ผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 8/2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 21, 2010 14:50 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามมติคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (รศก.) ครั้งที่ 8/2553 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2553 ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจเสนอ

สาระสำคัญ

คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (รศก.) ได้มีการประชุม ครั้งที่ 8/2553 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2553 เวลา 08.30 น. ณ ห้องประชุมสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. รายงานสถานการณ์การส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รายงานสถานการณ์การส่งเสริมการลงทุน โดยมีสาระสำคัญ และมติคณะกรรมการ รศก. ดังนี้

1.1 สรุปสาระสำคัญ

1.1.1 การลงทุนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 (มกราคม — มิถุนายน)

1) การลงทุนที่ขอรับการส่งเสริม ในช่วงมกราคม — มิถุนายน 2553 มีมูลค่า 192,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.4 ส่วนจำนวนโครงการเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.3 จาก 432 โครงการ เป็น 632 โครงการ ซึ่งก่อให้เกิดการจ้างงาน 76,656 คน ในส่วนของจำนวนโครงการที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริมในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 อยู่ที่ระดับเฉลี่ย 105 โครงการต่อเดือน เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 72 โครงการต่อเดือน ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ และพลังงานทดแทน ชิ้นส่วนยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

2) หมวดอุตสาหกรรมที่มีผู้สนใจขอรับส่งเสริมลงทุน 4 อันดับแรก ประกอบด้วย อันดับ 1 หมวดบริการและสาธารณูปโภค มูลค่าการลงทุนรวม 85,100 ล้านบาท โครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ เชื้อเพลิงชีวมวล พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ อันดับ 2 อุตสาหกรรมเหมืองแร่ เซรามิกส์ และโลหะขั้นมูลฐาน มูลค่าการลงทุนรวม 26,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วประมาณ 6 เท่า เนื่องจากมีโครงการลงทุนผลิตเหล็กรีดร้อน มูลค่าการลงทุน 22,000 ล้านบาท อันดับ 3 อุตสาหกรรมโลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง มูลค่าการลงทุนรวม 23,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 85 มีโครงการที่สำคัญ ได้แก่ กิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และยางรถยนต์ และโครงการผลิตเครื่องจักรกลทางการเกษตร และอันดับ 4 อุตสาหกรรมเกษตร มูลค่าการลงทุนรวม 22,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 55 มีโครงการลงทุน ที่สำคัญ ได้แก่ กิจการผลิตน้ำมันพืช กิจการผลิตอาหารสัตว์ และกิจการอบพืชไซโล

3) การกระจายขนาดการลงทุน การลงทุนอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก (เงินลงทุนไม่เกิน 200 ล้านบาท) มีจำนวน 481 โครงการ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 76 ของจำนวนโครงการที่ขอรับส่งเสริมทั้งหมด แต่หากพิจารณาในด้านมูลค่าการลงทุน มีมูลค่าการลงทุนรวม 25,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 13 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด ในขณะที่การลงทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ (เงินลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท) มีจำนวน 32 โครงการ ลงทุนรวมกว่า 116,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60 ของมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น

4) การกระจายสัดส่วนผู้ถือหุ้น โครงการที่คนไทยถือหุ้นทั้งสิ้นมีจำนวน 240 โครงการ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 38 ของจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมทั้งหมดเงินลงทุนมีมูลค่าทั้งสิ้น 90,700 ล้านบาท ในขณะที่โครงการต่างชาติถือหุ้นทั้งสิ้นมีจำนวน 237 โครงการ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37 ของจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมทั้งหมด เงินลงทุนมีมูลค่าทั้งสิ้น 63,500 ล้านบาท

5) ประเทศที่มีการลงทุนในไทย 4 อันดับแรก ประกอบด้วย อันดับ 1 ประเทศญี่ปุ่น มีมูลค่าการลงทุน 38,626 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39 ของมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติทั้งสิ้น อันดับ 2 ประเทศสเปน มีมูลค่าการลงทุน 22,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22 ของมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศทั้งสิ้น โดยเป็นการลงทุนโครงการผลิตเหล็กรีดร้อนของบริษัทจากแคนาดาที่ตั้งฐานอยู่ในสเปน อันดับ 3 ประเทศสิงคโปร์ มีมูลค่าการลงทุน 8,299 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8 ของมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศทั้งสิ้น ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นที่ตั้งฐานอยู่ในสิงคโปร์ และอันดับ 4 ประเทศจีน มีมูลค่าลงทุนรวม 6,980 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7 ของมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศทั้งสิ้น

1.1.2 สถานภาพของโครงการที่ได้รับการส่งเสริมในช่วงปี 2549 — 2552 โครงการที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริมในช่วงดังกล่าวมีจำนวน 5,314 โครงการ ได้รับอนุมัติ 4,805 โครงการคิดเป็นร้อยละ 90 ของโครงการที่ยื่นคำขอทั้งสิ้น ในจำนวนนี้ มีโครงการที่เริ่มดำเนินการแล้ว จำนวน 3,017 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 72 ของโครงการที่ออกบัตรส่งเสริมทั้งสิ้น สำหรับโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมในปี 2552 จำนวน 1,530 โครงการ ยังดำเนินการไม่มากนัก เนื่องจากจะต้องใช้เวลา 2 — 3 ปีในการเตรียมการก่อนที่จะเริ่มดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้อนุมัติให้การส่งเสริมแล้วจำนวน 1,099 โครงการ และกว่าร้อยละ 75 ของโครงการที่ได้รับอนุมัติได้มาขอออกบัตรส่งเสริมแล้วจำนวน 835 โครงการ

1.2 มติที่ประชุม รับทราบและมอบหมายสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนรับข้อสังเกตของคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจไปพิจารณาดำเนินการ พร้อมทั้งจัดทำสรุปภาวะการลงทุนของนักลงทุนไทยในต่างประเทศ และรายงานคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจในคราวต่อไป

2. ความก้าวหน้าการดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ โดยมีสาระสำคัญ ฝ่ายเลขานุการ มีความเห็นเพิ่มเติม และมติคณะกรรมการ รศก. ดังนี้

2.1 สรุปสาระสำคัญ

2.1.1 โครงการลงทุนที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการ ปัจจุบันมีการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อการพัฒนาประเทศใน 5 สาขาที่สำคัญ ได้แก่ สาขาขนส่ง พลังงาน สื่อสาร สาธารณูปการ และการจัดการทรัพยากรน้ำ ที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว มีจำนวนทั้งสิ้น 54 โครงการ วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 786,805.38 ล้านบาท โดยเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติในช่วงระหว่างปี 2552 — 2553 จำนวน 31 โครงการ วงเงินรวม 322,364.39. ล้านบาท ที่สำคัญได้แก่ โครงการภายใต้แผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (เพิ่มเติม) เช่น โครงการปรับปรุงทางระยะที่ 5 และ 6 การปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัย และการปรับปรุงสะพาน เป็นต้น โครงการจัดหาเครื่องบิน ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ปี 2553 — 2557 จำนวน 15 ลำ โครงการ Fiber to the x (FTTx) โครงการขยายโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ CDMA ในส่วนภูมิภาค โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี — พุมดวง จังหวัดสุราษฎร์ธานี โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรี และโครงการผันน้ำจากจังหวัดจันทบุรีไปยังพื้นที่กักเก็บน้ำจังหวัดระยอง สำหรับสถานการณ์ดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่สำคัญ สรุปได้ดังนี้

1) สาขาขนส่ง จำนวน 31 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 610,761.03 ล้านบาท โดยมีสถานะการดำเนินการของโครงการลงทุนที่สำคัญ เช่น

1.1) ระบบราง เป็นการลงทุนของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทั้งหมด โดยมีการลงทุนที่สำคัญ เช่น (1) โครงการก่อสร้างทางคู่ช่วงฉะเชิงเทรา — ศรีราชา — แหลมฉบัง ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง และมีความคืบหน้าร้อยละ 58.27 ล่าช้ากว่าแผนร้อยละ 21.58 (2) โครงการจัดหารถจักรน้ำหนักกดเพลา 20 ตัน/เพลา 7 คัน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการประกวดราคา (3) โครงการภายใต้แผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของ รฟท. (เพิ่มเติม) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2553 ที่มีความพร้อมและสามารถดำเนินการได้ทันที จำนวน 11 รายการ วงเงิน 87,529 ล้านบาท ที่สำคัญ เช่น โครงการปรับปรุงทางระยะที่ 5 และ 6 การปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัย และการปรับปรุงสะพาน เป็นต้น ปัจจุบัน รฟท. อยู่ระหว่างการดำเนินการประกวดราคา และ (4) โครงการรถไฟฟ้าเชื่อมโยงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบระบบรถไฟฟ้า และการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อให้บริการขนส่งผู้โดยสารของโครงการ

1.2) ระบบรถไฟฟ้า จำนวน 7 โครงการ วงเงินลงทุน 296,419.35 ล้านบาท ประกอบด้วย การลงทุนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จำนวน 3 โครงการ และ รฟท. จำนวน 1 โครงการ ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว และมีความคืบหน้าในการดำเนินงาน ดังนี้

  • โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ — บางซื่อ (รฟม.) อยู่ระหว่างการก่อสร้างงานโยธาของโครงการในสัญญาที่ 1 2 และ 3 อยู่ระหว่างเจรจากับแหล่งเงินกู้ในสัญญาที่ 6 (งานระบบราง) และอยู่ระหว่างการจัดหาเอกชนร่วมลงทุนในระบบไฟฟ้าและรถไฟฟ้า (สัญญาที่ 4 และ 5)
  • โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ — ท่าพระ และ ช่วงหัวลำโพง — บางแค อยู่ระหว่างประเมินผลการประกวดราคาก่อสร้างงานโยธา (สัญญาที่ 1 2 4 และ 5) สำหรับการจัดหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนฯ กระทรวงคมนาคม อยู่ระหว่างการนำเสนอโครงการตามขั้นตอน พ.ร.บ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535
  • โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต — สะพานใหม่ และช่วงแบริ่ง — สมุทรปราการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมของโครงการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 อย่างไรก็ตาม ช่วงหมอชิต — สะพานใหม่ ยังไม่ได้ข้อยุติเรื่องหน่วยงานเจ้าของโครงการระหว่างกรุงเทพมหานคร และ รฟม. นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการจัดกรรมสิทธิ์ของโครงการ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงที่ตั้งของศูนย์ซ่อมบำรุง
  • โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ — ตลิ่งชัน และ ช่วงบางซื่อ — รังสิต (รฟท.) ปัจจุบันช่วงบางซื่อ — ตลิ่งชัน อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยมีความคืบหน้าร้อยละ 26.46 ล่าช้ากว่าแผนร้อยละ 2.28 คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ม.ค. 2555 นอกจากนี้ รฟท. และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับเพิ่มสถานีเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พนักงาน กฟผ. สำหรับช่วงบางซื่อ — รังสิต ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการเปิดประกวดราคา คาดว่าก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2558

1.3) โครงการพัฒนาถนน จำนวน 6 โครงการ วงเงินลงทุน 103,334.62 ล้านบาท ประกอบด้วย การลงทุนของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท โดยมีการลงทุนที่สำคัญ เช่น โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง จังหวัดนครพนม โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย และโครงการถนนไร้ฝุ่น เป็นต้น ซึ่งการดำเนินโครงการเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

1.4) ขนส่งทางน้ำ มีการลงทุนที่สำคัญ คือ โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือแห่งที่ 2 จังหวัดเชียงราย วงเงินลงทุน 1,617.16 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

1.5) ขนส่งทางอากาศ วงเงินลงทุน 95,200.16 ล้านบาท มีการลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ โครงการจัดหาเครื่องบิน ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ปี 25533 — 2557 จำนวน 15 ลำ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำข้อตกลงในการเช่าซื้อเครื่องบินและอยู่ระหว่างการคัดเลือกแบบเครื่องยนต์ที่จะเช่าจำนวน 8 ลำ และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองราคากับบริษัทที่ปรึกษาบริหารโครงการ

2) สาขาพลังงาน จำนวน 7 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 90,157.90 ล้านบาท ที่สำคัญ ได้แก่ (1) การลงทุนของการไฟฟ้านครหลวง เช่น แผนงานปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า ฉบับที่ 10 ปี 2551-2554 แผนงานเปลี่ยนระบบสายอากาศเป็นสายใต้ดิน ปี 2551-2556 เป็นต้น (2) การลงทุนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้แก่ โครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบจำหน่าย และโครงการขยายเขตไฟฟ้าให้พื้นที่ทำกินทางการเกษตร เป็นต้น และ (3) การลงทุนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เช่น โครงการระบบส่งเพื่อรับซื้อไฟฟ้า จากโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนน้ำงึม 3 เป็นต้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

3) สาขาสื่อสาร จำนวน 3 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 17,300.0 ล้านบาท เป็นการลงทุนของ บมจ. กสท โทรคมนาคม เช่น โครงการเข้าซื้อกิจการ CDMA ในส่วนกลาง โดยการซื้อทรัพย์สิน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมการจัดตั้งบริษัทลูก โครงการ Fiber to the x (FTTx) และโครงการขยายโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ CDMA ในส่วนภูมิภาค ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการเปิดประกวดราคา เป็นต้น

4) สาขาสาธารณูปการ จำนวน 2 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 6,677.45 ล้านบาท เป็นการลงทุนของการประปาส่วนภูมิภาค มีการลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ โครงการเพื่อการพัฒนาประจำปี 2551 ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จร้อยละ 75 และโครงการเพื่อการพัฒนาประจำปี 2553 ปัจจุบันเริ่มก่อสร้างแล้วและมีความคืบหน้าร้อยละ 10

5) สาขาการจัดการทรัพยากรน้ำ จำนวน 11 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 61,909 ล้านบาท โดยมีโครงการสำคัญที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการประกวดราคาก่อสร้าง ได้แก่ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี — พุมดวง จังหวัดสุราษฎร์ธานี โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรี โครงการผันน้ำจากจังหวัดจันทบุรีไปยังพื้นที่กักเก็บน้ำจังหวัดระยอง เป็นต้น

2.1.2 โครงการลงทุนที่อยู่ระหว่างการจัดเตรียมโครงการเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอน จำนวน 40 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 661,467.33 ล้านบาท ประกอบด้วย

1) สาขาขนส่ง จำนวน 20 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 452,563.07 ล้านบาท โดยมีโครงการลงทุนที่สำคัญ ได้แก่

1.1) การพัฒนาระบบรางภายใต้แผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (เพิ่มเติม) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2553 ในส่วนโครงการที่จะต้องดำเนินการศึกษาความเหมาะสม และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมจำนวน 10 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 89,279 ล้านบาท เช่น โครงการก่อสร้างทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา — คลองสิบเก้า — แก่งคอย ทางคู่ ช่วงลพบุรี — ปากน้ำโพ และช่วงมาบกะเบา — นครราชสีมา เป็นต้น

1.2) โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ของ ทอท. ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา

1.3) โครงการจัดหารถโดยสารปรับอากาศใหม่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง จำนวน 4,000 คัน ของ ขสมก.อยู่ระหว่างการรายงานผลการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2552 ต่อคณะรัฐมนตรี

1.4) โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือปากบารา อยู่ระหว่างขั้นตอนการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2553 มีมติมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปพิจารณาปรับรูปแบบโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับข้อจำกัดด้านกายภาพและข้อจำกัดด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมของพื้นที่หลังท่า โดยให้ความสำคัญลำดับสูงกับการป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการยอมรับของประชาชนในพื้นที่ และควรพิจารณาการใช้ประโยชน์ท่าเรือน้ำลึกปากบาราสำหรับรองรับเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ด้วย

1.5) โครงการที่จะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุน ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง (รฟท.) จำนวน 4 เส้นทาง โครงการก่อสร้างทางพิเศษ ช่วงศรีรัช — วงแหวนรอบนอก (การทางพิเศษแห่งประเทศไทย) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน — สระบุรี — นครราชสีมา (กรมทางหลวง) โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบังและโครงการพัฒนาท่าเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย และการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนระยะต่อไป เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ และพิจารณารูปแบบการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนที่เหมาะสม ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงทั้ง 4 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ - หาดใหญ่ กรุงเทพฯ - หนองคาย กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ - ระยอง คณะกรรมการเพื่อพิจารณาแนวทางการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในรูปแบบ PPPs ในการประชุมครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2553 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการทำ Market Sounding ของโครงการโดยคาดว่าจะดำเนินการในช่วงเดือนสิงหาคม 2553

2) สาขาพลังงาน จำนวน 16 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 171,558.73 ล้านบาท โดยมีโครงการลงทุนที่สำคัญที่อยู่ระหว่างการดำเนินการเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ได้แก่ การลงทุนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เช่น โครงการโรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 4 และ โครงการโรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 2 เป็นต้น การลงทุนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เช่น โครงการพัฒนาระบบสายส่งและสถานีไฟฟ้าระยะที่ 9 ส่วนที่ 2 และ โครงการก่อสร้างระบบจำหน่ายด้วยสายเคเบิ้ลใต้น้ำไปยังเกาะมะพร้าว เกาะนาคาใหญ่ และเกาะพระทอง เป็นต้น การลงทุนของการไฟฟ้านครหลวง เช่น แผนงานเปลี่ยนระบบสายอากาศเป็นสายใต้ดิน ปี 2552 — 2559 เป็นต้น

3) สาขาสื่อสาร จำนวน 3 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 35,327.00 ล้านบาท เป็นการลงทุนของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 ขณะนี้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวนแผนธุรกิจ และโครงการปรับเปลี่ยนโครงข่ายเป็น NGN อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และการลงทุนของ บมจ. กสท โทรคมนาคม ได้แก่ โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโครงข่าย IP ขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

4) สาขาสาธารณูปการ จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการเพื่อการพัฒนาประจำปี 2554 (15 โครงการ) วงเงินลงทุน 2,018.53 ล้านบาท ของการประปาส่วนภูมิภาค ปัจจุบันอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

2.2 ฝ่ายเลขานุการมีความเห็นเพิ่มเติม เพื่อให้การดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่สำคัญสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย ดังนี้

2.2.1 เร่งรัดการดำเนินโครงการลงทุนสำคัญในสาขาขนส่งที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ดำเนินการโครงการแล้ว ดังนี้

1) โครงการก่อสร้างทางคู่ ช่วงแหลมฉบัง —ศรีราชา — แหลมฉบัง เร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2554 เพื่อเพิ่มความจุในเส้นทางรถไฟสายตะวันออกให้สามารถรองรับปริมาณการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟไปยังท่าเรือแหลมฉบังได้เพิ่มมากขึ้น และคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรถไฟจาก ICD ลาดกระบัง — ท่าเรือแหลมฉบัง จากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 35 ซึ่งหากโครงการดังกล่าวมีความล่าช้าในการดำเนินการจะส่งผลให้ปัญหาการจราจรติดขัดในช่วงเส้นทางเข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบังมีความรุนแรงมากขึ้น

2) โครงการลงทุนภายใต้แผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (เพิ่มเติม) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2553 ที่มีความพร้อมและสามารถดำเนินการได้ทันที จำนวน 11 รายการ ให้ กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ติดตามเร่งรัดการดำเนินการลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินการให้คณะรัฐมนตรีทราบทุก 6 เดือน นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม ควรเร่งรัดการปรับโครงสร้างการรถไฟแห่งประเทศไทยให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2553

3) โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ — ตลิ่งชัน และช่วงบางซื่อ — รังสิต ให้ กระทรวงคมนาคม และ รฟท. เร่งดำเนินการก่อสร้างช่วงบางซื่อ — รังสิต เพื่อให้สามารถเปิดบริการตลอดเส้นทางได้ตามเป้าหมาย ซึ่งจะช่วยให้จำนวนผู้โดยสารในโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนเพิ่มมากขึ้น

4) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต — สะพานใหม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาหาข้อยุติเรื่องหน่วยงานเจ้าของโครงการการเชื่อมต่อเส้นทางกับโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ และการพิจารณารูปแบบการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้โดยเร็วต่อไป

5) โครงการรถไฟฟ้าเชื่อมโยงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) รฟท. ควรเร่งรัดการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อให้บริการขนส่งผู้โดยสารของโครงการโดยเร็ว เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ภายในสิงหาคม 2553

6) โครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด ควรเร่งรัดการก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศได้ทันความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะปริมาณผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของปริมาณนักท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากปัจจุบันท่าอากาศยานภูเก็ตมีความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 6.5 ล้านคน/ปี ในขณะที่สิ้นปี 2553 จะมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 6.25 ล้านคน/ปี

2.2.2 การดำเนินโครงการลงทุนสำคัญที่อยู่ระหว่าง การจัดเตรียมโครงการเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอน ควรให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่เริ่มโครงการ เพื่อให้เกิดความยอมรับของประชาชนในพื้นที่ และดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยมีโครงการสำคัญ ดังนี้

1) โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 เร่งรัดการนำเสนอโครงการให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยเร็ว เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นจาก 45 ล้านคน/ปี เป็น 60 ล้านคน/ปี ซึ่งในปี 2553 ผู้โดยสารประมาณ 43 ล้านคน เพื่อขึ้นจากปี 2552 ที่มีผู้โดยสารจำนวน 40 ล้านคน

2) โครงการก่อสร้างทางคู่ภายใต้แผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (เพิ่มเติม) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2553 เช่น ทางคู่ช่วงลพบุรี — ปากน้ำโพ ช่วงมาบกะเบา — นครราชสีมา เป็นต้น เพื่อเพิ่มความจุของทางและจะสามารถรองรับการขนส่งสินค้าทางรถไฟได้เพิ่มมากขึ้น

3) โครงการลงทุนในสาขาสื่อสาร กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ควรเร่งพิจารณาความเหมาะสมของแผนธุรกิจสำหรับการดำเนินโครงการพัฒนาระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 และเร่งจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงของประเทศ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงและลดความซ้ำซ้อนในการลงทุน และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

2.3 มติคณะกรรมการ รศก.

2.3.1 รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ตามที่ฝ่ายเลขานุการเสนอ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจและความเห็นของฝ่ายเลขานุการไปประกอบการพิจารณาเร่งรัดการดำเนินการต่อไป

2.3.2 มอบหมายฝ่ายเลขานุการ ประสานกับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการสำคัญด้านการศึกษา และด้านสาธารณสุข และรายงานคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 กรกฎาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ