การรับรองข้อตกลงการเป็นพันธมิตรสำหรับการอนุรักษ์นกอพยพ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 21, 2010 15:27 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การรับรองข้อตกลงการเป็นพันธมิตรสำหรับการอนุรักษ์นกอพยพและการใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกอพยพอย่างยั่งยืน

ในเส้นทางการบินเอเชียตะวันออก — ออสเตรเลีย (Partnership for the Conservation of Migratory

Waterbirds and the Sustainable Use of their Habitats in the East Asian — Australasian

Flyway)

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2553 วันที่ 22 เมษายน 2553 และความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้

1. มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีดังนี้

1.1 เห็นชอบในการรับรองข้อตกลงการเป็นพันธมิตรสำหรับการอนุรักษ์นกอพยพและการใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกอพยพอย่างยั่งยืนในเส้นทางการบินเอเชียตะวันออก-ออสเตรเลีย

1.2 มอบหมายให้ ทส. โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานประสานกลางโครงการความร่วมมือฯ

1.3 เห็นชอบตามความเห็นของ ทส. ในการเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติของประเทศไทย ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 และวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 เป็นพื้นที่เครือข่ายอนุรักษ์นกอพยพตามโครงการความร่วมมือฯ ประกอบด้วย

1.3.1 พื้นที่ชุ่มน้ำหลัก 9 แห่ง ได้แก่ แอ่งเชียงแสนและเวียงหนองหล่ม จังหวัดเชียงราย บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ เขตห้ามล่าสัตว์ป่า หมู่เกาะลิบง-ปากน้ำตรัง จังหวัดตรัง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วย ตลาด เขตห้ามล่าสัตว์ป่า อ่างเก็บน้ำสนามบินและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก จังหวัดบุรีรัมย์ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กุดทิงและบึงโขงหลง จังหวัดหนองคาย

1.3.2 พื้นที่ชุ่มน้ำย่อยในอ่าวไทยตอนใน 6 แห่ง ได้แก่ บ้านปากทะเล แหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู) เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชินี จังหวัดสมุทรปราการ ดอนหอยหลอด และหาดเลนบ้านคลองโคน จังหวัดสมุทรสงคราม และนาเกลือบ้านโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร

2. ทส.พิจารณาแล้วเห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเนื่องจาก

2.1 การเข้าร่วมเป็นพันธมิตรของโครงการความร่วมมือฯ เป็นความสมัครใจในการดำเนินงานและไม่มีการจ่ายเงินบริจาค

2.2 พันธกิจที่สำคัญ คือ การเสนอพื้นที่เข้าเป็นเครือข่ายนกอพยพ การอนุรักษ์นกอพยพและถิ่นที่อยู่อาศัย คือ พื้นที่ชุ่มน้ำด้วยการใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกอย่างยั่งยืนภายในประเทศของตนโดยทางโครงการความร่วมมือฯ อาจสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานผ่านทางองค์กรพัฒนาเอกชนหรือหน่วยงานในพื้นที่

2.3 โครงการอนุรักษ์นกอพยพและการใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกอพยพอย่างยั่งยืนในเส้นทางการบินเอเชียตะวันออก-ออสเตรเลีย จะมีส่วนสนับสนุนเจ้าหน้าที่องค์กรที่เข้าร่วมเป็นภาคีและประชาชนในพื้นที่ให้มีความรู้และเกิดความตระหนักถึงความสำคัญของแหล่งที่อยู่อาศัยของนกอพยพ มีการสร้างกลไกการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้มีการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัย คือพื้นที่ชุ่มน้ำโดยมีการใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด และกำหนดให้พื้นที่แห่งนั้นเป็นพื้นที่อนุรักษ์

2.4 โครงการความร่วมมือฯ จะช่วยสนับสนุนการดำเนินการภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำและอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีในลำดับที่ 110 เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2541 โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานประสานงานกลาง

สาระสำคัญของเรื่อง

ทส.รายงานว่า

1. โครงการความร่วมมือพันธมิตรสำหรับการอนุรักษ์นกอพยพและการใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกอพยพอย่างยั่งยืนในเส้นทางการบินเอเชียตะวันออก-ออสเตรเลีย (Partnership for the Conservation of Migratory Waterbirds and the Sustainable Use of their Habitats in the East Asian-Australasian Flyway) ได้พัฒนาขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2536 ในระหว่างการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ สมัยที่ 6 ณ เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย โดยเป็นการริเริ่มความร่วมมือระหว่างรัฐบาลออสเตรเลียและรัฐบาลญี่ปุ่นร่วมกับองค์การพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติ ซึ่งใน ระยะแรกดำเนินการในรูปแบบของคณะกรรมการอนุรักษ์นกอพยพในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Migratory Waterbirds Conservation Committee : MWCC) ในขณะนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งเครือข่ายระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญและเป็นเส้นทางอพยพของนกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และสนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ องค์กร เอกชน อนุสัญญาที่เกี่ยวข้องและชุมชนท้องถิ่นร่วมกันอนุรักษ์นกอพยพและถิ่นที่อยู่อาศัย โดยกำหนดให้มีรูปแบบการประสานงานในรูปแบบคณะกรรมการ และมีผู้แทนแบ่งเป็น 5 กลุ่ม คือ ผู้แทนรัฐบาล (ประกอบด้วยผู้แทนจากประเทศออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน รัสเซีย อินเดีย อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา) ผู้แทนสำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ และผู้แทนอนุสัญญาว่าด้วยชนิดพันธุ์ที่มีการอพยพ ผู้แทนองค์กรที่สนับสนุนงบประมาณ คณะทำงานทางวิชาการกลุ่มนกเป็ด กลุ่มนกกระเรียน และกลุ่มนกชายเลน และผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ BirdLife International, World Wildlife Fund for Nature และ Wetlands International ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน ติดตาม และตรวจสอบการดำเนินงานตามกลยุทธ์จัดทำและเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานแก่คณะทำงานฯ ติดตามตรวจสอบและสนับสนุนการเชื่อมโยงระหว่างการริเริ่มในการอนุรักษ์นกอพยพและชนิดพันธุ์อื่นๆ ที่อาศัยในพื้นที่ชุ่มน้ำและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ

2. ประเทศไทยได้รับเชิญจากประธาน MWCC ให้เข้าร่วมเป็นกรรมการของ MWCC ในปี พ.ศ. 2544 โดยมีผู้แทนจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุมในการประชุม MWCC ครั้งที่ 8 และ 9

3. ในการประชุมสุดยอดว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน ณ นครโยฮันเนสเบอร์ก สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ในปี พ.ศ. 2545 รัฐบาลออสเตรเลียและรัฐบาลญี่ปุ่นร่วมกับองค์การพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติได้นำเสนอโครงการความร่วมมือฯ และได้บรรจุไว้ในบัญชีการริเริ่มของ World Summit on Sustainable Development : WSSD type II ซึ่งโครงการความร่วมมือฯ เป็นผลมาจากความสำเร็จของ MWCC โดยวัตถุประสงค์หลักของโครงการความร่วมมือฯ คือ การอนุรักษ์นกอพยพและแหล่งที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยการสร้างความรู้ความตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของนกอพยพ และให้มีการ เสนอพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกอพยพเข้าร่วมเป็นเครือข่ายนกอพยพ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ เครือข่ายนกกระเรียน (Crane network) เครือข่ายนกเป็ด (Anatidae network) และเครือข่ายนกชายเลน (Shorebird network)

4. พันธกิจที่สำคัญของการเป็นพันธมิตรสำหรับการอนุรักษ์นกอพยพและการใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกอพยพอย่างยั่งยืนในเส้นทางการบินเอเชียตะวันออก-ออสเตรเลีย คือ การเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญเข้าเป็นเครือข่ายนกอพยพ การอนุรักษ์อพยพและการอนุรักษ์ถิ่นที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำด้วยการใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกอย่างยั่งยืนภายในประเทศของตน การอนุรักษ์นกอพยพและพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานหลายแห่ง อาทิ กระทรวงมหาดไทย ทส. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น

5. ประเทศไทยได้เสนอพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Site) ลำดับที่ 1,100 เป็นเครือข่ายนกชายเลน (Shorebird network) เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นเครือข่ายนกอพยพแห่งแรกของประเทศไทย และได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม MWCC ครั้งที่ 10 ในระหว่างวันที่ 15-20 ธันวาคม 2548 ณ จังหวัดกระบี่

6. รัฐบาลออสเตรเลียและรัฐบาลญี่ปุ่นร่วมกับองค์การพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติได้ยกร่างข้อตกลงโครงการความร่วมมือฯ ในระหว่างปี พ.ศ. 2547-2548 และได้มีการลงนามรับรองครั้งแรก ณ เมืองโบกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2549

7. ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2553 จะมีการประชุมภาคีของพันธมิตร ครั้งที่ 5 ณ ราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งจะมีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมประมาณ 15 ประเทศ ทั้งประเทศที่เป็นภาคีและประเทศที่เป็นผู้สังเกตการณ์ และในการประชุม ครั้งนี้ประเทศไทยสมควรเข้าร่วมประชุมในฐานะภาคี

8. กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า โครงการความร่วมมือฯ ไม่น่าจะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 กรกฎาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ