ร่างแผนแม่บทสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม พ.ศ. 2553 — 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 29, 2010 14:28 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างแผนแม่บทสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม พ.ศ. 2553 — 2557 และร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี

ว่าด้วยการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ พ.ศ. ....

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่ประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพเสนอ ดังนี้

1. ร่างแผนแม่บทสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม พ.ศ. 2553 — 2557

2. ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ พ.ศ. ....

3. แนวทางการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐ ดังนี้

3.1 งบประมาณสนับสนุนจากงบประมาณประจำปี ให้สำนักงานจัดทำข้อเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปีผ่านหน่วยงานต้นสังกัดเพื่อรับการสนับสนุนงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2555

3.2 งบประมาณจากแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 ให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการกิจการ เพื่อสังคม ประสานกับกระทรวงการคลัง และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางในการดำเนินการจัดสรรงบประมาณจากโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งที่มีวัตถุประสงค์สอดคล้องกับการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม เพื่อนำมาเป็นงบประมาณในการจัดทำโครงการต่างๆ ของสำนักงาน

3.3 งบประมาณจากกองทุนและทุนหมุนเวียนภายใต้กำกับดูแลของกรมบัญชีกลาง ให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม ประสานกับกรมบัญชีกลาง เพื่อจัดทำรายชื่อของกองทุนและทุนหมุนเวียนภายใต้การกำกับดูแลของกรมบัญชีกลาง ที่มีวัตถุประสงค์สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่และหรือวัตถุประสงค์ของคณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติและสำนักงานฯ และหาแนวทางในการโอนย้ายงบประมาณ และหรือปรับปรุงกฎเกณฑ์ และระเบียบของกองทุนและทุนหมุนเวียนนั้นๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินการของคณะกรรมการฯ และสำนักงานฯ ในการสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมในประเทศไทย

ข้อเท็จจริง

ประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพเสนอว่า

1. สภาพสังคมที่พัฒนาและมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ปัญหาและความท้าทายในสังคมปรากฏขึ้นหลากหลายและซับซ้อนยากต่อการแก้ไข ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนถดถอยหากไม่มีระบบหรือกลไกที่ช่วยแก้ไขปัญหา แม้ว่ารัฐบาลมีหน้าที่แก้ไขปัญหาแต่ด้วยความซับซ้อนในทุกมิติของสังคมและปัจจัยต่างๆ การขาดความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ข้อจำกัดของระบบราชการ ตลอดจนงบประมาณ ทำให้ความพยายามของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหานั้นไม่เกิดผลได้ทันต่อการเกิดขึ้นของปัญหาสำหรับภาคธุรกิจ แม้จะไม่มีข้อจำกัดเหมือนรัฐบาล แต่ก็มักมุ่งแสวงหากำไรเป็นหลัก ทำให้ทรัพยากรและความเชี่ยวชาญถูกใช้ไปกับกิจการที่แสวงหาผลกำไร ไม่ใช่กิจการที่สร้างประโยชน์แก่สังคมหรือ สิ่งแวดล้อม หรือบางธุรกิจมีกิจกรรมเพื่อสังคม แต่ก็ไม่ยั่งยืนและไม่เกิดผลในการแก้ไขปัญหา หากแต่เป็นเพียงเครื่องมือในการสร้างภาพลักษณ์ ด้วยข้อจำกัดของรัฐบาลและภาคธุรกิจ ทำให้เกิดภาคส่วนที่สามในสังคมสมัยใหม่ ได้แก่ ภาคประชาสังคม เช่น องค์กรสาธารณประโยชน์ องค์กรศาสนา แต่องค์กรภาคประชาสังคมก็มีข้อจำกัดที่สำคัญรวม 2 ประการคือ

1.1 การไม่มีเป้าหมายในการสร้างรายได้เพื่อการดำเนินงานและการขยายงานด้วยตนเอง ทำให้ต้องพึ่งพาทรัพยากรจากภายนอกการขาดวัฒนธรรมในการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

2. การที่องค์กรภาคประชาสังคมมีข้อจำกัดดังกล่าว ทำให้ในปัจจุบันเกิดกระแสกิจการแบบใหม่ที่มุ่งเน้นดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ของสังคมในการพัฒนาสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก โดยมีความยั่งยืนทางการเงินและดำเนินงานอย่างมีนวัตกรรมและใช้โอกาสที่เกิดใหม่อย่างต่อเนื่อง เช่น โอกาสในการใช้เทคโนโลยีราคาถูกเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต กิจการเหล่านี้เรียกว่า “กิจการเพื่อสังคม” หมายถึง กิจการที่มีรายรับจากการขาย การผลิตสินค้าและหรือการให้บริการ ที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป้าหมายอย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มแรก หรือกำหนดเพิ่มเติม หรือปรับเปลี่ยนเป้าหมาย ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคม และหรือสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ไม่มีเป้าหมายในการสร้างกำไร และมีลักษณะพิเศษ เช่น กระบวนการผลิต การดำเนินการ รวมถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อเนื่องในระยะยาวต่อสังคม สุขภาวะ และสิ่งแวดล้อม มีศักยภาพที่จะมีความยั่งยืนทางการเงินได้ด้วยตนเอง

3. การเติบโตของภาคกิจการเพื่อสังคม จะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและสังคมที่มีความเท่าเทียมกัน และมีปัญญามากขึ้น กิจการเพื่อสังคมจึงเป็นนโยบายที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาวและมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชน สำหรับประเทศไทยสามารถแจงประโยชน์ของกิจการเพื่อสังคมได้ 4 ประเด็น กล่าวคือ สร้างเสริมกลไกตลาดที่มีคุณธรรมและยั่งยืน พัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนขยายผลได้ สร้างเศรษฐกิจใหม่แห่งคุณธรรมและความยั่งยืนและพัฒนาคุณภาพบริการสาธารณะ

4. รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยเฉพาะภาคเอกชน สามารถร่วมพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างเกื้อกูลกันเพื่อความก้าวหน้าอย่างยั่งยืนของประเทศไทย ประกอบกับได้มีกระแสโลกเกี่ยวกับกิจการเพื่อสังคมซึ่งเป็นกิจการที่มีลักษณะพิเศษที่ตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม นายกรัฐมนตรีจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และในคราวประชุมคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2553 ได้มีมติเห็นชอบร่างแผนแม่บทสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม พ.ศ. 2553-2557 และร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ พ.ศ. .... และให้นำเรื่องดังกล่าวเสนอผ่านกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งในคราวประชุมคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2553 ได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว แต่มีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีว่า ควรนำเรื่องนี้เข้าสู่การประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) เพิ่มปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นคณะกรรมการตามระเบียบนี้ และ ให้ กรอ. เสนอชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 1 ตำแหน่ง รวมทั้งควรกำหนดเป้าหมายของกิจการเพื่อสังคมให้ครอบคลุมการแก้ไขปัญหาความยากจน สุขภาวะของผู้ที่ทำงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง การดำเนินธุรกิจต้องไม่เบียดเบียนหรือทำลายสิ่งแวดล้อม และเปลี่ยนชื่อจาก “กิจการเพื่อสังคม” เป็น “วิสาหกิจเพื่อสังคม”

สาระสำคัญของเรื่อง

1. สาระสำคัญของร่างแผนแม่บทฯ

1.1 กำหนดความสำคัญของกิจการเพื่อสังคมต่อประเทศไทยโดยกำหนดประเภท และรูปแบบกิจการเพื่อสังคม และการวิเคราะห์โอกาสเชิงยุทธศาสตร์และช่องว่างเชิงศักยภาพของกลุ่มกิจการเพื่อสังคมไทย เป็นต้น

1.2 กำหนดวิสัยทัศน์ และนโยบายการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมในประเทศไทย

1.3 กำหนดยุทธศาสตร์การสร้างการรับรู้ และการเรียนรู้เรื่องกิจการเพื่อสังคมในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 4 มาตรการ คือ มาตรการการให้รางวัล และจัดประกวดกิจการเพื่อสังคมระดับประเทศ มาตรการการจัดสัมมนา และการประชุมเกี่ยวกับกิจการเพื่อสังคม มาตรการการพัฒนาเนื้อหาความรู้ และหลักสูตรการเรียนการสอน และมาตรการการพัฒนาฐานข้อมูล และศึกษากระบวนการเรียนรู้เรื่องกิจการเพื่อสังคม

1.4 กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนารูปแบบ และขีดความสามารถของกิจการเพื่อสังคม แบ่งออกเป็น 2 มาตรการ คือ มาตรการพัฒนารูปแบบเฉพาะ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และมาตรการการพัฒนาศูนย์บ่มเพาะ และ ให้คำปรึกษาสำหรับกิจการเพื่อสังคม

1.5 กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและทรัพยากร แบ่งออกเป็น 3 มาตรการ คือ มาตรการสนับสนุนให้องค์กรภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจก่อตั้งกิจการเพื่อสังคม มาตรการการพัฒนากระบวนการ กลไก และเครื่องมือส่งเสริมการลงทุนในกิจการเพื่อสังคม และมาตรการการพัฒนาและส่งเสริมบริการของสถาบันตัวกลางในตลาดเงินและตลาดทุนเพื่อกิจการเพื่อสังคม

1.6 กำหนดแนวทางการบริหารจัดการ การกำกับดูแลและการติดตามประเมินผล

2. สาระสำคัญของร่างระเบียบฯ

2.1 กำหนดให้จัดตั้งสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ เป็นหน่วยงานภายในกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยมีวัตถุประสงค์ อำนาจหน้าที่ ตลอดจนให้มีรายได้จากเงินและทรัพย์สินตามที่กำหนด (ร่างข้อ 5 ร่างข้อ 6 ร่างข้อ 15 และร่างข้อ 16)

2.2 กำหนดให้มีคณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง และให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด (ร่างข้อ 8 และร่างข้อ 12)

2.3 กำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และกำหนดองค์ประชุมของคณะกรรมการ (ร่างข้อ 9 ร่างข้อ 10 และร่างข้อ 11)

2.4 กำหนดให้นำกฎหมายว่าด้วยกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพมาใช้กับการบริหารสำนักงานโดยอนุโลม (ร่างข้อ 19)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 กรกฎาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ