โครงการพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพจิต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2553-2559)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 21, 2010 15:22 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีพิจารณาโครงการพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพจิต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2553-2559) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ แล้วมีมติดังนี้

1. อนุมัติในหลักการให้ดำเนินงานโครงการพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพจิต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2553-2559) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ทั้งนี้ ให้กรมสุขภาพจิต รับไปปรับปรุงเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมเฉพาะบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านสุขภาพจิตในสังกัดกรมสุขภาพจิต และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขตามหลักการเดิมที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ทั้งนี้ให้กระทรวงสาธารณสุข รับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปดำเนินการด้วย

2. สำหรับงบประมาณค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินการตามโครงการฯ ในระยะที่ 3 (พ.ศ. 2554-2559) วงเงิน 133,912,600 บาท ให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ของกรมสุขภาพจิต ซึ่งได้เสนอตั้งงบประมาณรองรับไว้แล้ว จำนวน 15,672,400 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 - 2559 ให้กรมสุขภาพจิตเสนอขอตั้งงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ สำหรับมหาวิทยาลัยทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้มีการดำเนินงานในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 มาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งขยายผลการดำเนินงานในมหาวิทยาลัยซึ่งมีความพร้อมและยินดีเข้าร่วมโครงการกับกรมสุขภาพจิตอีก 2 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยบูรพา

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานว่า

1. ผลการดำเนินโครงการพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพจิตที่ผ่านมา สรุปได้ดังนี้

  • ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2543-2557) เริ่มดำเนินการในปี 2543 สำหรับกลุ่มเป้าหมายในเขตภาคเหนือ ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขยายโครงการสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่รับผิดชอบงานสุขภาพจิตในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในปี 2545 ส่วนการดำเนินการสำหรับกลุ่มเป้าหมายในเขตภาคใต้ ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และสำหรับกลุ่มเป้าหมายในเขตภาคกลาง ณ มหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาภรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการลำดับต่อมาในปี 2546 มีผู้สำเร็จการศึกษา จำนวน 397 คน
  • ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2548-2553) ได้ขยายโครงการเป็นระยะที่ 2 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปีการศึกษา 2548 ดำเนินการ ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในปีการศึกษา 2550 ดำเนินการ ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหิดล ในปีการศึกษา 2551 มีผู้สำเร็จการศึกษา จำนวน 292 คน

2. จากสถานการณ์การให้บริการด้านจิตเวชแก่ผู้รับบริการที่ได้เข้ารับการบำบัด รักษา และฟื้นฟูในสถานบริการสังกัด สธ. มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างชัดเจน จากจำนวน 1,290,716 คน ในปี 2548 เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 1,350,122 คน ในปี 2549 อีกทั้งปัญหาสุขภาพจิตที่มีแนวโน้มสูงขึ้น คิดเป็นอัตราต่อแสนประชากร 2 ปีย้อนหลัง (พ.ศ. 2548-2549) ดังนี้ โรคจิต (572.34,611.78) โรคซึมเศร้า (149.90,193.65) ภาวะปัญญาอ่อน (51.74,62.65) ผู้ติดสารเสพติด (132.07,137.56) ตามลำดับโดยสัดส่วนบุคลากรต่อภาระรับผิดชอบในการให้บริการ ทั้งการบำบัด รักษาและดูแล มีจำนวนบุคลากรน้อยมาก เมื่อเทียบกับเกณฑ์คำนวณความต้องการกำลังคนในปัจจุบัน คือ ในปี 2550 มีสัดส่วนของจิตแพทย์ 1 คนต่อประชากร 262,659 คน พยาบาลจิตเวช 1 คนต่อประชากร 40,024 คน แสดงถึงความขาดแคลนบุคลากรในสายงานหลักที่ต้องรับผิดชอบในการบำบัดรักษาและดูแลด้านสุขภาพจิตสำหรับประชาชนและผู้ป่วยด้านจิตเวชที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา

3. การสนับสนุนทุนการศึกษาแก่บุคลากรในสายวิชาชีพพยาบาลในสังกัดกรมสุขภาพจิตและสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขตามโครงการพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพจิต ให้ศึกษาต่อในหลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช นอกเวลาราชการ เพื่อขยายเครือข่ายการให้บริการสุขภาพจิตให้ครอบคลุมถึงสถานบริการระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้ว 2 ระยะ ตั้งแต่ปี 2543-2552 สามารถบรรเทาการขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพจิตได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมในทุกพื้นที่ ซึ่งหากเปรียบเทียบสัดส่วนผู้รับทุนต่อประชากรพบว่ายังมีการกระจายของผู้รับทุนที่ยังไม่ครอบคลุมในบางพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ฝั่งตะวันออกสุด ภาคใต้และฝั่งอีสานตอนล่างของประเทศ นอกจากนี้ยังมีการสูญเสียจิตแพทย์ในระบบจากการลาออกจากราชการ เสียชีวิตหรือเกษียณอายุราชการ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการให้บริการด้านสุขภาพจิตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่มารับบริการกรมสุขภาพจิตจึงมีนโยบายจะขยายโครงการพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพจิต ระยะที่ 3 สำหรับทั้ง 5 มหาวิทยาลัย ซึ่งได้มีการดำเนินงานในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 มาแล้วอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งขยายผลการดำเนินงานในสถานศึกษาซึ่งมีความพร้อมและยินดีเข้าร่วมโครงการกับกรมสุขภาพจิตอีก 2 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยบูรพา ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มจำนวนผู้มีความรู้ความสามารถด้านสุขภาพจิตและจิตเวชให้มากขึ้น ผู้มีสิทธิรับทุนการศึกษาประกอบด้วยบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านสุขภาพจิตในสังกัดกรมสุขภาพจิต หน่วยงานในสังกัด สธ. และสังกัดกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น 760 ทุน มีระยะเวลาดำเนินการปี 2553-2559 โดยงบประมาณในการดำเนินงานตามโครงการ รวมทั้งสิ้น 133,912,600 บาท เป็นงบผูกพันระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2554-2559

4. การให้ทุนการศึกษาบุคลากรที่รับผิดชอบงานด้านสุขภาพจิตเพื่อเข้าศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชภาคพิเศษนอกเวลาราชการเป็นการเพิ่มจำนวนพยาบาลจิตเวชที่มีอยู่ในปัจจุบันให้มีความรู้ ความสามารถ ทางการปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง ที่สามารถตอบสนองระบบบริการสุขภาพแนวใหม่ที่เน้นการบริการสุขภาพในชุมชนโดยเฉพาะหน่วยงานบริการระดับปฐมภูมิ นอกจากไม่กระทบกับเวลาในการปฏิบัติงานตามปกติของผู้รับทุน เนื่องจากสามารถปฏิบัติงานได้อย่างต่อเนื่องและสามารถเรียนรู้ควบคู่กับการปฏิบัติงาน โดยการประยุกต์องค์ความรู้ที่ได้รับขณะศึกษามาพัฒนาระบบบริการสุขภาพแก่ประชาชน ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนได้อย่างมีคุณภาพ และเป็นประชาชนที่มีคุณค่าของสังคม สอดรับกับแนวทางการดำเนินงานตามนโยบายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลของ สธ. ได้อีกทางหนึ่ง

สธ.พิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพจิต ระยะที่ 3 มีวิธีการดำเนินการเช่นเดียวกับโครงการพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพจิตที่คณะรัฐมนตรีได้เคยอนุมัติไว้แล้ว แต่ยังขาดความครอบคลุม ประกอบกับสถานการณ์ของปัญหาสุขภาพจิตมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นต้องเร่งพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านสุขภาพจิตเพื่อให้สามารถรองรับภาระงานด้านสุขภาพจิตได้อย่างเพียงพอ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 กรกฎาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ