คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในงาน “6 วัน 63 ล้านความคิด” ร่วมเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ และมอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) รับไปจัดตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อพิจารณากลั่นกรองข้อมูลผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในงาน “6 วัน 63 ล้านความคิด” ร่วมเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย ก่อนมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการต่อไป
เรื่องเดิม
1. รัฐบาลได้จัดทำโครงการร่วมเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย โดยมีกระบวนการในการรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนในหลายรูปแบบ ทั้งการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ในรูปแบบของการสัมมนาระดมความคิดเห็น ซึ่งมีการรับฟังความคิดเห็นจาก 4 ภาคส่วน คือ กลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มนักธุรกิจเอกชน กลุ่มอาจารย์นักวิชาการในมหาวิทยาลัย และกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน รวมทั้งการเปิดเวทีรับฟังความเห็นภาคประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีการสำรวจความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชน ที่เรียกว่า National Survey โดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นต้น และมีขั้นตอนสำคัญ คือ การประมวลข้อมูลปัญหาและข้อเสนอแนะทั้งหมดจากทุกภาคส่วนและจากทุกเวทีดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้ ภายในสิ้นเดือนกันยายน จะรวบรวมข้อมูลดิบทั้งหมดเพื่อนำเป็นข้อมูลขั้นต้นต่อการจัดหมวดหมู่ของปัญหา ข้อเสนอแนะ เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง กำหนดเป็นนโยบายของประเทศ และจัดทำเป็นพิมพ์เขียว (Blueprint) ปฏิรูปประเทศมอบเป็นของขวัญแก่ประชาชนในวันที่ 1 มกราคม 2554 อันจะนำไปสู่แนวทางการปฏิรูปประเทศไทยต่อไป สำหรับวิธีการที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น โดยการบอกถึงปัญหาของประเทศและเสนอแนะการพัฒนาประเทศ จะใช้ช่องทางหลัก 3 ช่องทาง ในการเสนอความคิดเห็น คือ
(1)ทางโทรศัพท์ หมายเลข 02 304 9999
(2)ทางจดหมาย ตู้ ปณ.9999 ทำเนียบรัฐบาล เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300
(3)ทางอินเตอร์เน็ต ที่เว็บไซต์ของนายกรัฐมนตรี http://www.pm.go.th/forward
2.สำหรับการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นผ่านทางโทรศัพท์ รัฐบาลได้จัดงาน “6 วัน 63 ล้านความคิด” ร่วมเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 1 — 6 กรกฎาคม 2553 เวลา 08.00 — 20.00 น. ณ ตึกสันติไมตรีหลังใน ทำเนียบรัฐบาล โดยในงานจะมีอาสาสมัครจากทุกภาคส่วนร่วมกันรับโทรศัพท์
ข้อเท็จจริง
ในการจัดงานดังกล่าว ปรากฏว่ามีประชาชนโทรศัพท์เข้ามาแสดงความคิดเห็นและแจ้งปัญหาความเดือดร้อน รวมทั้งสิ้น 61,681 ราย สรุปประเด็นสำคัญได้ ดังนี้
1. ด้านเศรษฐกิจ จำนวน 17,502 ราย คิดเป็นร้อยละ 28.38
2. ด้านการเมืองและกระบวนการยุติธรรม จำนวน 16,939 ราย คิดเป็นร้อยละ 27.46
3. ด้านสวัสดิการสังคม จำนวน 9,407 ราย คิดเป็นร้อยละ 15.25
4. ด้านการศึกษา จำนวน 5,320 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.63
5. ด้านสาธารณูปโภค จำนวน 4,308 ราย คิดเป็นร้อยละ 6.98
6. ด้านสิ่งแวดล้อมและการบริหารทรัพยากรธรรมชาติ จำนวน 2,081 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.37
7. ด้านสื่อและการสื่อสารมวลชน จำนวน 927 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.50
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 กรกฎาคม 2553--จบ--