ปัญหาความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการของบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 21, 2010 14:56 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้รายงานความคืบหน้าผลการดำเนินการ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการของบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ให้คณะรัฐมนตรีทราบ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ และมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย (จังหวัดสระบุรี) ดำเนินการตรวจสอบ ติดตาม การประกอบกิจการของบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาเกี่ยวกับน้ำเสียและกลิ่น เนื่องจากยังมีปัญหาข้อร้องเรียนอยู่มาก

สาระสำคัญของเรื่อง

1. สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) ได้แจ้งว่านายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรมจัดทำแผนและกำหนดมาตรการต่าง ๆ ในการตรวจสอบการประกอบกิจการของบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) อย่างสม่ำเสมอเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป

2. กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนและกำหนดมาตรการในการตรวจสอบการประกอบกิจการของบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2553 เพื่อดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้แทนจาก 3 กระทรวง คือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นคณะทำงาน

3. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มีแนวทางการดำเนินการ ดังนี้

3.1 ดำเนินการติดตามตรวจสอบเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน แหล่งน้ำใต้ดินอย่างต่อเนื่อง จำนวน 4 ครั้งต่อปี

3.2 ดำเนินการติดตามตรวจสอบเฝ้าระวังคุณภาพอากาศโดยทำการตรวจวัดสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) และกลิ่น อย่างต่อเนื่อง จำนวน 4 ครั้งต่อปี

3.3 ประสานกระทรวงอุตสาหกรรมตรวจสอบการประกอบกิจการของบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ตามเงื่อนไขการได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานและมาตรการตามรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

3.4 ประสานกระทรวงอุตสาหกรรมให้มีการติดตามเฝ้าระวังการประกอบกิจการของบริษัทเบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) โดยติดตั้งกล้องวงจรปิดภายในบริเวณพื้นที่ฝังกลบและต่อเชื่อมสัญญาณภาพไปที่จังหวัดสระบุรี เพื่อให้บริษัทฯ ปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงาน

3.5 ทำการสำรวจสภาพทางธรณีเคมีเพื่อตรวจสอบองค์ประกอบของดินและหินบริเวณพื้นที่บ่อฝังกลบกากของเสียอุตสาหกรรมของบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) เพื่อศึกษาปริมาณโลหะหนักที่มีอยู่ในธรรมชาติและวิเคราะห์หาที่มาของโลหะหนักที่ตรวจพบในบ่อสังเกตการณ์ภายในบริเวณพื้นที่บ่อฝังกลบกากของเสียอุตสาหกรรมของบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน)

3.6 หารือกระทรวงสาธารณสุขให้ดำเนินการเกี่ยวกับระบาดวิทยาเพื่อหาความเชื่อมโยงระหว่างข้อมูลผลการตรวจสุขภาพของประชาชนกับแหล่งกำเนิดมลพิษ

3.7 จัดหาน้ำสะอาดโดยทำความสะอาดบ่อน้ำบาดาลของประชาชนโดยรอบพื้นที่บ่อฝังกลบกากของเสียอุตสาหกรรมของบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ การดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าว ปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนและกำหนดมาตรการในการตรวจสอบการประกอบกิจการของบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) เพื่อดำเนินการตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีโดยมีผู้แทนจากทั้ง 3 กระทรวง ร่วมเป็นคณะทำงานและได้มีการประชุมคณะทำงานฯ แล้ว 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์, 9 มีนาคม และ 1 เมษายน 2553 ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เสนอแนวทางการดำเนินการทั้ง 7 ข้อให้คณะทำงานพิจารณาดำเนินการด้วยแล้ว และกระทรวงอุตสาหกรรมจะเป็นผู้รายงานผลดำเนินการของคณะทำงานฯ ให้นายกรัฐมนตรีทราบต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 กรกฎาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ