เรื่อง การพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างเอกสารสำคัญที่จะมีการรับรองเพิ่มเติมในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 43
และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างเอกสารสำคัญที่จะมีการรับรองเพิ่มเติมในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 43 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง รวม 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างแผนงานของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (2553 — 2558) และร่างโครงการ/กิจกรรมหลักของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ระหว่างปี 2553 — 2554
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรับรองเอกสารทั้ง 2 ฉบับ ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 43 และการประชุมอื่น ที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 16 -23 กรกฎาคม 2553 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
สาระสำคัญและข้อเท็จจริงทางกฎหมาย
1. ร่างแผนงานของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (2553 — 2558) มีเนื้อหาครอบคลุมอำนาจหน้าที่ ตามข้อ 4 ของขอบเขตหน้าที่ของคณะกรรมาธิการฯ โดยเน้นการส่งเสริมมากกว่าการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะประกอบด้วยกิจกรรมในลักษณะต่าง ๆ ดังนี้ การรวบรวมข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนในระดับประเทศ ภูมิภาค และระหว่างประเทศ การเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับความตกลงและอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ การจัดสัมมนาและการจัดเวทีสาธารณะ การหารือ และประสานงานกับกลไกความร่วมมืออื่น ๆ ของอาเซียน การจัดทำบรรทัดฐานด้านสิทธิมนุษยชนของอาเซียน การขอรับรายงานด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศสมาชิกอาเซียนที่จัดทำเพื่อเสนอต่อองค์กรของสหประชาชาติ การเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กร และการจัดทำรายงานประจำ รวมทั้งการกำหนดให้มีการทบทวนแผนงานในปี 2557
2. ร่างโครงการ/กิจกรรมหลักของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ระหว่างปี 2553 — 2554 เป็นการกำหนดกิจกรรมของคณะกรรมาธิการฯ ระหว่างปี 2553 — 2554 พร้อมประมาณการงบประมาณสำหรับการดำเนินกิจกรรม ซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ จะสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการฯ 5 ปี ซึ่งใน 2 ปีนี้ คณะกรรมาธิการฯ จะเน้นการรวบรวมข้อมูลในบริบทด้านสิทธิมนุษยชนในอาเซียน การจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน การจัดทำข้อมูลและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับคณะกรรมาธิการฯ การจัดการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง และการจัดทำการศึกษาประเด็นสิทธิมนุษยชนเรื่องการศึกษาความรับผิดชอบต่อสังคมของภาค เอกชน (สำหรับปี 2553) และเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐาน (สำหรับปี 2554)
3. เอกสารทั้ง 2 ฉบับเป็นเพียงแผนงานกำหนดกรอบและทิศทางความร่วมมือระหว่างอาเซียนภายใต้องค์กรของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการสร้างประชาคมอาเซียนภายในปี 2558 จึงไม่ได้มีนัยที่จะเปลี่ยนแปลงอาณาเขตหรือพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวางอีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่จำเป็นต้องมีพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญาหรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุนหรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ อันจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนดำเนินการให้มีผลผูกพันตามมาตรา 190 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 อย่างไรก็ดี กระทรวงการต่างประเทศเห็นควรขอรับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในเชิงนโยบายก่อนที่รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะร่วมรับรอง
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 กรกฎาคม 2553--จบ--