การพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างเอกสารสำคัญที่จะมีการลงนามหรือรับรองในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 14, 2010 15:54 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างเอกสารสำคัญที่จะมีการลงนามหรือรับรองในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน

ครั้งที่ 43 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอดังนี้

1. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมลงนามหรือรับรองเอกสารทั้ง 6 ฉบับ ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 43 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง

2. หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก

ข้อเท็จจริง

กระทรวงการต่างประเทศเสนอว่า สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 43 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 19 — 23 กรกฎาคม 2553 ที่กรุงฮานอย ซึ่งในการประชุมดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะร่วมลงนามหรือรับรองเอกสารสำคัญที่อยู่ในข่ายที่จะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548

ในระหว่างการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของอาเซียน เมื่อวันที่ 17 — 28 พฤษภาคม 2553 ที่เมืองดานัง เวียดนามได้เวียนรายการเอกสารซึ่งผ่านการพิจารณาของที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีการลงนามหรือ รับรองในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 43 การประชุมกับประเทศคู่เจรจา คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ แคนาดา รัสเซีย และสหภาพยุโรป รวมทั้งการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การประชุมคณะมนตรีประชาคมการเมือง — ความมั่นคงอาเซียน การประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน+3 การประชุมสุดยอด เอเชียตะวันออก และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รวม 6 ฉบับ

สาระสำคัญและข้อเท็จจริงทางกฎหมาย

1. ร่างแผนปฏิบัติการฮานอยเพื่อดำเนินการให้บรรลุตามถ้อยแถลงวิสัยทัศน์ของการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีสาระสำคัญกำหนดแนวทางการดำเนินงานในกรอบการประชุมนี้เพื่อพัฒนางานด้านต่าง ๆ ของการประชุมฯ ให้มีผลเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพ และปฏิบัติได้โดยรวมถึงความร่วมมือด้านการบรรเทาภัยพิบัติ ความมั่นคงทางทะเล การต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรม ข้ามชาติ การลดและไม่แพร่ขยายอาวุธ ปฏิบัติการรักษาสันติภาพ การพัฒนาความร่วมมือกับฝ่ายกลาโหม ตลอดจนส่งเสริมมาตรการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและการทูตเชิงป้องกัน ระหว่างประเทศที่เข้าร่วมการประชุมฯ เพื่อก่อให้เกิดสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

2. ร่างขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะผู้ทรงคุณวุฒิอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ร่างเอกสารนี้เป็นไปตามแถลงการณ์ร่วมการประชุมผู้นำอาเซียน-สหรัฐฯ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2552 วัตถุประสงค์สำคัญ คือ การกำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ ที่จะทำหน้าที่จัดทำรายงานข้อเสนอแนะในการส่งเสริมความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ เพื่อเสนอผู้นำอาเซียนและสหรัฐฯ ในการประชุมสุดยอดครั้งต่อไป

3. ร่างแผนปฏิบัติการเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนที่เพิ่มพูนระหว่างอาเซียนกับแคนาดา ร่างเอกสารนี้เป็นไปตามปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนที่เพิ่มพูนระหว่างอาเซียนกับแคนาดา ซึ่งได้รับการรับรองจากที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและแคนาดาที่ประเทศไทยเมื่อ 22 กรกฎาคม 2552 เพื่อเป็นแผนงานกำหนดกรอบและทิศทางความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับแคนาดาเป็นเวลา 5 ปี (กรกฎาคม 2553 — 2558) ตลอดจนเป็นการแสดงเจตจำนงของแคนาดาที่จะร่วมมือกับอาเซียนในการสร้างประชาคมอาเซียนทั้งในด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม รวมทั้งเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

4. ร่างสารขยายจำนวนภาคีในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเอกสารแสดงความเห็นชอบร่วมกันของรัฐสมาชิกอาเซียนที่จะให้แคนาดาภาคยานุวัติเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 16 ได้พิจารณาและตอบรับข้อเสนอของแคนาดาที่จะเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาฯ แล้ว ทั้งนี้ การเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาฯ สอดคล้องกับท่าทีไทยที่สนับสนุนในเรื่องนี้มาโดยตลอด เนื่องจากแคนาดาถือเป็นหนึ่งในประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ที่มีบทบาทสำคัญในประเด็นต่าง ๆ ในเวทีระหว่างประเทศ รวมทั้งแคนาดาได้มีความพยายามที่จะรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับอาเซียน โดยเฉพาะในช่วงที่ไทยเป็นประเทศผู้ประสานงานอาเซียน-แคนาดา

5. ร่างปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนที่ครอบคลุมทุกด้านระหว่างอาเซียนและนิวซีแลนด์ มีสาระสำคัญแสดงเจตนารมณ์ของอาเซียนและนิวซีแลนด์ที่จะยกระดับความสัมพันธ์ที่ได้ดำเนินการมาครบ 35 ปี ให้ก้าวไปสู่การเป็นหุ้นส่วนอย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้นทั้งในด้านการเมือง-ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม

6. ร่างแผนปฏิบัติการเพื่อปฏิบัติตามร่างปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนที่ครอบคลุมทุกด้านระหว่างอาเซียนและนิวซีแลนด์ ค.ศ. 2010- 2015 มีสาระสำคัญกำหนดแนวทางการดำเนินความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และการพัฒนา ระหว่างอาเซียนและนิวซีแลนด์ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายของร่างปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนที่ครอบคลุมทุกด้านระหว่างอาเซียนและนิวซีแลนด์

7. เอกสารในข้อ 1 — 6 เป็นเพียงการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองเพื่อส่งเสริมให้มีการกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาในมิติต่าง ๆ รวมทั้งเป็นแผนงานกำหนดกรอบและทิศทางความร่วมมือระหว่างอาเซียน และระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการสร้างประชาคมอาเซียนภายในปี 2558 จึงไม่ได้มีนัยที่จะเปลี่ยนแปลงอาณาเขตหรือพื้นที่นอกอาณาเขต ซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่จำเป็นต้องมีพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญาหรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุนหรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ อันจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนดำเนินการให้มีผลผูกพัน ตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 กรกฎาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ