ผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 9 / 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 21, 2010 14:53 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (รศก.) ครั้งที่ 9/2553 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2553 และเห็นชอบตามมติคณะกรรมการ รศก. ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจเสนอ ดังนี้

1. รับทราบสถานะความคืบหน้าและเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่และออกใบอนุญาตบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 เท่าที่ได้มีการประกาศอยู่ และการออกกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมฉบับใหม่

2. เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมตามแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ฉบับที่ 2) ของประเทศไทย พ.ศ. 2552 — 2556 เพื่อศึกษารูปแบบและความเป็นไปได้ในการดำเนินการที่จะนำไปสู่การแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมที่เป็นธรรมและเสมอภาค ในรูปแบบเดียวกัน และมีองค์กรกำกับดูแลองค์กรเดียว ทั้งนี้ จะต้องไม่กระทบต่อสิทธิทางกฎหมายที่มีอยู่ตามสัญญาสัมปทาน และไม่กระทบต่อรายได้ของภาครัฐที่พึงจะได้ รวมทั้งการใช้ทรัพย์สินของระบบเครือข่ายโทรคมนาคมให้มีประโยชน์สูงสุด โดยมอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายใน 1 เดือน เพื่อใช้ประกอบการหารือกับ กทช. ต่อไป โดยให้มีองค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ ดังนี้

องค์ประกอบ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นประธานคณะทำงาน คณะทำงานประกอบด้วย นางสาวสุภา ปิยะจิตติ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ นายรอม หิรัญพฤกษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิที่กระทรวงการคลังแต่งตั้ง จำนวน 2 คน โดยมี ผู้แทนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นเลขานุการ ผู้แทนกระทรวงการคลัง เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

อำนาจหน้าที่

1) ศึกษารูปแบบและความเป็นไปได้ในการดำเนินการที่จะนำไปสู่การแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมที่เป็นธรรมและเสมอภาค ในรูปแบบเดียวกัน และมีองค์กรกำกับดูแลองค์กรเดียว ทั้งนี้ จะต้องไม่กระทบต่อสิทธิทางกฎหมายที่มีอยู่ตามสัญญาสัมปทาน และไม่กระทบต่อรายได้ของภาครัฐที่พึงจะได้ รวมทั้งการใช้ทรัพย์สินของระบบเครือข่ายโทรคมนาคมให้ได้ประโยชน์สูงสุด

2) ศึกษาประเด็นข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และสัญญาสัมปทานเดิมของระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 2 เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานให้ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

3) ประเมินผลกระทบทางการเงินต่อภาครัฐ ซึ่งรวมถึงบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) รวมทั้ง ผลประโยชน์ของผู้ใช้บริการ

สาระสำคัญ

คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (รศก.) ได้มีการประชุม ครั้งที่ 9/2553 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2553 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยได้พิจารณาเรื่องแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมตามแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ฉบับที่ 2) ของประเทศไทย พ.ศ. 2552 — 2556 ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นเรื่องสืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2552 ที่รับทราบและเห็นชอบ ตามผลการประชุมคณะกรรมการ รศก. ครั้งที่ 15/2552 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2552 ที่มอบหมายให้กระทรวงการคลัง และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รับไปพิจารณาแนวทางการแก้ไขสัญญาสัมปทานระหว่างภาคเอกชน กับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (บมจ. ทีโอที) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (บมจ. กสท โทรคมนาคม) ให้ถูกต้องตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา และสอดคล้องกับแผนแม่บทการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ฉบับที่ 2) ที่ระบุให้พิจารณาแนวทางทำให้สัญญาสัมปทานต่างๆ ที่มีอยู่สิ้นผลภายในปี 2553 และให้ผู้ประกอบการภาครัฐเตรียมแผนรองรับการสิ้นสภาพของสัญญาสัมปทาน เพื่อให้สามารถดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ได้รับมาให้เป็นประโยชน์อย่างเหมาะสมต่อไป

ข้อเสนอแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมตามแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ฉบับที่ 2) ของประเทศไทย พ.ศ. 2552 — 2556

กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และกระทรวงการคลัง ได้รายงานถึงสภาพปัญหาการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และสถานะความคืบหน้าและเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่และออกใบอนุญาตบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 และมีความเห็นร่วมกันว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศนั้น ควรใช้แนวทางดำเนินการยุติสัญญาสัมปทานเดิมของระบบ 2G และอนุญาตให้เอกชนผู้รับสัมปทานดำเนินธุรกิจภายใต้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) โดยต้องเป็นไปตามความสมัครใจของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย และมีการพิจารณาค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์ให้กับ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม รวมทั้ง ดำเนินการให้มีการเช่าสินทรัพย์เดิมภายใต้สัญญาสัมปทานของระบบ 2G ตลอดจนประเด็นที่เป็นปัญหาทางกฎหมายและข้อฟ้องร้องระหว่างเอกชนคู่สัญญาและหน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการต่อไปตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยรูปแบบการดำเนินการเห็นควรให้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อรับผิดชอบดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 กรกฎาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ