การเยียวยาภาคธุรกิจต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 14, 2010 15:51 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานการเยียวยาภาคธุรกิจต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ของนายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

ข้อเท็จจริง

กระทรวงพาณิชย์ได้จัดการประชุมหารือระหว่างรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายอลงกรณ์ พลบุตร) กับทูตพาณิชย์ต่างประเทศประจำประเทศไทย ประธานหอการค้าต่างประเทศและผู้ประกอบการชาวต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นของชาวต่างประเทศที่มีต่อประเทศไทย โดยได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนรับฟังข้อกังวลและข้อเสนอแนะในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ เมื่อวันอังคารที่ 8 และวันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน 2553

ทั้งนี้ สรุปมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาของกระทรวงพาณิชย์สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศ ได้ดังนี้

1. มาตรการระยะสั้น

1.1 ให้ศูนย์บริการประชาชนของกระทรวงพาณิชย์เป็นสื่อกลางในการรับคำร้องขอความช่วยเหลือจากผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ดังนี้

  • ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร (One-stop-service Center) ของกรมส่งเสริมการส่งออก ตั้งอยู่ ณ ถนนรัชดาภิเษก
  • สำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจในกรุงเทพฯ จำนวน 6 แห่ง ตั้งอยู่ ณ สุรวงศ์ ปิ่นเกล้า รัชดาภิเษก พหลโยธิน ศรีนครินทร์ และรามคำแหง

1.2 ขยายเวลาการยื่นงบการเงินประจำปี พ.ศ. 2552 โดยจากเดิมผู้มีหน้าที่ยื่นงบการเงินซึ่งได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด นิติบุคคลต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทยและกิจการร่วมค้าต้องยื่นงบการเงินภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2553 ขยายเวลาออกไปอีก 1 เดือน เป็นสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2553 ในจังหวัดอื่นๆ กรณีมีปัญหาจะพิจารณาขยายให้เป็นรายๆ ไป

1.3 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พิจารณาเห็นว่า มาตรการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองมีหลักเกณฑ์/เงื่อนไขที่ดี เอื้อประโยชน์ต่อ ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม จึงได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี พิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ถูกเลิกจ้างหรือผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมและประสงค์จะประกอบธุรกิจแฟรนไชส์และธุรกิจขายตรง โดยขอเพิ่มเติมกลุ่มเป้าหมายของมาตรการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 เมษายน และ 25 พฤษภาคม 2553 ให้ครอบคลุมผู้ถูกเลิกจ้าง หรือผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง และประสงค์จะประกอบธุรกิจแฟรนไชส์และธุรกิจขายตรงด้วย ซึ่งจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีโดยเร็วที่สุด

1.4 กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ออกประกาศ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2553 เรื่อง “การขอขยายระยะเวลาและการดำเนินการตามกฏหมายที่อยู่ในความดูแลของกรมทรัพย์สินทางปัญญาในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมือง” เพื่อให้ผู้ที่ไม่อาจดำเนินการยื่นคำร้อง คำขอจดทะเบียน หรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดภายในระยะเวลาที่กฏหมายสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า การคุ้มครองแบบผังภูมิวงจรรวม การคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ได้กำหนดไว้ ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 17 - 25 พฤษภาคม 2553 ให้ยื่นคำขอขยายระยะเวลาเพื่อดำเนินการส่วนหนึ่งส่วนใดที่ล่วงมาแล้วได้ โดยให้แสดงเหตุผล ความจำเป็นและหลักฐานที่แสดงว่าได้เกิดผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งไม่อาจดำเนินการในช่วงระยะเวลาที่กฏหมายกำหนดได้ ภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2553 ที่ผ่านมา

1.5 กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ขอความร่วมมือจาก บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) มิให้เรียกเก็บค่าตอบแทนการส่งเสริมสนับสนุนการขายด้วยการแพร่เสียง แพร่ภาพ การแข่งขันฟุตบอลโลกจาก โรงแรม สถานบันเทิง และร้านอาหารบริเวณที่ได้รับผลกระทบ ตลอดการแข่งขัน (11 มิถุนายน — 11 กรกฎาคม 2553) ซึ่งบริษัทฯ ได้ให้ความร่วมมือตามที่กรมฯ ขอ

1.6 ให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ การมอบถุงยังชีพบรรจุข้าวสารอาหารแห้ง และน้ำดื่ม เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2553 จำนวน 4,000 ชุด เพื่อช่วยเหลือประชาชนในชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อน ได้แก่ ชุมชนมักกะสัน ชุมชนประตูน้ำ ชุมชนบ่อนไก่ และชุมชนหลังวัดปทุมวนาราม

1.7 จัดมหกรรมออกร้านขายสินค้า ได้แก่

  • การจัดงานมหกรรมธงฟ้าเฉลิมพระเกียรติ เมื่อวันที่ 15-21 พฤษภาคม 2553 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 2 เมืองทองธานี โดยได้เชิญผู้ประกอบการย่านราชประสงค์ที่ได้รับผลกระทบเข้าร่วมงาน จำนวน 200 ราย มียอดจำหน่ายสินค้าประมาณ 55.65 ล้านบาท
  • การออกร้านในงานเฉลิมพระเกียรติบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5-9 พฤษภาคม 2553 บริเวณสนามหลวงและถนนราชดำเนิน
  • การจัดรถโมบายธงฟ้า (Mobile Unit) เพื่อจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นให้กับประชาชนในชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อน ได้แก่ ชุมชนมักกะสัน ชุมชนประตูน้ำ ชุมชนบ่อนไก่ และชุมชนหลังวัดปทุมวนาราม
  • การจัดงาน “มหกรรมรวมพลังเพื่อวันใหม่” (Together We Can Grand Sales) เมื่อวันที่ 28-29 พฤษภาคม 2553 ณ บริเวณถนนสีลม ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ กรุงเทพมหานคร และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ร่วมกันจัดขึ้น โดยสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทั้งสิ้น 1,650 ราย ประกอบด้วย ผู้ประกอบการย่านราชประสงค์ ประตูน้ำ อนุสาวรีย์ สีลม และธงฟ้า ประชาชนที่เข้าร่วมชมงานกว่า 400,000 คน ยอดจำหน่าย 2 วัน ประมาณ 140 ล้านบาท

1.8 ใช้มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ได้แก่

  • การจัดสรรร้านค้าและสถานที่สำหรับจัดงานแสดงสินค้าและตลาดนัด ในย่านชุมชน และสถานที่ราชการ เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10-20
  • การจัดงาน Ground Zero เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประเทศไทย เมื่อวันพุธที่ 26 พฤษภาคม 2553 รวมทั้งการสร้างอาชีพและสร้างรายได้ภายใต้โครงการ Rainbow Project ในธุรกิจ แฟรนไชส์และ การขายตรง

1.9 ให้ศูนย์บริการประชาชนของกระทรวงพาณิชย์เป็นสื่อกลางในการรับคำร้องขอความช่วยเหลือจากผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ดังนี้

  • ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร (One-stop-service Center) ของกรมส่งเสริมการส่งออก ตั้งอยู่ ณ ถนนรัชดาภิเษก
  • สำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจในกรุงเทพฯ จำนวน 6 แห่ง ตั้งอยู่ ณ สุรวงศ์ ปิ่นเกล้า รัชดาภิเษก พหลโยธิน ศรีนครินทร์ และรามคำแหง

1.10 ผ่อนปรนกฎระเบียบและอำนวยความสะดวกทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการ ได้แก่

  • การขยายเวลาการส่งงบการเงินประจำปีในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ออกไปอีก 1 เดือน เป็นสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2553 ส่วนในจังหวัดอาจพิจารณาขยายเวลาเป็นราย ๆ ไป การจัดหน่วยบริการเคลื่อนที่เพื่อรับจดทะเบียนและออกหนังสือสำคัญทางการค้า

2. มาตรการระยะกลาง

2.1 กระทรวงพาณิชย์ยังคงมุ่งสร้างแรงกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศเพื่อให้เกิดความหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการจัดมหกรรมออกร้านขายสินค้าและการอำนวยความสะดวกทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการ เช่น จัดงาน “มหกรรมรวมพลังเพื่อวันใหม่” ในส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะจังหวัดที่ได้รับผลกระทบด้านการค้าและการท่องเที่ยว เช่น พัทยา นนทบุรี นครสวรรค์ เป็นต้น

2.2 ช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ไทย

  • กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งปะเทศไทย (SMEs Bank) สนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ไทย วงเงินกู้ไม่เกินรายละ 5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MLR = 3% (ปัจจุบัน MRL = 7%) วันสิ้นสุดรับคำขอกู้ 30 ธ.ค. 53 ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ไทยที่ได้รับผลกระทบสามารถใช้วงเงินกู้นี้ได้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ระยะเวลากู้ 5 ปี โดยปีแรกจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย ไม่ต้องจ่ายเงินต้น (คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติวงเงินกู้นี้รวม 3,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2553)

2.3 ฟื้นฟูความเชื่อมั่นจากต่างประเทศให้กลับมาดังเดิม

  • ให้สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการค้าของกระทรวงพาณิชย์ที่กระจายอยู่ทั่วโลกให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่สื่อต่างประเทศทุกแขนง
  • ยืนยันการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในประเทศและเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศตามแผนที่ได้กำหนดไว้เพื่อทำให้การส่งออกและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศขยายตัวได้ตามเป้าหมาย เช่น การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าโลกที่นครเซี่ยงไฮ้ ระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม 2553 การจัดงาน Thailand Best Friend ควบคู่กับงาน Thaifex ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน — 2 กรกฎาคม 2553 เพื่อเชิญผู้นำเข้าชาวต่างประเทศเข้ามาเจรจาธุรกิจกับผู้ส่งออกของไทย เป็นต้น

3. มาตรการระยะยาว

กระทรวงพาณิชย์ขอยืนยันว่า ประเทศไทยยังยึดมั่นในนโยบายการค้าเสรีและเป็นธรรม โดยไม่สนับสนุนมาตรการกีดกันทางการค้า สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นจะไม่มีผลกระทบต่อนโยบายการค้าและการปฏิบัติตามพันธกรณีทางการค้าระหว่างประเทศของไทย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 กรกฎาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ