มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ที่มีข้อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเป็นการเฉพาะ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 21, 2010 15:11 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2552 (มติ 2 มติ 4 มติ 5 และมติ 8) ตามที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 สช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการได้นำเสนอมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2552 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 16-18 ธันวาคม 2552 ตามบทบัญญัติมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่มีข้อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเป็นการเฉพาะในระเบียบวาระเพื่อพิจารณา จำนวน 4 มติ ซึ่งภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้พิจารณาเอกสารรายงานและร่างมติในระเบียบวาระดังกล่าวตามที่คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจสช.) เสนอ ซึ่งจัดทำโดยคณะทำงานเฉพาะประเด็นที่ คจสช. โดยคณะอนุกรรมการวิชาการ แต่งตั้ง ทั้งนี้คณะทำงานดังกล่าวประกอบด้วยบุคลากรหลายภาคส่วน โดยมีสาระสำคัญในแต่ละมติ ดังนี้

1. มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มติ 2 เรื่อง เรื่อง แผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานการพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กรณีภาคใต้ ได้พิจารณาและมีมติ ดังนี้

1.1 ขอให้คณะรัฐมนตรี พิจารณามอบหมายให้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติ ทบทวนร่างแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืนและแผนพัฒนาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นแผนบูรณาการและมีหลักการสำคัญ ดังนี้

(1) ให้เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต และพัฒนาการศึกษาที่สร้างคนให้มีคุณภาพสู่สมดุลทางด้านสุขภาวะ

(2) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ ตามความต้องการและความจำเป็นของท้องถิ่น โดยเป็นอุตสาหกรรมที่คำนึงถึงการรักษาฐานทรัพยากรไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตและสุขภาพชุมชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

(3) ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต วัฒนธรรมท้องถิ่น และการกระจายรายได้ควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ

(4) ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าสมุนไพร พื้นที่ชุ่มน้ำ การส่งเสริมการเกษตรยั่งยืน และการพัฒนาระบบเศรษฐกิจพอเพียง

(5) ให้ความสำคัญกับฐานความรู้ภูมินิเวศ เคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรมโดยเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้เสนอความต้องการและมีส่วนร่วมในการกำหนดประเด็นในการพัฒนา ทั้งนี้ ขอให้รัฐบาล โดยคณะรัฐมนตรีมีมติให้การดำเนินโครงการพัฒนาของภาครัฐและเอกชนคำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน และสร้างกลไกเพื่อพิจารณาข้อเสนอที่จะชะลอแผนงานและโครงการที่สร้างความขัดแย้ง และ/หรือมีผลกระทบต่อสังคมและชุมชนทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อเปิดโอกาสในการสร้างฉันทามติร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย

1.2 ในการดำเนินการตามข้อ 1.1 ขอให้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประสานคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคชุมชน ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลกระทบจากการพัฒนาตั้งคณะกรรมการทบทวนร่างแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยใช้เครื่องมือที่หลากหลาย มุ่งเน้นสนับสนุนการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ของพื้นที่ การมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายและคำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน

1.3 ขอให้คณะกรรมการทบทวนร่างแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน ที่ได้ ผ่านการทบทวนข้อ 1.1 และ 1.2 เรียบร้อยแล้ว จึงผลักดันให้แผนฯได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจัง ทั้งในระดับภาคและระดับท้องถิ่น มีกลไกการติดตาม กำกับประเมินผลและเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง

1.4 ขอให้คณะรัฐมนตรีออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้และภาคอื่นๆ อย่างยั่งยืน เพื่อให้การดำเนินการของคณะกรรมการในข้อ 1.2 เป็นไปอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รับไปดำเนินการตามมติที่เกี่ยวข้องต่อไป

2. เห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มติ 4 เรื่อง ยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม : เพื่อลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และสุขภาพของผู้ป่วย ได้พิจารณาและมีมติ ดังนี้

2.1 รับรองยุทธศาสตร์ยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม

2.2 ขอให้ คสช. นำเสนอยุทธศาสตร์ยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรมต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามยุทธศาสตร์ ดังนี้

(1) มอบหมายคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง (กค.) จัดตั้งคณะทำงานที่มาจากทุกภาคส่วนที่ไม่มีส่วนได้เสียกับธุรกิจยาทั้งในและต่างประเทศ เพื่อทำหน้าที่ ดังนี้

  • พัฒนาเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก รวมถึงแนวปฏิบัติทั้งในต่างประเทศและระหว่างประเทศ ให้เป็นเกณฑ์กลางของประเทศ และปรับปรุงให้ทันสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนการส่งเสริมการขายยา ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยา และธรรมาภิบาล ความโปร่งใส ผลประโยชน์ทับซ้อนในระบบยาที่เกี่ยวข้อง
  • ศึกษาระบบการนำหลักเกณฑ์จริยธรรมที่เป็นเกณฑ์กลางของประเทศ มาบังคับใช้ในรูปของกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งระบบบริหารกฎหมายที่เข้มแข็ง มีผลบังคับใช้ได้
  • ประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวางเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบและนำหลักเกณฑ์จริยธรรมฯ ไปประยุกต์ใช้หรือขยายเพิ่มเติมเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ให้คณะทำงานที่มาจากทุกภาคส่วนที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจยาทั้งในและ ต่างประเทศปฏิบัติงานให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี

(2) มอบหมายสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ร่วมกันตั้งคณะทำงานศึกษาพัฒนาข้อเสนอในการจัดตั้งองค์การที่ทำงานอย่างอิสระ ให้ทำหน้าที่รับผิดชอบ จัดทำกลไกติดตามตรวจสอบ รวบรวมและรายงานสถานการณ์ การส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรมในระดับประเทศ โดยมีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนรวมถึงภาคประชาสังคมร่วมตรวจสอบ ให้รัฐจัดสรรและสนับสนุนงบประมาณเพื่อบริหารการจัดการองค์การอิสระอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ให้คณะทำงานศึกษาพัฒนาข้อเสนอในการจัดตั้งองค์การที่ทำงานอย่างอิสระ ปฏิบัติงานให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี

(3) ให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4

ทั้งนี้ มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงาน กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ องค์การเภสัชกรรมรับไปดำเนินการตามมติที่เกี่ยวข้องต่อไป

3. มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มติ 5 เรื่อง ยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ ได้พิจารณาและมีมติ ดังนี้

3.1 รับรองแผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ

3.2 ให้ คสช. พิจารณาและนำเสนอแผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการ โดยเฉพาะคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ และคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด ดำเนินการให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการทุกระดับที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ

3.3 ให้คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ และคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด

(1) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนการดำเนินงานและเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรม ในการจัดการกับปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และติดตามผลตามแผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ รวมถึงการพัฒนาแผนปฏิบัติการ

(2) ร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคประชาสังคมพิจารณาศึกษาความเป็นไปได้ในจัดเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม หรือ การจัดสรรงบประมาณจากภาษีสรรพสามิตสุรา เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ สนับสนุนกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และสนับสนุนการรณรงค์เพื่อขจัดความรุนแรงในครอบครัวและใช้ในมาตรการเยียวยาผู้หญิงและเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัวอันเป็นผลมาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

(3) ให้ คสช. เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบให้คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ และคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง โดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสรรพสามิต ผู้ว่าราชการจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังต่อเนื่อง

(4) ให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รายงานต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4

ทั้งนี้ มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพมหานคร คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติรับไปดำเนินการตามมติที่เกี่ยวข้องต่อไป

4. มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มติ 8 เรื่อง การจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนได้พิจารณาและมีมติ ดังนี้

4.1 รับรองยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน

4.2 ขอให้ คสช. นำเสนอยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนต่อ คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ มอบหมายให้ คสช. และคณะกรรมการอาหารแห่งชาติจัดทำแผนปฏิบัติการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์

4.3 ขอให้ คสช. และคณะกรรมการอาหารแห่งชาติโดยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนให้ดำเนินการ ดังนี้

(1) ยกร่างแผนปฏิบัติการที่ระบุหน้าที่รับผิดชอบชัดเจนภายใน 1 ปี

(2) ใช้มาตรการลักษณะสีสัญญาณพร้อมคำเตือนในอาหารที่มีไขมัน หรือน้ำตาล หรือโซเดียม

(3) ใช้มาตรการทางภาษีและราคาของอาหารเพื่อจัดการกับปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและ โรคอ้วน

(4) จัดทำระเบียบว่าด้วยการตลาดเกี่ยวกับอาหารที่มุ่งเป้าหมายไปยังเด็ก และมีผล ต่อความรุนแรงของภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

(5) ติดตามความคืบหน้าในการจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน โดยเฉพาะการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ฯ รวมถึงความเหมาะสม ระยะเวลา และกลไกในการปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์ฯ อย่างมี ส่วนร่วม

4.4 ให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4

ทั้งนี้ มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ รับไปดำเนินการตามมติที่เกี่ยวข้องต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 กรกฎาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ