การใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการในสัญญาการให้สินเชื่อโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 29, 2010 14:46 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการในสัญญาการให้สินเชื่อโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อน

Hongsa Mine-Mouth Power Project กับ Hongsa Power Co.,Ltd

คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้มีการกำหนดในสัญญาสินเชื่อ สัญญาค้ำประกัน และสัญญาทางการเงินอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้สินเชื่อระยะยาว Syndicated Loan เพื่อใช้ในการลงทุนดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ระหว่างธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ. ธนาคารกรุงไทย) และธนาคารออมสินกับ Hongsa Power Company Limited (HPC) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนใน สปป.ลาว โดยมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเป็นผู้ชี้ขาด ตามที่ บมจ. ธนาคารกรุงไทยและธนาคารออมสินทั้ง 2 แห่งเสนอ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการคลังรายงานว่า

1. บมจ. ธนาคารกรุงไทยและธนาคารออมสินแจ้งว่าได้ร่วมกับกลุ่มธนาคารแห่งอื่น ประกอบด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) อนุมัติสินเชื่อระยะยาว Syndicated Loan ให้แก่ HPC ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนใน สปป.ลาว เพื่อใช้ในการลงทุนดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ใน สปป.ลาว วงเงินรวมใน Tranche A จำนวน 63,000 ล้านบาท และใน Tranche B จำนวน 930 ดอลลาร์สหรัฐ โดย บมจ. ธนาคารกรุงไทยและธนาคารออมสินได้รับการจัดสรร วงเงินในการให้สินเชื่อครั้งนี้แห่งละ 10,500 ล้านบาท

2. บริษัทที่ปรึกษากฎหมายแชนด์เล่อร์และทองเอก จำกัด ซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายของกลุ่มธนาคารผู้ให้สินเชื่อได้เสนอให้พิจารณากำหนดวิธีระงับข้อพิพาทโดยการใช้อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศไว้ในสัญญาสินเชื่อ สัญญาค้ำประกัน และสัญญาทางการเงินอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้สินเชื่อครั้งนี้ โดยเสนอให้มีการกำหนดในสัญญาว่าข้อพิพาทใด ๆ จะต้องนำส่งต่อและได้รับการชี้ขาดโดยอนุญาโตตุลาการภายใต้ข้อบังคับอนุญาโตตุลาการของเอสไอเอซี (SIAC Arbitration Rules) และกำหนดสถานที่ที่จะมีการอนุญาโตตุลาการ ณ ประเทศสิงคโปร์ โดยใช้ภาษาอังกฤษในการพิจารณาในขั้นตอนต่าง ๆ

3. การให้สินเชื่อในครั้งนี้เป็นการทำสัญญาในลักษณะ Syndicated Loan ซึ่งกลุ่มธนาคารผู้ให้สินเชื่อทุกรายจะต้องยอมรับเงื่อนไขในสัญญาตามมติเสียงข้างมากของกลุ่ม และจากการประชุมหารือระหว่างกลุ่มธนาคารผู้ให้ สินเชื่อปรากฏว่า กลุ่มธนาคารผู้ให้สินเชื่อรายอื่นได้ยอมรับการใช้ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในการระงับข้อพิพาทตามคำแนะนำของที่ปรึกษากฎหมาย

4. สปป.ลาว ไม่ได้เป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดคำพิพากษาศาลต่างประเทศในทางแพ่งและพาณิชย์ (อนุสัญญากรุงเฮก 1971) ซึ่งในกรณีที่เกิดกรณีพิพาทตามสัญญาสินเชื่อ สัญญาค้ำ ประกัน และสัญญาทางการเงินฉบับอื่น ๆ และจะต้องนำข้อพิพาทขึ้นสู่การพิจารณาในศาลต่างประเทศเมื่อกลุ่มธนาคารผู้ให้สินเชื่อชนะคดีแล้ว จะนำคำพิพากษาของศาลต่างประเทศดังกล่าวเพื่อขอให้ศาลใน สปป.ลาว บังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศโดยตรงไม่ได้ แต่จะต้องมีการฟ้องร้องเป็นคดีใหม่ในศาลใน สปป.ลาว และจะต้องมีการนำสืบพยานหลักฐานกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในการฟ้องคดีในศาลใน สปป.ลาว นั้น ที่ปรึกษากฎหมายใน สปป.ลาว ได้ระบุถึงเหตุผลหลายประการที่กลุ่มธนาคารผู้ให้สินเชื่อควรหลีกเลี่ยงการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นตามสัญญาสินเชื่อ สัญญาค้ำประกัน และสัญญาทางการเงินอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้สินเชื่อในครั้งนี้ โดยการฟ้องร้องคดีในศาล สปป.ลาว โดยตรง อาทิเช่น ในความเห็นของที่ปรึกษากฎหมายใน สปป.ลาว กล่าวอ้างว่าผู้พิพากษาอาจไม่มีความเชี่ยวชาญในการพิจารณาคดีทางแพ่ง ที่มีความซับซ้อนและอาจไม่มีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายต่างประเทศซึ่งเป็นกฎหมายที่คู่สัญญาตกลงให้ใช้บังคับในสัญญาดังกล่าว

5. สปป.ลาว เป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ (อนุสัญญานิวยอร์ค 1958) โดยคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในต่างประเทศสามารถบังคับใช้ได้ใน สปป.ลาว โดยผ่านการยื่นคำร้องขอต่อศาลใน สปป.ลาว เพื่อให้บังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าว ซึ่งศาลใน สปป.ลาว จะต้องบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าว เว้นแต่ว่าคำชี้ขาดดังกล่าวจะขัดกับกฎหมายใน สปป.ลาว นอกจากนี้ บริษัทที่ปรึกษากฎหมายของกลุ่มธนาคารผู้ให้สินเชื่อแจ้งว่าได้มีตัวอย่างของ Electricite du Laos และรัฐบาล สปป.ลาว ซึ่งได้เข้าทำสัญญาหลายฉบับที่มี ข้อกำหนดให้ใช้อนุญาโตตุลาการต่างประเทศในการระงับข้อพิพาท และโดยส่วนใหญ่จะตกลงกันให้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยสำนักงานอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์ภายใต้กฎคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยกฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศ (UNCITRAL Rules) หรือกฎอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของสถาบันอนุญาโตตุลาการแห่งสิงคโปร์ (SIAC Rules)

6. กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า การกำหนดให้มีการมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเป็นผู้ชี้ขาดในสัญญาสินเชื่อ สัญญาค้ำประกัน และสัญญาทางการเงินอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้สินเชื่อในครั้งนี้ เป็นการให้กู้กับนิติบุคคลต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้การระงับข้อพิพาทเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และข้อพิพาทจะได้รับการพิจารณาหาข้อยุติโดยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว อีกทั้งกลุ่มธนาคารผู้ให้สินเชื่อรายอื่นได้ยอมรับการใช้ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในการระงับข้อพิพาทแล้ว หาก บมจ. ธนาคารกรุงไทยและธนาคารออมสินไม่ยอมรับการใช้ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในการระงับข้อพิพาทดังกล่าว ธนาคารทั้ง 2 แห่งก็จะต้องถอนตัวจาการให้สินเชื่อดังกล่าว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 กรกฎาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ