รายงานการพัฒนาระบบราชการไทย ประจำปี พ.ศ. 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 29, 2010 15:14 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบรายงานการพัฒนาระบบราชการไทย ประจำปี พ.ศ. 2552 ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ ดังนี้

1. ภาพรวมของระบบราชการ ที่สะท้อนขีดความสมรรถนะเชิงกายภาพและสัมฤทธิ์ผลของระบบราชการมีดังนี้

1.1 หน่วยงานของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหาร 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 ส่วนราชการ มีหน่วยงานในส่วนกลางรวม 175 หน่วยงาน ส่วนภูมิภาค 953 หน่วยงาน และส่วนท้องถิ่น 7,858 หน่วยงาน ประเภทที่ 2 รัฐวิสาหกิจ 58 แห่ง ประเภทที่ 3 องค์การมหาชน 57 องค์การ ประเภทที่ 4 หน่วยงานของรัฐรูปแบบใหม่ (หน่วยงานธุรการของ องค์กรของรัฐ) 8 แห่ง

1.2 กำลังคนภาครัฐในฝ่ายพลเรือนจำนวน 2,037,955 คน ประกอบด้วย ข้าราชการ 1,271,620 คน ลูกจ้างประจำ 237,786 คน ลูกจ้างชั่วคราว 281,831 คน พนักงานจ้าง 145,726 คน และพนักงานราชการ 100,992 คน

1.3 สมรรถนะในการแข่งขันของระบบราชการไทยเชิงเปรียบเทียบในปี พ.ศ. 2552 ในส่วนความเป็นประเทศที่เอื้อต่อการลงทุนประกอบธุรกิจ ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 13 จาก 181 ในส่วนดัชนีชี้สภาวะธรรมาภิบาลของไทยตามเกณฑ์ธนาคารโลกพบว่าค่าดัชนีชี้วัดสภาวะธรรมาภิบาล โดยรวมของประเทศไทยยังอยู่ในกลุ่ม Percentile Rank เดิม กล่าวคือ ยังเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่ม Percentile Rank ที่ 50 — 75 เช่นเดียวกับปีก่อน อันดับความสามารถในการแข่งขันในประเทศไทยพบว่า ปัจจัยหลักกลุ่มประสิทธิภาพภาครัฐมีอันดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยหลักกลุ่มประสิทธิภาพภาคธุรกิจทรงตัวในอันดับเดิม ส่วนปัจจัยหลักกลุ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจและกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานแม้อันดับจะมีแนวโน้มลดลงแต่ยังรักษาอันดับในตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่าปี พ.ศ. 2550 และความพร้อมในการเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยใน ปี พ.ศ. 2552 จำนวน 184 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 76

2. ความก้าวหน้าของการพัฒนาระบบราชการไทย

2.1 ผลการปฏิบัติราชการตามคำรับรองการปฏิบัติราชการจากการประเมินผลการปฏิบัติราชการตามคำรับรองฯ ประจำปี พ.ศ. 2552 ปรากฏว่าส่วนราชการมีคะแนนเฉลี่ยที่สูงกว่าค่าเป้าหมายที่กำหนด โดยส่วนราชการจำนวนหนึ่งมีคะแนนผลการปฏิบัติราชการเฉลี่ยสูงกว่าค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้มาก ในส่วนของจังหวัดยังมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าค่าเป้าหมายเล็กน้อย

2.2 การผลักดันการพัฒนาระบบราชการไทยให้เป็นองค์การที่มีความพร้อม 4 ด้าน คือ ตอบสนองทันต่อการเปลี่ยนแปลง เก่ง ดี และมีส่วนร่วมตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย (พ.ศ. 2551 — 2555) ดังนี้

  • ตอบสนองความคาดหวังและความต้องการของประชาชนโดยการพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชน ด้วยการส่งเสริมการมอบอำนาจตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการมอบอำนาจ พ.ศ. 2550 การลดขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติราชการ การพัฒนาศูนย์บริการร่วม การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการให้บริการ รวมทั้งเผยแพร่บริการของภาครัฐให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
  • การปรับรูปแบบการทำงานให้มีลักษณะเชิงบูรณาการ เกิดการแสวงความร่วมมือและสร้างเครือข่ายกับฝ่ายต่าง ๆ รวมทั้งเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมโดยการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหาราชการแบบมีส่วนร่วม และส่งเสริมการขยายผลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นในทุกจังหวัด ตลอดจนเพิ่มความเข้มแข็งแก่เครือข่ายการพัฒนาระบบราชการให้มากขึ้น
  • การมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีขีดสมรรถนะสูง บุคลากรมีความพร้อมและความสามารถในการเรียนรู้ คิดริเริ่ม เปลี่ยนแปลงและปรับตัวได้อย่างเหมาะสมต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยการเสนอให้ส่วนราชการทบทวนบทบาทภารกิจของตนและเน้นการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับบริบทต่าง ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงโดยมีมาตรการชะลอการขยายหน่วยงานของภาครัฐควบคู่ไปด้วย และส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรภาครัฐให้มีความพร้อม สามารถเรียนรู้ ปรับตัว ด้วยกระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง หรือกรณีศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การประชุมชี้แจง ประชุมสัมมนาทางวิชาการ การเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทั้งยังได้แสวงหารูปแบบของระบบเวอร์ชัวร์ออฟฟิต (Virtual office) เพื่อช่วยให้ข้าราชการทำงานราชการที่บ้านเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่บุคลากรภาครัฐอีกเช่นกัน ในส่วนของ องค์การมหาชนใดไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งหรือหมดความจำเป็นก็ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อยุบเลิก และได้จัดให้มีคู่มือการบริหารงานและกำกับดูแลของคณะกรรมการองค์การมหาชน เพื่อให้องค์การมหาชนบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล
  • การสร้างระบบการกำกับดูแลตนเองที่ดี เกิดความโปร่งใส มั่นใจ และสามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งทำให้บุคลากรปฏิบัติงานอย่างมีจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อประชาชน และต่อสังคมโดยรวม โดยได้จัดทำหลักเกณฑ์สำหรับประเมินนโยบายและผลการดำเนินการตามนโยบายการกำกับดูแลองค์การที่ดี (Organizational Governance) ในส่วนของการตรวจควบคุมองค์การจากภายนอกนั้น ได้มีการปรับปรุงระบบการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ โดยคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (ค.ต.ป.) เพื่อรายงานผลต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทุกรอบ 6 เดือน และตั้งคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด (ก.ธ.จ.) ให้ภาคส่วนอื่นเข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบการทำงานของจังหวัด

2.3 การดำเนินงานขั้นต่อไปของ ก.พ.ร. จะเดินหน้าสร้างระบบราชการให้มีความพร้อมทั้ง 4 ด้าน คือ ตอบสนองทันต่อการเปลี่ยนแปลง เก่ง ดี และมีส่วนร่วม ตามแผนยุทธศาสตร์ฯ โดยจะเพิ่มคุณภาพการบริการภาครัฐ จะพัฒนาระบบการตรวจสอบและประเมินภาคราชการ และจะเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐ พร้อมทั้งเร่งเสริมสร้างคุณธรรมที่เอื้อต่อการรักษาจริยธรรมของบุคลากรภาครัฐควบคู่ไปกับการบริหารจัดการตามหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

3. ผลการดำเนินงานของสำนักงาน ก.พ.ร. ประจำปี พ.ศ. 2552 ได้ดำเนินการโดยมีแผนยุทธศาสตร์กำลังคนและงบประมาณรายจ่ายของตนเองในฐานะหน่วยงานด้านธุรการที่รับผิดชอบกิจกรรม วิชาการและแผนงานภายใต้นโยบายของ ก.พ.ร. และเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการปฏิบัติงานของพนักงานของรัฐที่สนองต่อความต้องการ ประชาชนและการพัฒนาประเทศ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ลงนามความร่วมมือกับธนาคารโลก เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือของทั้งสององค์การในการเสริมสร้างสมรรถนะระบบราชการไทยให้เป็นกลไกที่เข้มแข็งในการพัฒนาประเทศและเป็นแบบอย่างที่ดีของประเทศในภูมิภาค

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 กรกฎาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ