เรื่อง การแต่งตั้งรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบแผนงานความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจ
สามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle : IMT-GT) แผนงาน
การพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (Greater Mekong Subregion : GMS) และ
กรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง — ญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม)
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอทั้ง 2 ข้อ ดังนี้
1. อนุมัติแต่งตั้งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) เป็นรัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT (IMYT — GT Minister) รัฐมนตรีประจำแผนงาน GMS (GMS Minister) และรัฐมนตรีประจำกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม (Mekong-Japan Economic and Industrial Cooperation Minister) เพื่อกำกับดูแลและปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมระดับรัฐมนตรีของกรอบแผนงานความร่วมมือ IMT-GT, แผนงาน GMS และกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม
2. เห็นชอบองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยในการประชุมระดับรัฐมนตรีของกรอบแผนงานความร่วมมือ IMT-GT แผนงาน GMS และกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม และมอบหมายเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมอบหมาย เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของทั้ง 3 แผนงาน
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานว่า
1. ในปี 2553 ประเทศไทยมีกำหนดการสำคัญในกรอบ IMT-GT, GMS และกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ดังนี้
1.1 การประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสครั้งที่ 17 ของแผนงาน IMT-GT ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าว ณ จังหวัดกระบี่ ระหว่างวันที่ 3 -5 สิงหาคม 2553 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2552 สาระสำคัญประกอบด้วย
1) รับทราบผลการดำเนินงาน 6 สาขาความร่วมมือตาม IMT-GT Roadmap ปี 2550 — 2554 รวมทั้งประเด็นความร่วมมือใหม่ เช่น พลังงานทดแทนและข้อเสนอโครงการใหม่ตามกระบวนการทบทวนกลางรอบ (Midterm Review) ซึ่งเสนอร่วมกันโดยสภาธุรกิจ IMT-GT จังหวัดและรัฐ และหน่วยงานหลักของคณะทำงาน 6 สาขา ในที่ประชุม IMT-GT Special Consultation Meeting และ Special SOM
2) พิจารณาข้อเสนอของธนาคารพัฒนาเอเชีย เรื่อง ผลการทบทวนกลางรอบและการเตรียมการจัดทำ IMT-GT Roadmap รอบที่ 2 โดยเฉพาะโครงการ PPP ที่สำคัญ เช่น การพัฒนาท่าเรือฝั่งอันดามันและอ่าวไทยและการพัฒนา Toll Road เป็นต้น
3) พิจารณาข้อเสนอของ IMT-GT Eminent Persons เรื่อง Business Process Review ซึ่งจะยกระดับบทบาทของสภาธุรกิจ IMT-GT ผู้ว่าราชการจังหวัดและมุขมนตรี และศูนย์ประสานงานอนุภูมิภาค IMT-GT ทุกระดับรวมทั้งการประชุมสุดยอด
4) พิจารณาร่างคำแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุมสุดยอดซึ่งจัดทำร่างโดยที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 17 ที่จังหวัดกระบี่
1.2 การประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสครั้งที่ 16 ของแผนงาน GMS ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 19 — 20 สิงหาคม 2553 สาระสำคัญการประชุม ประกอบด้วย
1) รับทราบผลการดำเนินงานสำคัญตามแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ (2551-2555) ใน 9 สาขาความร่วมมือ ผลการประชุมเวทีหารือเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจระดับรัฐมนตรี และระดับผู้ว่าราชการจังหวัด ครั้งที่ 2 (2nd Economic Corridor Forum : ECF) ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา และผลการดำเนินงานของสภาธุรกิจ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Business Forum : GMS-BF)
2) พิจารณาอนุมัติผลการศึกษาและแผนงาน จำนวน 6 เรื่อง ได้แก่ (1) ทิศทางกรอบกลยุทธ์ ระยะยาวของ GMS (2012 — 2022) (2) การศึกษาเพื่อจัดทำโครงข่ายระบบรางของอนุภูมิภาค (3) แผนปฏิบัติการการอำนวยความสะดวกการค้าและการขนส่งข้ามพรมแดน (4) การศึกษาเพื่อส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนและประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (5) แผนงานสนับสนุนความร่วมมือด้านเกษตร ระหว่างปี 2554 — 2558 (6) แผนงานหลักด้านสิ่งแวดล้อมระยะที่ 2
3) พิจารณาแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรี GMS 6 ประเทศ ซึ่งมีประเด็นหลักกล่าวถึงการประเมินผลการดำเนินงานของแผนงาน GMS ตามแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ (2551 — 2555) และประเด็นสำคัญในการจัดทำกรอบยุทธศาสตร์ใหม่สำหรับการพัฒนา GMS ในระยะยาว
1.3 การประชุมระดับรัฐมนตรีของกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ครั้งที่ 2 และการประชุมร่วมระหว่างรัฐมนตรีและภาคเอกชน ครั้งที่ 1 ณ เมืองดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ในวันที่ 25 — 26 ธันวาคม 2553 สาระสำคัญการประชุมประกอบด้วยการอนุมัติแผนปฏิบัติการความร่วมมือ (Mekong-Japan Cooperation Initiatives : MJ — CI) และประเด็นจากการที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจของประเทศลุ่มแม่น้ำโขงได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับภาคเอกชนประเทศลุ่มแม่น้ำโขงและภาคเอกชนญี่ปุ่น
2. เนื่องจากได้มีพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2553 โปรดเกล้าฯ ให้นายวีระชัย วีระเมธีกุล ไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีความจำเป็นต้องแต่งตั้งรัฐมนตรีเพื่อปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวแทนรัฐมนตรีเดิม โดยมีองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยในการประชุมระดับรัฐมนตรีของกรอบแผนงานความร่วมมือ IMT-GT แผนงาน GMS และกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่น ด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ตามที่เสนอ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 กรกฎาคม 2553--จบ--