การประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2553/54

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 21, 2010 14:19 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี) ประธานกรรมการนโยบาย มันสำปะหลังเสนอ ดังนี้

1.เห็นชอบให้ดำเนินการขึ้นทะเบียนเกษตรกรตามหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2553/54 ที่คณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลังได้มีมติไว้แล้วเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2553 (ครั้งที่ 4/2553) วงเงิน 65.251 ล้านบาท

2. ให้ดำเนินการขึ้นทะเบียนเกษตรกรในการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกพืชชนิดอื่น ปี 2553/54 เช่นเดียวกับมันสำปะหลังด้วย

ทั้งนี้ ในส่วนค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนให้ตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณต่อไป

เรื่องเดิม

คณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลังได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ พณ 0409/5768 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2553 เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบให้ดำเนินมาตรการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลังปี 2553/54 โดยวิธีการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังปี 2553/54 ตามมติคณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลังในคราวประชุมเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2553 และวันที่ 10 มิถุนายน 2553 ดังนี้

2.1 หลักเกณฑ์วิธีดำเนินโครงการ

2.1.1 พื้นที่ดำเนินการ จังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตมันสำปะหลัง ปี 2553/54 ทั่วประเทศ ที่มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2553/54 กับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

2.1.2 ปริมาณเป้าหมาย ให้เกษตรกรรายครัวเรือนใช้สิทธิขอรับเงินส่วนต่างระหว่างราคาประกันกับเกณฑ์กลางอ้างอิงตามปริมาณที่ผลิตได้จริงแต่ไม่เกินครัวเรือนละ 100 ตัน โดยคำนวณจากพื้นที่ปลูกของเกษตรกรประมาณ 20 - 25 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 4-5 ตัน และต้องเป็นผลผลิตที่เกษตรกรแจ้งขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร โดยให้ใช้เกณฑ์ผลผลิตเฉลี่ยรายจังหวัดเป็นข้อมูลในการคำนวณปริมาณผลผลิตที่เข้าร่วมโครงการประกันรายได้ สำหรับจังหวัดที่มิได้กำหนดผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ระดับจังหวัดไว้ ให้ใช้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของระดับภาค หากระดับภาคมิได้กำหนดไว้ให้อนุโลมใช้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของระดับประเทศ

2.1.3 ราคาประกัน กำหนดราคาประกัน หัวมันสดเชื้อแป้ง 25% กก.ละ 1.90 บาท โดยใช้เกณฑ์ ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยทั้งประเทศ (กก.ละ 1.36 บาท) บวกค่าขนส่ง (กก.ละ 0.15 บาท) และผลตอบแทนให้เกษตรกรร้อยละ 25 (กก.ละ 0.38 บาท) โดยการซื้อขายให้เป็นไปตามการค้าปกติ

2.1.4 การกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิง คณะอนุกรรมการกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงมันสำปะหลัง เป็นผู้กำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคาระหว่างราคาประกันกับเกณฑ์กลางอ้างอิงให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง โดยกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงเท่ากันทุกจังหวัดแหล่งผลิต

2.1.5 ระยะเวลาดำเนินการ 1) การขึ้นทะเบียนเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. — 31 ต.ค.2553 โดยกรมส่งเสริมการเกษตร และจัดประชุมประชาคมเพื่อรับรองการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ตั้งแต่ 16 มิ.ย.- 30 พ.ย. 2553 โดยต้องเป็นมันสำปะหลังฤดูกาลเพาะปลูกปี 2553/54 (หลักการ คือ เกษตรกรต้องมีต้นมันสำปะหลังอยู่ในแปลงปลูก ณ วันทำประชาคม) ทั้งนี้ เกษตรกรรายครัวเรือนสามารถใช้สิทธิ 1 ครั้งในรอบปีการผลิต 2) การออกหนังสือรับรองเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตรออกหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่ผ่านการทำประชาคมแล้ว ตั้งแต่ 1 ก.ค. — 31 ธ.ค. 2553 3) การทำสัญญาประกันรายได้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทำสัญญาฯ กับเกษตรกร ตั้งแต่ 1 ก.ค. 2553 — 15 ม.ค. 2554 โดยเกษตรกรสามารถระบุวันใช้สิทธิในวันที่ทำสัญญาได้ 4) ระยะเวลาใช้สิทธิประกัน เกษตรกรใช้สิทธิประกันได้ทันทีตั้งแต่วันเก็บเกี่ยวที่ระบุในหนังสือรับรองแต่ไม่ก่อน 1 ต.ค. 2553 โดยให้เกษตรกรเลือกใช้สิทธิด้วยตนเองและเปิดโอกาสให้มีการเปลี่ยนแปลงวันใช้สิทธิได้แต่จะต้องแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 วันทำการก่อนถึงวันใช้สิทธิที่กำหนดไว้เดิม และต้องไม่เกิน วันที่ 31 พ.ค. 2554 5) การประชาสัมพันธ์โครงการฯ เดือนพ.ค. 2553 — พ.ค. 2554 เกี่ยวกับ (1)นโยบายการประกันรายได้ (2)การขึ้นทะเบียนการปลูกมันสำปะหลัง ปี 2553/54 (3) การทำสัญญากับ ธ.ก.ส. (4) เกณฑ์กลางอ้างอิง และอื่น ๆ 6) การประกาศเกณฑ์กลางอ้างอิง โดยคณะอนุกรรมการกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงมันสำปะหลัง เป็นผู้กำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงของโครงการฯ และประกาศให้ผู้เกี่ยวข้องทราบทุก 15 วัน เริ่ม ครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2553 — 31 พ.ค. 2554 7) ระยะเวลาโครงการ เดือนพ.ค. 2553 — ก.ค. 2554

2.1.6 เกษตรกรผู้มีสิทธิทำสัญญา เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2553/54 กับกรมส่งเสริมการเกษตร โดยมีหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนการปลูกมันสำปะหลัง (ทพศ.2/3) ปี 2553/54 ที่ออกโดยกรมส่งเสริมการเกษตรไปทำสัญญาประกันรายได้กับ ธ.ก.ส.

2.1.7 การขอใช้สิทธิรับเงินชดเชยส่วนต่างราคา เกษตรกรรายครัวเรือนที่ทำสัญญาสามารถขอใช้สิทธิรับเงินส่วนต่างราคาตามโครงการฯ ตามที่ได้ทำสัญญากับ ธ.ก.ส. ไม่เกินครัวเรือนละ 100 ตัน จาก ธ.ก.ส. สาขาที่ทำสัญญาภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยไม่ต้องมีการส่งมอบหัวมันสด

2.2 งบประมาณดำเนินโครงการฯ ประมาณการค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2553/54 ของหน่วยงานดำเนินโครงการฯ ได้แก่ ธ.ก.ส. กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมการค้าภายใน โดยพิจารณาจากข้อมูลการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคาในปี 2552/53 คาดว่าจะใช้งบประมาณดำเนินการรวม 2,927.059 ล้านบาท ดังนี้

2.2.1 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร วงเงินรวม 2,859.308 ล้านบาท ประกอบด้วย 1) เงินจ่ายชดเชยรายได้ให้เกษตรกร 2,700 ล้านบาท (คิดจากอัตราชดเชย ปี 2552/53 ซึ่งเฉลี่ยตันละ 120 บาท x จำนวนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนปี 2552/53 จำนวน 448,042 ราย x ปริมาณผลผลิตเฉลี่ยต่อราย 50.23 ตัน) 2) ค่าบริหารโครงการเหมาจ่าย 156.800 ล้านบาท (เหมาจ่าย คนละ 350 บาท x จำนวนเกษตรกร 448,042 คน) และ 3) ค่าชดเชยต้นทุนเงิน 2.508 ล้านบาท (กรณีใช้เงินทุน ธ.ก.ส. คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ1.98 ของวงเงินชดเชยรายได้ ระยะเวลา 2 เดือน เดือนที่ 1 ต้นเงิน 570 ล้านบาท เดือนที่ 2 ต้นเงิน 950 ล้านบาท) ทั้งนี้ ให้ ธ.ก.ส. ใช้เงินทุน ธ.ก.ส. สำรองจ่ายชดเชยส่วนต่างให้แก่เกษตรกรระหว่างที่ยังไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณ

2.2.2 กรมส่งเสริมการเกษตร วงเงิน 65.251 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2553/54 จำนวน 49.203 ล้านบาท (รวมค่าใช้จ่ายในการเตรียมการ ติดตามความก้าวหน้าและประสานการตรวจสอบ/แก้ไขข้อมูล และค่าบริหารจัดการ) การตรวจสอบข้อมูลในพื้นที่ 16.048 ล้านบาท

2.2.3 กรมการค้าภายใน วงเงิน 2.5 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมคณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลัง คณะอนุกรรมการ การกำกับดูแล ติดตาม ตรวจสอบโครงการ และอื่นๆ ทั้งนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเบิกจ่ายเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินการได้ตั้งแต่วันเริ่มต้นโครงการ (เดือนพฤษภาคม 2553)

2. ข้อเท็จจริง

2.1 การดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2552/53 (14 ก.ค.2553) มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง 448,261 ราย ผ่านการประชาคม 445,776 ราย มีเกษตรกรที่ทำสัญญากับ ธ.ก.ส. 427,518 ราย และ ธ.ก.ส. โอนเงินชดเชยส่วนต่างให้เกษตรกร 380,374 ราย จำนวน 428,945 สัญญา เป็นเงิน 2,432.487 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 88.97 ของเกษตรกรที่ทำสัญญา ทั้งนี้เกษตรกรขอใช้สิทธิมากที่สุดในเดือน พ.ย. 2552 คิดเป็นร้อยละ 73.05 ของเกษตรกรที่ได้รับเงินชดเชย เป็นเงิน 2,038 ล้านบาท

2.2 การระบาดของเพลี้ยแป้งและภาวะภัยแล้ง ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตหัวมันสด ปี 2553/54 ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรประมาณการลดลงเหลือ 19.99 ล้านตัน (สมาคมการค้ามันเส้น/แป้งมัน คาดการณ์ว่า จะมีผลผลิตไม่เกิน 15 ล้านตัน) ลดลงจากปี 2551/52 และปี 2552/53 ร้อยละ 27.06 และ8.89 ตามลำดับ เทียบกับปริมาณความต้องการใช้เพื่อแปรรูปเป็นมันเส้นและแป้งมันประมาณ 30 — 32 ล้านตัน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาหัวมันสดที่เกษตรกรขายได้เคลื่อนไหวอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าราคาประกันที่กำหนดไว้ กก.ละ 1.90 บาท (หัวมันสดเชื้อแป้ง 25%) ปัจจุบันเกษตรกร ในแหล่งผลิตจังหวัดนครราชสีมาจำหน่ายหัวมันสด (เชื้อแป้ง 25%) ได้ราคา กก.ละ 3.00 — 3.15 บาท จึงคาดว่าเกษตรกรจะเข้าร่วมโครงการน้อยกว่าปี 2552/53 ที่ผ่านมา และแนวโน้มอาจจะไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย เนื่องจากราคาอ้างอิงสูงกว่าราคาประกัน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 กรกฎาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ