ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐตุรกี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 21, 2010 15:29 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์เสนอ

1. เห็นชอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐตุรกี ไม่เข้าข่ายประเภทหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสอง ตามความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ (กต.)

2. อนุมัติการแจ้งของฝ่ายไทยเพื่อให้ความตกลงฯ มีผลบังคับใช้

สาระสำคัญของเรื่อง

วท. รายงานว่า

1. หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (1 พฤศจิกายน 2548) แล้ว นายประวิช รัตนเพียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในขณะนั้น และ Mr. Recep Akdag รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สาธารณรัฐตุรกี ได้ร่วมลงนามความตกลงฯ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2548 ณ กรุงอังการา

2. ต่อมา กต. ได้มีหนังสือถึง วท. แจ้งว่า ฝ่ายตุรกีได้ดำเนินการให้สัตยาบันความตกลงฯ ดังกล่าวแล้ว โดยการออกพระราชกฤษฎีกา (Government Decree) เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2552 และได้ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2552 และฝ่ายตุรกีขอทราบกระบวนการให้สัตยาบันความตกลงฯ ของไทย และวันที่ความตกลงฯ มีผลบังคับใช้

3. กต. (กรมยุโรป) ได้ชี้แจงเกี่ยวกับกระบวนการภายในประเทศเพื่อให้ความตกลงฯ นี้ มีผลบังคับใช้ พร้อมข้อพิจารณาเชิงกฎหมาย ดังนี้

3.1 แม้ว่าความตกลงฯ จะได้มีการลงนามไปแล้วเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2548 และฝ่ายตุรกีก็ได้มีหนังสือแจ้งว่าได้ดำเนินกระบวนการภายในของฝ่ายตุรกีเรียบร้อยแล้ว แต่ความตกลงฯ ยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าฝ่ายตุรกีจะได้รับหนังสือแจ้งในลักษณะเดียวกันจากฝ่ายไทย

3.2 ด้วยเหตุผลข้างต้น ความตกลงฯ ฉบับนี้จึงอยู่ภายใต้บังคับของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ส่วนจะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสองที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาหรือไม่นั้น โดยที่ขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือตามที่รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 190 วรรคห้ากำหนด จึงเห็นควรให้ใช้แนวปฏิบัติที่ผ่านมา กล่าวคือ ส่วนราชการเจ้าของเรื่องจะต้องเป็นผู้ให้ความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องให้ความเห็นประกอบการพิจารณาด้วย ทั้งนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2550 (เรื่อง ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย — ญี่ปุ่น)

3.3 โดยที่ความตกลงฯ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดกรอบความร่วมมือเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาโครงการร่วมกัน จัดการประชุม แลกเปลี่ยนข้อสนเทศ และความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอื่น ๆ ตามแต่จะตกลงกันภายใต้กฎหมายและข้อบังคับที่มีอยู่ของแต่ละฝ่าย รวมทั้งมีข้อกำหนดเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา จึงไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือพื้นที่นอกอาณาเขต ซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น หาก วท. สามารถปฏิบัติได้โดยไม่ต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญาความตกลงฯ ก็ไม่น่าเข้าข่ายประเภทหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา สำหรับความตกลงย่อย (subsidiary agreements) ของความตกลงฯ ที่จะดำเนินการต่อไป จะเข้าข่ายมาตรา 190 วรรคสอง ด้วยหรือไม่ จะต้องพิจารณาเป็นรายฉบับ

3.4 ความตกลงฯ มีสาระสำคัญเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีความสนใจและมีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยทั้งสองฝ่ายจะดำเนินความร่วมมือในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ โครงการวิจัยและพัฒนาร่วม การแลกเปลี่ยน นักวิทยาศาสตร์ ผู้ชำนาญการ นักวิจัย การประชุมทางวิทยาศาสตร์ การสัมมนา การจัดนิทรรศการ และการเปลี่ยนข้อสนเทศและเอกสารทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อกำหนดสาขาความร่วมมือและดำเนินการความตกลงฯ ฉบับนี้ ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ได้รับแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งสุดท้ายว่ากระบวนการภายในประเทศ ซึ่งจำเป็นต่อการมีผลใช้บังคับความตกลงฯ ฉบับนี้ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว

3.5 วท. เห็นว่าสามารถปฏิบัติตามความตกลงฯ ได้โดยไม่ต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา ความตกลงฯ จะไม่เข้าข่ายประเภทหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสองของรัฐธรรมนูญฯ ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา นอกจากนี้ การดำเนินกิจกรรมความร่วมมือภายใต้ความตกลงฯ ดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย โดยหน่วยงานในสังกัด วท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถใช้กรอบความตกลงริเริ่มการเจรจาจัดทำแผนงานกิจกรรมที่กำหนดไว้ในความตกลงฯ ซึ่งเป็นกิจกรรมพื้นฐานที่ฝ่ายไทยจะได้รับประโยชน์จากแหล่งองค์ความรู้และการเชื่อมโยงงานวิจัยในยุโรป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 กรกฎาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ