ เช่น น้ำดับเพลิง สารเคมี และควันไฟ

3. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป จำนวน 600 ล้านบาท เพื่อสำหรับดำเนินการตามมาตรการเงินสด (มาตรการเงินช่วยเหลือพิเศษแบบให้เปล่า)โดยมอบให้สำนักงานปลัดกระทรวงการคลังเป็นหน่วยขอรับการจัดสรรและเบิกจ่าย ดังนี้

(1) ผู้ประกอบการที่ถูกเพลิงไหม้โดยตรง ให้ความช่วยเหลือคิดจากตารางเมตรที่ใช้ทำธุรกิจต่อบุคคล/นิติบุคคล ในอัตรา 10,000 บาทต่อตารางเมตร โดยสูงสุดไม่เกิน 50 ตารางเมตร เป็นเงินไม่เกิน 500,000 บาท ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ถูกเพลิงไหม้ทุกรายจะได้รับเงินช่วยเหลือขั้นต่ำตามตารางเมตรที่ใช้ทำธุรกิจไม่น้อยกว่า 50,000 บาท

(2) ผู้ประกอบการที่ไม่ได้ถูกเพลิงไหม้โดยตรง แต่ได้รับความเสียหายที่เกี่ยวเนื่องจากเพลิงไหม้ เช่น น้ำดับเพลิง สารเคมี และควันไฟ จะได้รับเงินช่วยเหลือครึ่งหนึ่ง ของผู้ที่ถูกเพลิงไหม้โดยตรง ในอัตรา 5,000 บาทต่อตารางเมตร โดยสูงสุดไม่เกิน 50 ตารางเมตร เป็นเงินไม่เกิน 250,000 บาท ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ไม่ได้ถูกเพลิงไหม้โดยตรง แต่ได้รับความเสียหายที่เกี่ยวเนื่องจากเพลิงไหม้ทุกรายจะได้รับเงินช่วยเหลือขั้นต่ำตามตารางเมตรที่ใช้ทำธุรกิจไม่น้อยกว่า 25,000 บาท

ทั้งนี้ หากไม่สามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ พ.ศ.2553 ให้สามารถกันเงินจำนวนดังกล่าวไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปีได้จนกว่าภารกิจจะสิ้นสุด

4. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป ในวงเงินจำนวน 10 ล้านบาท ให้สำนักงานประกันสังคม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามมาตรการช่วยเหลือลูกจ้างกรณีถูกเลิกจ้าง สำหรับ

4.1 ผู้ถูกเลิกจ้างในระบบประกันสังคม จำนวน 291 ราย รัฐบาลจ่ายสมทบร้อยละ 50 ของค่าจ้างเป็นเวลา 6 เดือน เป็นเงิน 8,805,477 บาท

4.2 ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนแต่ยังไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากจ่ายเงินสมทบไม่ครบ 6 เดือน ให้ความช่วยเหลือ รายละ 15,000 บาท (ครั้งเดียว) เป็นเงิน 630,000 บาท

4.3 ลูกจ้างนอกระบบประกันสังคมที่ถูกเลิกจ้าง ซึ่งมีจำนวน 39 ราย ให้ความช่วยเหลือ รายละ 7,500 บาท (ครั้งเดียว) เป็นเงิน 292,500 บาท

5. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป จำนวน 5,359,617 บาท ให้สำนักงานประกันสังคม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการซึ่งรักษาสภาพการจ้างไว้ตามหนังสือสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2553 โดยใช้หลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติในการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม กรณีค่าจ้างที่คณะรัฐมนตรีได้เคยให้ความเห็นชอบไว้แล้ว

6. ให้กระทรวงการคลัง (กรมสรรพากร) ดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในส่วนของมาตรการด้านภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ ตามมาตรการช่วยเหลือพิเศษให้แก่ผู้ประกอบการที่ถูกเพลิงไหม้อันเนื่องมาจากการชุมนุมโดยตรงและผู้ประกอบการที่ไม่ได้ถูกเพลิงไหม้โดยตรงแต่ได้รับความเสียหายเกี่ยวเนื่องจากเพลิงไหม้ เช่น น้ำดับเพลิง สารเคมี และควันไฟ และในส่วนของมาตรการช่วยเหลือด้านภาษีเพิ่มเติม ตามมติคณะกรรมการช่วยเหลือฯ ต่อไป

7. เห็นชอบในหลักการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมโดยตรงจากเหตุเพลิงไหม้ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายพนักงานกรณีที่รักษาสภาพการจ้างไว้ครบหนึ่งเดือนหลังเหตุการณ์เพลิงไหม้เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ในลักษณะเดียวกับกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

คณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2553 และมีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม เพิ่มเติมจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553 ดังนี้

1. มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการซึ่งเป็นชาวต่างชาติ

เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในเรื่องสภาพคล่อง ในส่วนของเงินกู้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ไม่ครอบคลุมผู้ประกอบการซึ่งเป็นชาวต่างชาติ

มติคณะกรรมการช่วยเหลือฯ มอบหมายให้ นายเกียรติ สิทธีอมร ประธานผู้แทนการค้าไทย ที่ปรึกษาและกรรมการในคณะกรรมการช่วยเหลือฯ รับไปหารือร่วมกับสมาคมธนาคารไทยและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรการการให้ความช่วยเหลือ หากได้ข้อยุติอย่างไร คณะกรรมการช่วยเหลือฯ จักได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

2. มาตรการช่วยเหลือพิเศษให้แก่ผู้ประกอบการที่ถูกเพลิงไหม้อันเนื่องมาจากการชุมนุมโดยตรง และผู้ประกอบการที่ไม่ได้ถูกเพลิงไหม้โดยตรง แต่ได้รับความเสียหายเกี่ยวเนื่องจากเพลิงไหม้ เช่น น้ำดับเพลิง สารเคมี และควันไฟ

ผู้แทนกระทรวงการคลังได้นำเสนอแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ถูกเพลิงไหม้อันเนื่องมาจากการชุมนุมโดยตรง และผู้ประกอบการที่ไม่ได้ถูกเพลิงไหม้โดยตรง แต่ได้รับความเสียหายเกี่ยวเนื่องจากเพลิงไหม้ เช่น น้ำดับเพลิง สารเคมี และควันไฟ ทั้งผู้ที่มีประกันภัยและไม่มีประกันภัย ดังนี้

2.1 มาตรการเงินสด (มาตรการเงินช่วยเหลือพิเศษแบบให้เปล่า)

2.1.1 ผู้ประกอบการที่ถูกเพลิงไหม้โดยตรง ให้ความช่วยเหลือคิดจากตารางเมตรที่ใช้ทำธุรกิจต่อบุคคล/นิติบุคคล ในอัตรา 10,000 บาทต่อตารางเมตร สูงสุดไม่เกิน 50 ตารางเมตร เป็นเงินไม่เกิน 500,000 บาท

2.1.2 ผู้ประกอบการที่ไม่ได้ถูกเพลิงไหม้โดยตรง แต่ได้รับความเสียหายเกี่ยวเนื่องจากเพลิงไหม้ เช่น น้ำดับเพลิง สารเคมี และควันไฟ จะได้รับความช่วยเหลือครึ่งหนึ่งของผู้ถูกเพลิงไหม้ ในอัตรา 5,000 บาทต่อตารางเมตรสูงสุดไม่เกิน 50 ตารางเมตร เป็นเงินไม่เกิน 250,000 บาท

2.2 มาตรการภาษี (เพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายจากเหตุเพลิงไหม้)

2.2.1 สำหรับทรัพย์สินประเภทอุปกรณ์สำนักงาน ฯลฯ ที่เป็นสังหาริมทรัพย์จะได้รับค่าใช้จ่ายทางภาษีเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 100 ของมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินส่วนที่เหลืออยู่หลังจากหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินนั้น (Book value) โดยจะได้รับในปีภาษีที่เริ่มดำเนินการใหม่

2.2.2 สำหรับทรัพย์สินประเภทอาคาร สิ่งปลูกสร้าง ฯลฯ ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์จะได้รับค่าใช้จ่ายทางภาษีเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 100 ของมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินส่วนที่เหลืออยู่หลังจากหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินนั้น หรือจำนวนร้อยละ 50 ของมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินที่มีอยู่ในวันที่เริ่มต้นหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินนั้น (original value before write-off) แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า โดยจะได้รับในปีภาษีที่เริ่มดำเนินการใหม่

2.2.3 สำหรับสินค้าที่เสียหายที่ตัดออกจากบัญชีจากเหตุการณ์ จะได้รับเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีเพิ่มอีกร้อยละ 100 ของมูลค่าของสินค้าที่เสียหายที่ตัดออกจากบัญชี

มติคณะกรรมการช่วยเหลือฯ พิจารณาแล้ว เห็นชอบให้ผู้ประกอบการที่ถูกเพลิงไหม้โดยตรง และผู้ประกอบการที่ไม่ได้ถูกเพลิงไหม้โดยตรง แต่ได้รับความเสียหายเกี่ยวเนื่องจากเพลิงไหม้ เช่น น้ำดับเพลิง สารเคมี และควันไฟ ได้รับความช่วยเหลือทั้งสองมาตรการ ได้แก่ มาตรการเงินสด (มาตรการเงินช่วยเหลือพิเศษแบบให้เปล่า)และมาตรการภาษี (เพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายจากเหตุเพลิงไหม้) ทั้งผู้ที่มีประกันภัยและไม่มีประกันภัย ดังนี้

มาตรการเงินสด (มาตรการเงินช่วยเหลือพิเศษแบบให้เปล่า)

(1) ผู้ประกอบการที่ถูกเพลิงไหม้โดยตรง ให้ความช่วยเหลือคิดจากตารางเมตรที่ใช้ทำธุรกิจต่อบุคคล/นิติบุคคล ในอัตรา 10,000 บาทต่อตารางเมตร โดยสูงสุดไม่เกิน 50 ตารางเมตร เป็นเงินไม่เกิน 500,000 บาท ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ถูกเพลิงไหม้ทุกรายจะได้รับเงินช่วยเหลือขั้นต่ำตามตารางเมตรที่ใช้ทำธุรกิจไม่น้อยกว่า 50,000 บาท

(2) ผู้ประกอบการที่ไม่ได้ถูกเพลิงไหม้โดยตรง แต่ได้รับความเสียหายที่เกี่ยวเนื่องจากเพลิงไหม้ เช่น น้ำดับเพลิง สารเคมี และควันไฟ จะได้รับเงินช่วยเหลือครึ่งหนึ่ง ของผู้ที่ถูกเพลิงไหม้ ในอัตรา 5,000 บาทต่อตารางเมตร โดยสูงสุดไม่เกิน 50 ตารางเมตร เป็นเงินไม่เกิน 250,000 บาท ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ไม่ได้ถูกเพลิงไหม้โดยตรง แต่ได้รับความเสียหายที่เกี่ยวเนื่องจากเพลิงไหม้ทุกรายจะได้รับเงินช่วยเหลือขั้นต่ำตามตารางเมตรที่ใช้ทำ ธุรกิจไม่น้อยกว่า 25,000 บาท

(3) ให้สำนักงานปลัดกระทรวงการคลังเป็นหน่วยขอรับการจัดสรรและเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษ (แบบให้เปล่า) จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป ภายในวงเงินไม่เกิน 600 ล้านบาท ทั้งนี้ หากไม่สามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ พ.ศ.2553 ให้สามารถกันเงินจำนวนดังกล่าวไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปีได้จนกว่าภารกิจจะสิ้นสุด

มาตรการภาษี (เพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายจากเหตุเพลิงไหม้)

(1) สำหรับทรัพย์สินประเภทอุปกรณ์สำนักงาน ฯลฯ ที่เป็นสังหาริมทรัพย์จะได้รับค่าใช้จ่ายทางภาษีเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 100 ของมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินส่วนที่เหลืออยู่หลังจากหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินนั้น (Book value) โดยจะได้รับในปีภาษีที่เริ่มดำเนินการใหม่

(2) สำหรับทรัพย์สินประเภทอาคาร สิ่งปลูกสร้าง ฯลฯ ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์จะได้รับค่าใช้จ่ายทางภาษีเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 100 ของมูลค่าต้นทุนของสินทรัพย์ส่วนที่เหลืออยู่หลังจากหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินนั้น หรือจำนวนร้อยละ 50 ของมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินที่มีอยู่ในวันที่เริ่มต้นหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินนั้น (original value before write-off) แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า โดยจะได้รับในปีภาษีที่เริ่มดำเนินการใหม่

(3) สำหรับสินค้าที่ตัดออกจากบัญชีจากเหตุการณ์ จะได้รับเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีเพิ่มอีกร้อยละ 100 ของมูลค่าของสินค้าที่เสียหายที่ตัดออกจากบัญชี

3. มาตรการช่วยเหลือด้านภาษีเพิ่มเติม

กระทรวงการคลังได้นำเสนอมาตรการช่วยเหลือด้านภาษีเพิ่มเติม เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาต่อไป ดังนี้

3.1 ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายการดังต่อไปนี้

3.1.1 เงินช่วยเหลือเป็นเงินทุนประกอบอาชีพ ครอบครัวละไม่เกิน 10,000 ของกรุงเทพมหานคร

3.1.2 เงินช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและประชาชนที่ทรัพย์สินได้รับความเสียหายโดยตรงอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมือง ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 12 มีนาคม ถึง 20 พฤษภาคม 2553 กรณีร้านค้าหรือทรัพย์สินถูกเพลิงไหม้ ถูกโจรกรรม ถูกทำลาย เป็นต้น จำนวน 50,000 บาทต่อราย

3.1.3 เงินช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ถูกเพลิงไหม้โดยตรง และผู้ประกอบการที่ไม่ได้ถูกเพลิงไหม้โดยตรง แต่ได้รับความเสียหายที่เกี่ยวเนื่องจากน้ำดับเพลิง สารเคมี และควันไฟ

3.1.4 เงินช่วยเหลือจากบริษัทประกันภัย

3.1.5 เงินช่วยเหลือค่าจ้างกรณีถูกเลิกจ้าง

3.1.6 เงินช่วยเหลือค่าใช้จ่ายพนักงานสำหรับผู้ประกอบการที่รักษาสภาพ การจ้างงานไว้

3.1.7 เงินช่วยเหลือค่าใช้จ่ายค่าเช่าสำหรับผู้ให้เช่าซึ่งไม่คิดค่าเช่ากับผู้เช่า

3.1.8 เงินสินไหมส่วนที่เกินจากส่วนที่เสียหายที่ตัดจำหน่ายออกจากบัญชี

3.2 เพิ่มค่าใช้จ่ายทางภาษีสำหรับเงินช่วยเหลือที่บริษัทประกันภัยจ่ายให้แก่ ผู้เอาประกัน

มติคณะกรรมการฯ เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้กระทรวงการคลังนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

4. มาตรการช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยด้านการฟ้องคดี

มติคณะกรรมการช่วยเหลือฯ พิจารณาแล้ว เห็นควร

4.1 มอบหมายให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ให้การสนับสนุนด้านค่าใช้จ่ายและให้คำปรึกษาแนะนำ รวมถึงให้บริการเรื่องการฟ้องคดีแก่ผู้เอาประกันภัย โดยให้ผู้เอาประกันภัยขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านการฟ้องคดีจากกองทุนยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม

4.2 ให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสมาคมประกันวินาศภัย ทำความตกลงกับบริษัทประกันภัย เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยได้รับเงินช่วยเหลือจากบริษัทประกันภัย โดยให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมช่วยเหลือเป็นพยานหรือรับทราบ โดยมิให้ผู้เอาประกันภัยต้องเสียสิทธิในเรื่องการฟ้องคดี

5. มาตรการช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยด้านเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ

มติคณะกรรมการช่วยเหลือฯ พิจารณาแล้ว เห็นชอบในหลักการให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย ด้านเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ ธพว. ให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ในวงเงิน 5,000 ล้านบาท ให้แก่ผู้เอาประกันภัย โดย มอบหมายให้ นายเกียรติ สิทธีอมร ประธานผู้แทนการค้าไทย ที่ปรึกษาและกรรมการในคณะกรรมการช่วยเหลือฯ พิจารณาในรายละเอียดกับกระทรวงการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ธพว. และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ และนำมาเสนอคณะกรรมการช่วยเหลือฯ พิจารณาอีกครั้ง ภายในสองสัปดาห์ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

6. มาตรการช่วยเหลือลูกจ้างกรณีถูกเลิกจ้าง

กระทรวงแรงงานได้รายงานข้อมูลผู้ถูกเลิกจ้างของสำนักงานประกันสังคม สรุปได้ว่า ผู้ถูกเลิกจ้างในระบบประกันสังคม จำนวน 291 ราย รัฐบาลจ่ายสมทบร้อยละ 50 ของค่าจ้างเป็นเวลา 6 เดือน รวมเป็นเงิน 8,805,477 บาท ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนแต่ยังไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน เนื่องจากจ่ายเงินสมทบไม่ครบ 6 เดือน จำนวน 42 ราย รัฐบาลจะจ่ายเงินช่วยเหลือ รายละ 15,000 บาท (ครั้งเดียว) รวมเป็นเงิน 630,000 บาท ลูกจ้างนอกระบบประกันสังคมที่ถูกเลิกจ้าง จำนวน 39 ราย จ่ายเงินช่วยเหลือ รายละ 7,500 บาท (ครั้งเดียว) รวมเป็นเงิน 292,500 บาท รวมเป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้น 9,727,977 บาท

มติคณะกรรมการช่วยเหลือฯ เห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอและเห็นสมควรเสนอ คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณให้กระทรวงแรงงานดำเนินการภายในวงเงินจำนวน 10 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 งบกลาง รายการ เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป โดยให้สำนักงานประกันสังคมเป็นหน่วยเบิกจ่ายต่อไป

7. มาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายพนักงานกรณีผู้ประกอบการรักษาสภาพ การจ้าง เพิ่มเติมจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553

ฝ่ายเลขานุการฯ ได้รวบรวมข้อมูลผู้ประกอบการที่รักษาสภาพการจ้างไว้ก่อนวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ในพื้นที่ราชประสงค์ซึ่งตกสำรวจ นำเสนอคณะกรรมการช่วยเหลือฯ พิจารณาให้ความช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายพนักงาน จำนวนหนึ่งเดือนเพิ่มเติม รวมจำนวนผู้ประกอบการ 38 ราย จำนวนพนักงาน 402 คน เป็นเงิน 5,359,617 บาท

มติคณะกรรมการช่วยเหลือฯ มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป จำนวน 5,359,617 บาท ให้สำนักงานประกันสังคม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการซึ่งรักษาสภาพการจ้างไว้ โดยใช้หลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติ ในการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม กรณีค่าจ้าง ที่คณะรัฐมนตรีได้เคยให้ความเห็นชอบไว้แล้ว สำหรับกรณีค่าใช้จ่ายพนักงานหลังวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ให้ฝ่ายเลขานุการฯ รวบรวมข้อมูลเพื่อให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการช่วยเหลือฯ นำไปหารือคณะรัฐมนตรีต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 กรกฎาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ