คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ครั้งที่ 16ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
ข้อเท็จจริง
ตามที่นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางพรทิวา นาคาศัย) เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ครั้งที่ 16 (APEC Ministers Responsible for Trade Meeting : APEC MRT) ระหว่างวันที่ 5-6 มิถุนายน 2553 ณ เมืองซับโปโร ประเทศญี่ปุ่น นั้น
กระทรวงพาณิชย์ได้สรุปสาระของการประชุมดังกล่าว และการหารือทวิภาคี ดังนี้
1. การประชุมเอเปค
1.1 การสนับสนุนการเจรจาการค้ารอบโดฮา และการต่อต้านการใช้มาตรการกีดกัน
นาย Pascal Lamy ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก ซึ่งเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วยได้รายงานให้ที่ประชุมทราบถึงความคืบหน้าการเจรจารอบโดฮาและประเด็นเจรจาที่เป็นปัญหา ที่ประชุมเห็นพ้องว่า การเจรจาควรมีความสมดุลและสนับสนุนกระบวนการหารือแบบเจรจาหลายเรื่องพร้อมกัน (horizontal process) (ที่ผ่านมา จะเป็นการเจรจาแยกกันแต่ละเรื่อง) สหรัฐฯ เรียกร้องให้ประเทศกำลังพัฒนาเปิดตลาดสินค้าและบริการให้มากขึ้น ในขณะที่จีนคัดค้านข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ โดยเห็นว่า การเจรจารอบนี้เน้นเรื่องการพัฒนาจึงไม่ควรกดดันประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้ หลายประเทศเรียกร้องไม่ให้มีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลก
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้กล่าวถ้อยแถลงว่า ไทยสนับสนุนกระบวนการหารือแบบเจรจาหลายเรื่องพร้อมกัน และพร้อมที่จะยืดหยุ่นในการเจรจาสินค้าอุตสาหกรรมและบริการ หากเรื่องสินค้าเกษตรมีความคืบหน้าที่น่าพอใจและได้กล่าวย้ำว่า ประเทศไทยไม่มีการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะที่เป็นการกีดกันการค้า แม้ว่าเราจะมีปัญหาทั้งภายในภายนอกก็ตาม
ในการนี้ ที่ประชุมได้ออกแถลงการณ์ของรัฐมนตรีการค้าเอเปคเรื่องการเจรจารอบโดฮา และตกลงที่จะสนับสนุนข้อเรียกร้องไม่ให้ใช้มาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุนหรือมาตรการกระตุ้นการส่งออกที่ไม่สอดคล้องกับ WTO ต่อไปจนถึงปี 2011
1.2 เป้าหมายโบเกอร์
ที่ประชุมพิจารณาความคืบหน้าในการเปิดเสรีการค้าการลงทุนตามเป้าหมายโบเกอร์ ในปี 2010 ของสมาชิกพัฒนาแล้ว 5 เขตเศรษฐกิจ (แคนาดา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และสหรัฐฯ) และสมาชิกกำลังพัฒนาที่อาสาเข้าร่วมประเมินผลในปีนี้อีก 8 เขตเศรษฐกิจ (ชิลี เปรู เม็กซิโก ฮ่องกง จีนไทเป เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และมาเลเซีย) ซึ่งแม้ขณะนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่สมาชิกก็มีความเข้าใจร่วมกันถึงประเด็นสำคัญ (main thrust) ของการประเมิน และผลการประเมินจะได้นำเสนอสิ่งที่สมาชิกจะต้องดำเนินการต่อไปในการเปิดเสรีและอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุน ทั้งนี้ รายงานผลการประเมินฉบับสุดท้ายจะนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีและผู้นำเศรษฐกิจเอเปคในเดือนพฤศจิกายน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า ไทยพอใจกับความคืบหน้าการประเมินผล แต่คิดว่ารายงานนำเสนอประเด็นเชิงบวกมากเกินไป และควรสมดุลมากกว่านี้ โดยไทยเห็นว่า การเปิดเสรีบางเรื่องยังมีปัญหา โดยเฉพาะเรื่องภาษีศุลกากรของสินค้าเกษตรที่ยังอยู่ในอัตราสูง และมาตรการที่มิใช่ภาษีที่มีการใช้เพิ่มมากขึ้นในหลายประเทศ นอกจากนี้ รายงานการประเมินผลควรระบุสิ่งที่เอเปคจะต้องดำเนินการในอนาคตเพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคเหล่านี้ โดยให้ผู้นำเศรษฐกิจเอเปคสั่งการในเรื่องดังกล่าว
1.3 การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดมากขึ้นในภูมิภาค (Regional Economic Integration : REI)
ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการเจรจาเขตการค้าเสรีในเอเชีย-แปซิฟิค (Free Trade Area of the Asia — Pacific : FTAAP) โดยหลายประเทศกล่าวว่า ปัจจุบันภูมิภาคนี้มีการรวมตัวใกล้ชิดกันมากขึ้น ผ่านการเจรจา FTA ของหลายประเทศ และการดำเนินการในเอเปคภายใต้เวทีสำคัญก็มีงานที่เกี่ยวกับ FTAAP อยู่แล้ว จึงน่าจะยังคง FTAAP ไว้เป็นเป้าหมายในระยะยาว (long-term goal) ของเอเปคต่อไป นอกจากนี้ได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานในเรื่อง REI อาทิ 1.3.1 การจัดทำ Road Map ด้านการลงทุน 1.3.2 การจัดทำแผนปฏิบัติงาน (Action Plan) เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านโลจิสติกส์ 1.3.3 การเข้าร่วมของมาเลเซียและบรูไนในโครงการ APEC Self — Certification of Origin Pathfinder ทำให้ขณะนี้สมาชิกเข้าร่วมโครงการนี้ทั้งสิ้น 9 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งขยายจากเดิมที่มี 7 เขตเศรษฐกิจ (ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และสหรัฐ) 1.3.4 การจัดตั้ง APEC Website on Tariff and Rules of Origin (Web TR) 1.3.5 การดำเนินการเกี่ยวกับการปฏิรูปกฎระเบียบภายใน (Behind the Border) ซึ่งเน้นการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจ 5 เรื่อง ประกอบด้วย การเริ่มต้นทำธุรกิจ การขอสินเชื่อ การค้าข้ามพรมแดน การบังคับใช้สัญญา และการขออนุญาตประกอบธุรกิจ โดยให้ถูกลง เร็วขึ้น และง่ายขึ้นให้ได้ร้อยละ 25 ในปี 2015 และอย่างน้อยร้อยละ 5 ในปี 2011
ในประเด็นนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า ไทยไม่ขัดข้องต่อการคง FTAAP ไว้เป็นเป้าหมายในระยะยาว สำหรับการดำเนินการเพื่อให้มีการรวมตัวใกล้ชิดขึ้นนั้น ไทยเห็นว่าการเปิดเสรีการค้าการลงทุน ต้องดำเนินการเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการปฏิรูปกฎหมายควบคู่กันไป เพื่อให้การค้าการลงทุนระหว่างประเทศมีอุปสรรคน้อย สำหรับการดำเนินการเฉพาะเรื่องนั้น ไทยให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่อง Supply Chain Connectivity ในเอเปค การพัฒนาด้านมาตรฐานและการตรวจสอบคุณภาพ และการปฏิรูปกฎระเบียบภายใน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศกำลังพัฒนาในระยะยาว
1.4 กลยุทธ์การเจริญเติบโตใหม่ (New Growth Strategy)
ที่ประชุมพิจารณาข้อเสนอเรื่อง กลยุทธ์การเจริญเติบโตใหม่ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นแนวทางรองรับการดำเนินการหลังวิกฤตเศรษฐกิจ และเตรียมความพร้อมของสมาชิก หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นในอนาคตโดยหลักการคือ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต้องมีความสมดุล (balanced growth) ทั้งระหว่างและภายในเขตเศรษฐกิจสมาชิก มีความเท่าเทียม (inclusive growth) ระหว่างภาคส่วนต่างๆ ต้องเอื้อต่อสิ่งแวดล้อม (green growth) การเจริญเติบโตอย่างมีนวัตกรรม (innovative growth) โดยใช้วิทยาศาสตร์ / เทคโนโลยี และมีความมั่นคง (secure growth) ที่จะปกป้องประชากร สังคมและเศรษฐกิจจากภัยพิบัติทั้งที่เกิดจากมนุษย์และธรรมชาติโดยแผนปฏิบัติงานในเรื่องดังกล่าวจะเน้นเรื่องที่เอเปคสามารถเพิ่มคุณค่า (add value) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ และการเพิ่มขีดความสามารถ (capacity building)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า ไทยสนับสนุนในหลักการตามข้อเสนอของญี่ปุ่น แต่อยากให้มีรายละเอียดที่ชัดเจนในแต่ละหัวข้อ โดยไทยอยากให้กลยุทธ์ให้ความสำคัญกับภาคเกษตรมากกว่านี้ สำหรับเรื่องการเติบโต โดยมีนวัตกรรมนั้นแม้จะเป็นสิ่งที่ดี แต่ควรมีความสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิและการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อการพัฒนาด้วย
2. การหารือทวิภาคี
2.1 สหรัฐฯ
ไทยได้ตอบข้อซักถามสหรัฐฯ เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองของไทย และย้ำถึงการปฏิบัติของรัฐบาลต่อผู้ชุมนุมภายใต้กฎหมาย โดยขณะนี้ ไทยอยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนฟื้นฟูความปรองดองและให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไข ในการนี้ไทยได้ขอสหรัฐฯ เร่งรัดให้สำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าของสหรัฐ (United States Patent and Trademark Office : USPTO) รับจดทะเบียนสิทธิบัตรฝนหลวงซึ่งสหรัฐฯ รับที่จะติดตามเรื่องนี้ให้
สหรัฐฯ กล่าวชื่นชมความพยายามของไทยในการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา แต่อาจยังไม่เกิดผลในทางปฏิบัติเพียงพอ โดยขณะนี้สหรัฐฯ ได้จัดไทยไว้ในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List : PWL) ในการนี้ สหรัฐฯ จะจัดส่งร่างแผนปฏิบัติงานในการสร้างความร่วมมือระหว่างกันและแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ให้ไทยพิจารณาต่อไป ไทยแจ้งว่า ขณะนี้ ไทยอยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมายควบคุมการผลิตภัณฑ์ CD
อนึ่ง สหรัฐฯ ได้แจ้งให้ไทยทราบว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานจากสหรัฐฯ จะเดินทางมาเยือนไทยอีกครั้งในเดือนกรกฎาคมเพื่อร่วมมือกันในประเด็นเรื่องการใช้แรงงานเด็ก และจะจัดการประชุมหารือในประเด็นศุลกากร โดยไทยรับจะประสานกับกรมศุลกากรให้
2.2 ชิลี
ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมมือกัน เพื่อเสริมสร้างและขยายความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนระหว่างกันรวมถึงด้านวัฒนธรรม และเห็นว่า โอกาสที่จะขยายการค้าระหว่างกันยังมีอีกมากโดยไทยสามารถใช้ชิลีเป็นประตูการค้าไปสู่ประเทศในแถบอเมริกาใต้ และชิลีก็สามารถใช้ไทยเป็นประตูการค้าไปสู่อาเซียนได้ ในการนี้ ชิลีเห็นด้วยกับข้อเสนอของไทยที่ควรมีการพบปะระหว่างนักธุรกิจของทั้งสองฝ่าย
ชิลีได้สอบถามความคืบหน้าเกี่ยวกับการเจรจา FTA ไทย-ชิลี ซึ่งไทยแจ้งว่า ครม. มีมติเห็นชอบกรอบการเจรจา FTA ไทย-ชิลี แล้วเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างรอการเสนอต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ โดยรัฐสภามีกำหนดสมัยประชุมต่อไปในเดือนสิงหาคม และหากกรอบการเจรจาดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้วก็จะเริ่มต้นการเจรจา FTA ได้
ข้อสังเกต/ข้อคิดเห็น
1. การเจรจา FTA ของเอเปค หรือ FTAAP ดูจะได้การสนับสนุนลดลง โดยหลายประเทศหันไปให้ความสนใจการเจรจา FTA ในภูมิภาค เช่น Trans-Pacific Partnership Agreement (TPP) และการเริ่มต้นศึกษาเตรียมการสำหรับ FTA ระหว่างจีน — ญี่ปุ่น-เกาหลี (CJK FTA) หรือการดำเนินการรวมตัวในภูมิภาคต่างๆ เช่น อาเซียน + 3 อาเซียน + 6 แต่ทุกประเทศเห็นพ้องว่า เอเปคมีการดำเนินการที่จะสนับสนุนการรวมตัวในภูมิภาคเป็นจำนวนมากซึ่งควรดำเนินการต่อไป เช่น การปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจ การแก้ไขปัญหาด้านโลจิสติกส์ การเปิดเสรีสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อม การอำนวยความสะดวกทางการค้าการลงทุนและการปฏิรูปกฎระเบียบภายใน เป็นต้น
2. การปฏิบัติงานของเอเปคในเรื่องกลยุทธ์การเจริญเติบโตจะเป็น multi — year action plan จะเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนทั้งภาคเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม พลังงาน เทคโนโลยี และความมั่นคง ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องควรประสานความร่วมมือเพื่อกำหนดและใช้ประโยชน์จากการดำเนินงานในเรื่องนี้ของเอเปค
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 กรกฎาคม 2553--จบ--