มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ที่มีข้อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเป็นการเฉพาะ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 21, 2010 15:15 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2552 (มติ 9 การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน) ตามที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานว่าจากการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 2/2553 เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2553 ได้พิจารณามติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นวันที่ 16-18 ธันวาคม 2552 ตามบทบัญญัติมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ในมติ เรื่อง “การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน” ซึ่งภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้พิจารณาเอกสารรายงานและร่างมติในระเบียบวาระ ดังกล่าวตามที่คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจสช.) เสนอ ซึ่งจัดทำโดยคณะทำงานเฉพาะประเด็นที่ คจสช. โดยคณะอนุกรรมการวิชาการแต่งตั้ง ทั้งนี้คณะทำงานดังกล่าวประกอบด้วยบุคลากรหลายภาคส่วน

2. สถานการณ์และสาเหตุของปัญหา ความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนยังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศแนวโน้มการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะเติบโตในสัดส่วนที่ช้าเมื่อเทียบกับปริมาณรถส่วนบุคคล ทั้งจักรยานยนต์ รถนั่งส่วนบุคคล และรถกระบะที่เพิ่มโดยเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 80 ในขณะที่การเดินทางโดยรถประจำทางเพียงร้อยละ 10-20 เท่านั้น ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งร่างกาย จิตใจ และทรัพย์สิน และส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและโครงสร้างทางประชากร ความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐและท้องถิ่น ยังคงจำกัดอยู่เฉพาะช่วงเทศกาลเป็นหลัก ขาดการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ด้วยข้อจำกัดของนโยบาย โครงสร้างการทำงาน งบประมาณที่ไม่เพียงพอ และกฎหมาย กฎระเบียบที่ขาดการทบทวนปรับปรุง

3. รัฐบาลปัจจุบันได้แสดงเจตจำนงในเวทีสัมมนาอุบัติเหตุระดับชาติ ครั้งที่ 9 (20-21 สิงหาคม 2552) ที่จะผลักดันให้ความปลอดภัยทางถนนเป็นวาระแห่งชาติผ่านการขับเคลื่อนงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) และโครงการไทยเข้มแข็งพร้อมทั้งวางเป้าหมายในอีก 10 ปีข้างหน้า อัตราผู้เสียชีวิตไม่ควรเกิน 10 คนต่อแสนประชากร นอกจากนี้ยังระบุถึงการพัฒนาระบบโดยสารสาธารณะ ให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 30 ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยรัฐและท้องถิ่นต้องร่วมกันผลักดันระบบขนส่งสาธารณะโดยเฉพาะระบบรางคู่ ให้เกิดการกระจายโครงข่ายครอบคลุมทั้งระดับส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่นควบคู่ไปกับการปรับปรุงระบบรถโดยสารสาธารณะให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย พร้อมทั้งมีระบบการเยียวยาผู้ประสบเหตุด้วยความรวดเร็ว เป็นธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ศปถ. คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัด และหน่วยงานในส่วนท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาลและ องค์การบริหารส่วนจังหวัด

4. มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2552

สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้พิจารณาและมีมติเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2552 ดังต่อไปนี้

4.1 เพื่อลดอัตราความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนให้เป็นไปตามวาระแห่งชาติและข้อตกลงที่ทำไว้กับสหประชาชาติ ขอให้รัฐบาลเร่งรัดดำเนินการดังต่อไปนี้

4.1.1 ให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเป็นกลไกหลักในการประสานทุกภาคส่วน ให้มีส่วนร่วมในการทำงานด้านการป้องกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนโดยมีเป้าหมายให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตในปี 2563 ลดลงร้อยละ 50 ของอัตราการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตในปี 2553 ทั้งนี้ขอให้มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่ครบถ้วนและถูกต้อง

4.1.2 ให้มีคณะทำงานเฉพาะกิจในการแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถโดยมีกลไกความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อให้สามารถดูแลเยียวยาผู้ประสบภัยจากรถให้มีความสะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม

4.1.3 ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดนโยบาย มาตรการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจัง และต่อเนื่อง ครอบคลุมทั่วพื้นที่ทุกช่วงเวลา โดยเฉพาะผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ต้องสวมหมวกนิรภัยที่ได้มาตรฐาน ผู้ใช้รถยนต์ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย งดการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ขณะขับขี่เป็นร้อยละ 100 ภายใน พ.ศ. 2554

4.1.4 ให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทำงานลดอุบัติเหตุทางถนนร่วมผลักดันให้มีการเก็บภาษีรถจักรยานยนต์ในอัตราที่เหมาะสม ตามขนาดเครื่องยนต์ (ซีซี)

4.1.5 ให้กรมการขนส่งทางบกร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผลักดันให้ยกระดับมาตรฐานการออกใบอนุญาตขับรถมีคุณภาพโดยประกาศใช้หลักสูตรการอบรม 15 ชั่วโมงของกรมการขนส่งทางบก เน้นให้ความรู้เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทักษะการขับขี่ สร้างความตระหนัก จิตสำนึก หน้าที่ในการขับขี่ที่ปลอดภัย การปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างมีประสิทธิภาพ หลักสูตรความปลอดภัยบนท้องถนน และหลักสูตรการปฐมพยาบาลเบื้องต้น จัดให้มีการฝึกอบรม ทบทวน และตรวจสมรรถภาพทางกาย ความสามารถในการขับขี่ ในการต่อใบอนุญาตขับรถ ทั้งนี้ สำหรับผู้ขับขี่รถสาธารณะและเพื่อการพาณิชย์ควรมีใบรับรองแพทย์ผ่านการคัดกรองโรคหัวใจรุนแรง

4.1.6 ให้สภาองค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคมร่วมกับชุมชนช่วยผลักดันการใช้พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ให้เกิดแผนชุมชนด้านความปลอดภัย มาตรการทางสังคมและมาตรการท้องถิ่น เพื่อการขับขี่อย่างปลอดภัย และปฎิบัติได้จริง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน

4.1.7 ให้กระทรวงศึกษาธิการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับกระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกันจัดทำหลักสูตรความปลอดภัยทางถนนและจัดให้มีการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพในสถานศึกษาทั้งในและนอกระบบทุกระดับ ภายใน 2 ปี และนำไปสู่การปฎิบัติจริง ภายใน 5 ปี

4.1.8 ขอให้ผู้ผลิตและผู้แทนจำหน่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์จัดสถานที่และบริการฝึกปฎิบัติทักษะการขับขี่อย่างปลอดภัยและมีมาตรฐาน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอย่างครอบคลุมทุกอำเภอ

4.1.9 ดำเนินการลดระดับเพดานปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสำหรับผู้ขับขี่ยานพาหนะทั่วไป เร่งรัดดำเนินการประกาศใช้นโยบายการปลอดแอลกอฮอล์ในกลุ่มผู้ขับรถเพื่อการพาณิชย์และกลุ่มผู้ขับรถสาธารณะทุกประเภท โดยกำหนดให้ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดมีค่าไม่มากกว่า 0 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ภายใน พ.ศ. 2554 และผลักดันให้มีการกำหนดระดับเพดานปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสำหรับผู้ขับขี่อายุน้อย และผู้ที่ได้รับใบอนุญาตขับรถชั่วคราวให้ต่ำเป็นพิเศษ พร้อมกับเร่งรัดการบังคับใช้

4.1.10 สนับสนุนศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนร่วมกับหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการลดอุบัติเหตุทางถนน ให้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจน ครอบคลุม และเข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และสามารถสร้างความตระหนักในการขับขี่อย่างปลอดภัยและต่อเนื่อง

4.1.11 ให้ ศปถ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดกำหนดแบบ และมาตรฐานทางสัญจรและทางเท้าที่เอื้อต่อความปลอดภัย และความสะดวกของผู้ใช้ทุกกลุ่ม รวมถึงเด็ก คนพิการ และผู้สูงอายุ

4.2 เพื่อให้มีการเพิ่มสัดส่วนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ อย่างน้อยร้อยละ 30 ในอีก 5 ปี ข้างหน้า โดยเฉพาะในเมืองภูมิภาค

4.2.1 ขอให้รัฐบาลโดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กรมการขนส่งทางบก และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันผลักดันให้มีกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เอื้อให้ท้องถิ่นและภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการพัฒนา ควบคุม กำกับ ดูแล ระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่ หรือในระดับภูมิภาค

4.2.2 ขอให้กรมการขนส่งทางบก ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และผู้ประกอบการ เร่งรัดกำหนดแบบและมาตรฐานรถโดยสารสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง เช่น กลุ่มเด็ก กลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้สูงอายุ เป็นต้น รวมทั้งบังคับใช้อย่างจริงจัง ตลอดจนพัฒนาการดูแลเยียวยาผู้ประสบภัยให้มีความรวดเร็วและเป็นธรรม รวมทั้งจัดให้มีการทำคู่มือและรณรงค์ให้ความรู้ในเรื่องสิทธิกับผู้โดยสาร

ทั้งนี้ มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับไปดำเนินการตามมติที่เกี่ยวข้องต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 กรกฎาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ