ร่างปฏิญญาเจจูด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในการประชุมรัฐมนตรีด้านอนามัย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 14, 2010 15:55 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างปฏิญญาเจจูด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในการประชุมรัฐมนตรีด้านอนามัยและสิ่งแวดล้อมของประเทศ

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 2

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อสาระสำคัญในร่างปฏิญญาเจจูด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ก่อนที่จะให้การรับรองร่างปฏิญญาเจจูฯ โดยไม่มีการลงนามในการประชุมรัฐมนตรีด้านอนามัยและสิ่งแวดล้อมของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 2 ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2553 ณ เกาะเจจู สาธารณรัฐเกาหลี และมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาให้การรับรองปฏิญญาเจจูฯ โดยให้สามารถปรับเปลี่ยนถ้อยคำได้ตามความเหมาะสม และเมื่อเสร็จสิ้นการประชุมฯ แล้ว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะนำรายงานสรุปผลการประชุมฯ เสนอคณะรัฐมนตรีทราบในโอกาสต่อไป ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้เดินทางไปร่วมประชุมดังกล่าว

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รายงานว่า

1. สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี (29 พฤษภาคม 2550,15 มกราคม 2551) องค์การอนามัยโลกและโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ได้มีหนังสือเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเข้าร่วมการประชุมฯ ครั้งที่ 2 (The Second Ministerial Forum on Environment and Health in South-East and East Asian Countries) ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2553 ณ เกาะเจจู สาธารณรัฐเกาหลี โดยมีองค์การอนามัยโลก โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ เป็นฝ่ายเลขานุการและสาธารณรัฐเกาหลี เป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมฯ ดังกล่าว

2. โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติได้ประสานส่งร่างปฏิญญาเจจูฯ ให้ 14 ประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมการประชุมฯ ครั้งที่ 2 พิจารณาล่วงหน้า ซึ่งในการประชุมฯ ครั้งที่ 2 จะมีการรับรองร่างปฏิญญาเจจูฯ โดยไม่มีการลงนาม

3. สาระสำคัญของร่างปฏิญญาเจจูฯ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกที่จะมีความร่วมมือกันที่จะสร้างความเข้มแข็งในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จของการมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีข้อเสนอประการหนึ่งที่จะให้สมาชิกเวทีระดับภูมิภาคพิจารณาสร้างกลไกที่ยั่งยืนที่จะให้การสนับสนุนเงินทุนสำหรับศูนย์ฝึกอบรมและวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

4. วัตถุประสงค์หลักของร่างปฏิญญาเจจูฯ เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมกับ สาธารณสุขของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกและในระดับภูมิภาคที่ถือเป็นกลไกสำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ และสนับสนุนการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

5. กระทรวงการต่างประเทศ (กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย) พิจารณาแล้วเห็นว่าร่างปฏิญญาเจจูฯ ฉบับนี้ไม่น่าจะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 กรกฎาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ