คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการให้ดำเนินการโน้มน้าว (Lobby) ประเทศภาคีสมาชิกในอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกให้เห็นด้วยกับราชอาณาจักรไทยว่าการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารก่อให้เกิดปัญหาข้อขัดแย้งและการกระทบกระทั่งอย่างรุนแรงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชา จึงควรชะลอการพิจารณาแผนการจัดการพื้นที่ (Management Plan) ปราสาทพระวิหารของราชอาณาจักรกัมพูชาไปก่อนจนกว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องแนวเขตระหว่างราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรกัมพูชาจะเสร็จสิ้น โดยให้ ทส. ประสานงานกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการดังกล่าว
2. สำหรับค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลกฯ ให้ใช้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในวงเงินไม่เกิน 10,000,000 บาทตามที่เสนอ โดยให้ขอทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
ทส. รายงานว่า
1. ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2530 ซึ่งการดำเนินงานตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ อยู่ภายใต้คณะกรรมการมรดกโลก (World Heritage Committee) สำหรับประเทศไทยการดำเนินงานอยู่ภายใต้คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก โดยที่ศูนย์มรดกโลกมีหนังสือที่ WHC/POL/10/41 ลงวันที่ 19 เมษายน 2553 เชิญประเทศภาคีเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 34 ระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม — 3 สิงหาคม 2553 ณ กรุงบราซิเลีย สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล
2. การประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 ที่ประชุมมีมติ ดังนี้
2.1 รับทราบกำหนดการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 34 ระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม — 3 สิงหาคม 2553 ณ กรุงบราซิเลีย สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล
2.2 เห็นชอบในหลักการให้ดำเนินการโน้มน้าว (Lobby) ประเทศภาคีสมาชิกในอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกให้เห็นด้วยกับราชอาณาจักรไทยว่าการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารก่อให้เกิดปัญหาข้อขัดแย้งและการกระทบกระทั่งอย่างรุนแรงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชา จึงควรชะลอการพิจารณาแผนการจัดการพื้นที่ (Management Plan) ปราสาทพระวิหารของราชอาณาจักรกัมพูชาไปก่อนจนกว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องแนวเขตระหว่างราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรกัมพูชาจะเสร็จสิ้น โดยให้ ทส. ประสานงานกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการดังกล่าว
3. ราชอาณาจักรไทยได้รับการคัดเลือกให้เป็นกรรมการในคณะกรรมการมรดกโลก มีวาระ 4 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2552 — 2556 ซึ่งตามกฎของการดำเนินงานของคณะกรรมการมรดกโลก (Rules of Procedure) ประเทศสมาชิกที่เป็นกรรมการมรดกโลกจะต้องเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญตามกฎของการดำเนินงานของคณะกรรมการมรดกโลก (Rules of Procedure) นอกจากนั้น ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 34 ในวาระการประชุม State of Conservation เป็นการพิจารณาแผนการจัดการฉบับสมบูรณ์ (Full Management Plan) ปราสาทพระวิหารของราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งเป็นไปตามข้อมติของคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 33 เมื่อวันที่ 22 — 30 มิถุนายน 2552 ณ ราชอาณาจักรสเปน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 กรกฎาคม 2553--จบ--