ผลการประชุมคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ครั้งที่ 6/2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 29, 2010 14:56 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติ การไทยเข้มแข็ง 2555 ครั้งที่ 6/2553 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ได้มีการประชุมครั้งที่ 6/2553 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2553 เวลา 14.00-16.00 น. ณ ห้องประชุมเดช สนิทวงศ์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยได้พิจารณาเรื่อง ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินโครงการและการเร่งรัดการดำเนินงาน รวมทั้งกรอบแนวทางการติดตามประเมินผลโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ดังนี้

1. ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินโครงการและการเร่งรัดการดำเนินงาน

1.1 จากการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการ พบว่า ความพร้อมในการดำเนินโครงการเป็นอุปสรรคสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยพบว่า หลายหน่วยงานขาดความพร้อมในการดำเนินโครงการ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะของเครื่องมือและอุปกรณ์ ปัญหาการเข้าถึงพื้นที่ ปัญหาการขาดแคลนผู้รับเหมาก่อสร้าง และการใช้ประโยชน์ของโครงการตามเป้าหมาย เป็นต้น ส่งผลให้การเบิกจ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 ประสบความล่าช้าในหลายสาขาการลงทุน ดังนั้น ในการนำเงินคงเหลือมาจัดสรรใหม่ให้แก่ส่วนราชการในระยะต่อไป นอกจากคณะกรรมการกลั่นกรองและบริหารโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 จะพิจารณาจัดสรรให้แก่โครงการที่คณะรัฐมนตรีได้เคยอนุมัติไว้แต่ยังไม่ได้รับจัดสรรเงินแล้ว ควรพิจารณาโครงการที่มีความพร้อมในการดำเนินการอย่างแท้จริงด้วย เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากการดำเนินโครงการ และควรกำหนดกลไกในการป้องกันการเกิดปัญหาดังกล่าวในอนาคตด้วย

1.2 เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น หน่วยงานเจ้าของโครงการควรเร่ง ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง และเบิกจ่ายให้เป็นไปตามเป้าหมาย รวมทั้งควรกำหนดวันสิ้นสุดระยะเวลาของการลงนามในสัญญาด้วย เพื่อให้สามารถเร่งรัดการดำเนินงานและการเบิกจ่ายให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553 เรื่อง มาตรการเร่งรัดการดำเนินงานสำหรับหน่วยงานที่ได้รับอนุมัติเงินโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 นอกจากนี้ หน่วยงานเจ้าของโครงการควรจัดทำขอบเขตงาน (TOR) ไว้เป็นการล่วงหน้า เพื่อให้สามารถดำเนินการ จัดซื้อจัดจ้างได้ทันทีเมื่อได้รับการอนุมัติจัดสรรเงินจากสำนักงบประมาณ

1.3 ควรมีการจัดตั้งคณะทำงานลงสำรวจพื้นที่ภาคสนาม โดยสุ่มตัวอย่างในจำนวนที่เหมาะสม เพื่อติดตามผลการดำเนินโครงการและประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ รวมทั้งจัดทำรายงานปัญหาอุปสรรคในการดำเนินโครงการ ตลอดจนข้อเสนอแนะเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์โครงการ ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

2. กรอบแนวทางการติดตามประเมินผลโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้เสนอความคืบหน้าการจัดทำกรอบการติดตามประเมินผลโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 โดยคณะกรรมการฯ มีความเห็นสรุปได้ ดังนี้

2.1 ตัวชี้วัดสำหรับการประเมินผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ทั้งในระดับโครงการและระดับสาขาการลงทุนมีจำนวนค่อนข้างมากซึ่งอาจก่อให้เกิดความสับสนได้ จึงควรกำหนดตัวชี้วัดที่มีจำนวนไม่มากจนเกินไป โดยอาจกำหนดตัวชี้วัดที่สามารถสะท้อนผลลัพธ์ของการดำเนินงาน เช่น ตัวชี้วัดด้านรายได้ ตัวชี้วัดด้านคุณภาพชีวิต และตัวชี้วัดด้านการจ้างงาน เป็นต้น เพื่อให้ตัวชี้วัดระดับผลลัพธ์สามารถเชื่อมโยงกันและเปรียบเทียบกันได้ระหว่างโครงการ เช่น ตัวชี้วัดด้านการจ้างงานจะสามารถนำมาคำนวณสัดส่วนผลประโยชน์ในด้านการจ้างงานต่อวงเงินลงทุนโครงการเพื่อเปรียบเทียบผลประโยชน์ของแต่ละโครงการได้ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในการกำหนดตัวชี้วัดของโครงการ ควรศึกษาข้อมูลโครงการโดยละเอียดเพื่อให้สามารถกำหนดตัวชี้วัดที่เหมาะสมและสามารถให้หน่วยงานเจ้าของโครงการนำไปใช้งานได้จริง

2.2 เนื่องจากการติดตามประเมินผลของ สบน. มีระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ 1 ปี ดังนั้นในระหว่างนี้ สศช. และสำนักงบประมาณจะร่วมกันติดตามผลการดำเนินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 โดยรวบรวมผลการดำเนินโครงการ ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะ เพื่อจัดทำรายงานสรุปผลการติดตามโครงการเสนอคณะกรรมการฯ พิจารณาเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งจะครอบคลุมใน 3 ประเด็น ได้แก่ (1) ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินโครงการ เช่น ความพร้อมของหน่วยงานดำเนินโครงการ เป็นต้น และข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและการปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อให้โครงการบรรลุวัตถุประสงค์ (2) ผลกระทบของการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ต่อเศรษฐกิจของประเทศ และ (3) ข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้การใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 เกิดผลประโยชน์คุ้มค่าและผลสัมฤทธิ์สูงสุด

3. สรุปมติคณะกรรมการฯ

3.1 มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการจัดทำรายงานสรุปผลการติดตามการดำเนินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เสนอคณะกรรมการฯ พิจารณา เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยครอบคลุมใน 3 ประเด็น ได้แก่ (1) ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินโครงการ เช่น ความพร้อมของหน่วยงานดำเนินโครงการ เป็นต้น และข้อเสนอแนะ ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและการปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อให้โครงการบรรลุวัตถุประสงค์ (2) ผลกระทบของการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ต่อเศรษฐกิจของประเทศ และ (3) ข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้การใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 เกิดผลประโยชน์คุ้มค่าและผลสัมฤทธิ์สูงสุด

3.2 มอบหมายให้ สบน. นำข้อสังเกตของคณะกรรมการฯ ในเรื่องการกำหนดตัวชี้วัดการดำเนินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ไปพิจารณาปรับปรุงตัวชี้วัดสำหรับการประเมินผลการดำเนินการทั้งในระดับโครงการและระดับสาขาการลงทุนต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 กรกฎาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ