โครงการจัดทำข้อเสนอประเทศไทยเพื่อผลักดันเป็นข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 21, 2010 15:24 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง โครงการจัดทำข้อเสนอประเทศไทยเพื่อผลักดันเป็นข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ

และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอดังนี้

1. รับทราบผลความคืบหน้าในการดำเนินโครงการ Enhancing Lives of Female Inmates (ELFI) ในพระดำริของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในเวทีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 12 (Twelfth United Nations Congress on Crime Prevention and Criminal Justice 12th UN Congress) ที่เมืองซัลวาดอร์ ประเทศบราซิล เมื่อวันที่ 12 — 19 เมษายน 2553 และการประชุมคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (Commission on Crime Prevention and Criminal Justice — CCPCJ) สมัยที่ 19 ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อวันที่ 17 — 21 พฤษภาคม 2553

2. เห็นชอบให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ให้การสนับสนุน ยธ. ในฐานะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการดำเนินโครงการ ELFI ในพระดำริของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการใช้ช่องทางทางการทูตทั้งในกรอบทวิภาคี และในเวทีสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก รวมทั้งการอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์การผลักดันร่างข้อกำหนดสหประชาชาติสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง (Draft United Nations rules for the treatment of women prisoners and non — custodial measures for women offenders) หรือ “The Bangkok Rules” ให้บรรลุผลสำเร็จในขั้นตอนสุดท้าย

3. เห็นชอบในหลักการให้ ยธ. จัดทำแผนการจัดตั้ง “สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศ” (Thailand Institute for Justice — TIJ) และให้ ยธ.รับไปพิจารณาทบทวน ปรับปรุงในรายละเอียดและดำเนินการตามความเห็นของสำนักงานก.พ. และเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

สาระสำคัญของเรื่อง

ยธ. รายงานว่า

1. ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (CCPCJ) สมัยที่ 18 ได้รับรองข้อมติที่ 18/1 ที่ประเทศไทยเสนอ เพื่อให้อาณัติในการจัดการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศ เพื่อยกร่างข้อกำหนดสหประชาชาติสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง นั้น ยธ. ได้จัดการประชุมดังกล่าวขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 23 — 26 พฤศจิกายน 2552 ซึ่งประสบผลสำเร็จในการเจรจาหาข้อตกลงร่วมกันต่อร่างข้อกำหนดฯ โดยสำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม (United Nations Office on Drugs and Crime — UNODC) ได้จัดทำรายงานการประชุม พร้อมร่างข้อกำหนดฯ (final agreed text) แนบท้าย เพื่อนำเสนอที่ประชุม 12th UN Congress และการประชุม CCPCJ สมัยที่ 19

2. ยธ. ได้จัดการประชุมการหารือในกรอบคณะทำงานระดับชาติ (NPC) เมื่อเดือนธันวาคม 2552 - มีนาคม 2553 เพื่อกำหนดท่าทีด้านสารัตถะของประเทศไทยสำหรับการประชุม 12th UN Congress ซึ่งรวมถึงประเด็นเรื่องร่างข้อกำหนดฯ ด้วย และได้ประสานงานกับ กต. เพื่อแจ้งให้คณะผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำสำนักงานสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา ผลักดันท่าทีไทยในเรื่องต่างๆ ในกระบวนการเจรจาในเบื้องต้นที่กรุงเวียนนา เพื่อยกร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม คือ ปฏิญญาซัลวาดอร์ (Salvador Declaration) ซึ่งในการประชุม 12th UN Congress ที่เมืองซัลวาดอร์ ที่จัดแบบ informal consultations อย่างต่อเนื่อง (วันที่ 14 — 18 เมษายน 2553) โดยมีเอกอัครราชทูตฯ ผู้แทนถาวรฯ บราซิลประจำกรุงเวียนนา ทำหน้าที่ประธาน และ ยธ. ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมกระบวนการเจรจาดังกล่าวด้วย ในที่สุดที่ประชุม 12th UN Congress สามารถหาฉันทามติร่วมกันได้ และให้การรับรองปฏิญญาซัลวาดอร์ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2553

3. การประชุม CCPCJ สมัยที่ 19 ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อวันที่ 17 — 21 พฤษภาคม 2553 ผู้แทนไทยได้นำเสนอร่างข้อมติ (draft resolution) สมัชชาสหประชาชาติ (General Assembly — GA) เรื่อง “United Nations rules for the treatment of women prisoners and non-custodial measures for women offenders (the Bangkok Rules)” ซึ่งมีสาระสำคัญในการอ้างถึงมาตรฐานต่าง ๆ ของสหประชาชาติเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง และย้ำความสำคัญของการดูแลผู้ต้องขังหญิงและเด็กติดผู้ต้องขัง และมีวัตถุประสงค์หลักคือ การให้สมัชชาสหประชาชาติรับรองร่างข้อกำหนดฯ อย่างเป็นทางการ ในที่สุดผู้แทนไทยสามารถแสวงหาฉันทามติในกระบวนการเจรจาได้ โดยในที่ประชุมเต็มคณะเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2553 มีการรับรองร่างข้อมติ พร้อมร่างข้อกำหนดฯ แนบท้าย ได้มีประเทศแจ้งขอร่วมอุปถัมภ์ (co-sponsor) ร่างข้อมติ 7 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา เวเนซูเอลา เอลซัลวาดอร์ และโกตดิวัวร์

ทั้งนี้ ในการเข้าร่วมการประชุม 12th UN Congress ที่เมืองซัลวาดอร์ ยธ. ได้จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับร่างข้อกำหนดฯ ภายใต้หัวข้อ “Enhancing Lives of Female Inmates” และในการประชุม 19th CCPCJ ที่กรุงเวียนนา จัดนิทรรศการภายใต้หัวข้อ “United Nations and the Standard Minimum Rules : A new Horizon for Women Prisoners”

4. การที่ที่ประชุม 12th UN Congress ระบุข้อความแสดงการสนับสนุนร่างข้อกำหนดฯ ในปฏิญญาซัลวาดอร์ และการที่ที่ประชุม 19th CCPCJ รับรองร่างข้อมติไทยพร้อมร่างข้อกำหนดฯ แนบท้าย หรือที่เรียกว่า “The Bangkok Rules” นั้น ถือเป็นความสำเร็จที่สำคัญของโครงการ ELFI ในพระดำริของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา โดยเป็นการดำเนินการตามยุทธศาสตร์โครงการฯ ที่มุ่งเน้นการเจรจาโน้มน้าวประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ และองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาเป็นแนวร่วมกับไทยเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จเข้าร่วมการประชุมที่สำคัญ ๆ และได้แสดงพระปรีชาสามารถในเรื่องดังกล่าวด้วยพระองค์เอง

5. ขั้นตอนต่อไปสำหรับโครงการ ELFI ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา คือ

5.1 การประชุมคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (Economic and Social Council — ECOSOC) ที่นครนิวยอร์ก ในเดือนกรกฎาคม 2553 เพื่อผลักดันให้ที่ประชุม ECOSOC เสนอแนะให้ส่งร่างข้อมติ พร้อมร่างข้อกำหนดฯ แนบท้ายต่อไปยังที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ

5.2 การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (General Assembly — GA) ที่นครนิวยอร์ก ระหว่างเดือนกันยายน —ธันวาคม 2553 เพื่อนำเสนอร่างข้อมติ พร้อมร่างข้อกำหนดฯ แนบท้ายที่ได้รับการเสนอแนะจากที่ประชุม ECOSOC ต่อที่ประชุมคณะกรรมการ 3 (Third Committee) และผลักดันให้ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (GA) ให้การรับรองอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ การดำเนินการในทั้ง 2 ขั้นตอน จะต้องอาศัยยุทธศาสตร์การรณรงค์สร้างความตระหนักและการเจรจาโน้มน้าวประเทศต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งฉันทามติในเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะการดำเนินงานร่วมกับ กต. และคณะทูตถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก

6. การที่ประเทศไทยได้มีบทบาทนำในการผลักดันให้ประชาคมระหว่างประเทศ หันมาให้ความสำคัญในเรื่องการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงเป็นครั้งแรก โดยจะมีมาตรฐานสหประชาชาติในเรื่องนี้ที่เรียกว่า “The Bangkok Rules” ในอนาคตนั้น น่าจะเป็นโอกาสดีที่ไทยจะพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสถาบันและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านความยุติธรรมทางอาญาในภูมิภาคอาเซียน อันจะเป็นการเสริมสร้างตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศของไทยในบริบทของการส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาขีดความสามารถสำหรับรองรับการดำเนินการอย่างยั่งยืนในประเด็นที่เกี่ยวข้องใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

6.1 การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม และราชทัณฑ์เกี่ยวกับการอนุวัติข้อบทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องใน The Bangkok Rules รวมทั้งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์/แนวปฏิบัติที่ดีในด้านการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง

6.2 โครงการกำลังใจ (INSPIRE) ในพระดำริของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการประยุกต์ใช้ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงในบริบทของการช่วยเหลือผู้ต้องขังกลับคืนสู่สังคมหลังพ้นโทษ (re-entry/reintegration)

6.3 การส่งเสริมการศึกษาด้านหลักนิติธรรม (rule of law) ทั้งในบริบทของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม และระบบการศึกษา ทั้งในและนอกโรงเรียนในทุกระดับ รวมทั้งการพัฒนาความร่วมมือกับสหประชาชาติ และอาเซียนในเรื่องดังกล่าว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 กรกฎาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ