การรายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 29, 2010 15:23 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การรายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง สรุปผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือนพฤษภาคม

พ.ศ. 2553 และสรุปผลการสำรวจความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชน พ.ศ. 2553

คณะรัฐมนตรีรับทราบการรายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง สรุปผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 และสรุปผลการสำรวจความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชน พ.ศ. 2553 ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ ดังนี้

1. สำรวจภาวะการทำงานของประชากร เป็นประจำทุกเดือน โดยในแต่ละเดือนมีจำนวนครัวเรือน ตัวอย่าง 26,520 ตัวอย่าง สำหรับเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 ได้จัดทำสรุปผลการสำรวจเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีประเด็นสำคัญของผลการสำรวจ ดังนี้

1.1 ผู้อยู่ในกำลังแรงงาน

ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 38.05 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 37.02 ล้านคน ผู้ว่างงาน 5.86 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 4.44 แสนคน ทั้งนี้ ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน จำนวนลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันกับ ปี 2552 จำนวน 3.6 แสนคน (จาก 38.41 ล้านคน เป็น 38.05 ล้านคน)

1.2 ผู้มีงานทำ

ผู้มีงานทำ 37.02 ล้านคน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2552 จำนวน 4.9 แสนคน (จาก 37.51 ล้านคน เป็น 37.02 ล้านคน) หรือลดลงร้อยละ 1.3 ซึ่งมีผู้ทำงานเพิ่มขึ้นและลดลงในสาขาต่าง ๆ ได้ดังนี้

(1) ผู้ทำงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผู้ทำงานในสาขาการขายส่ง ขายปลีกฯ เพิ่มขึ้น 4.8 แสนคน (จาก 6.07 ล้านคน เป็น 6.55 ล้านคน) สาขาการก่อสร้าง เพิ่มขึ้น 2.9 แสนคน (จาก 2.61 ล้านคน เป็น 2.90 ล้านคน) สาขาการศึกษา เพิ่มขึ้น 2.4 แสนคน (จาก 1.00 ล้านคน เป็น 1.24 ล้านคน) สาขาการบริหารราชการแผ่นดินฯ เพิ่มขึ้น 1.8 แสนคน (จาก 1.36 ล้านคน เป็น 1.54 ล้านคน) สาขาการโรงแรมและภัตตาคาร เพิ่มขึ้น 1.0 หมื่นคน (จาก 2.68 ล้านคน เป็น 2.69 ล้านคน) ตามลำดับ

(2) ผู้ทำงานลดลง ได้แก่ ผู้ทำงานในสาขาเกษตรกรรม ลดลง 1.49 ล้านคน (จาก 13.72 ล้านคน เป็น 12.23 ล้านคน) สาขาการผลิต 7.0 หมื่นคน (จาก 5.79 ล้านคน เป็น 5.72 ล้านคน) สาขาการบริหารชุนชนฯ 3.0 หมื่นคน (จาก 8.4 แสนคน เป็น 8.1 แสนคน) สาขาการเงินการธนาคาร 1.0 หมื่นคน (จาก 3.7 แสนคน เป็น 3.6แสนคน) สาขากิจกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์ ฯ 1.0 หมื่นคน (จาก 7.4 แสนคน เป็น 7.3 แสนคน) ตามลำดับ

1.3 ผู้ว่างงาน

(1) ผู้ว่างงานทั่วประเทศมีจำนวน 5.86 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.5 ของกำลังแรงงานรวม (ลดลง 7.0 หมื่นคน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2552) ประกอบด้วย ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 2.01 แสนคน อีกส่วนหนึ่งเป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 3.85 แสนคน โดยเป็นผู้ว่างงานที่มาจากภาคการผลิต 1.85 แสนคน ภาคการบริการและการค้า 1.41 แสนคน และภาคเกษตรกรรมการ 5.9 หมื่นคน

(2) ผู้ว่างงานเป็นผู้มีการศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษา จำนวน 1.69 แสนคน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 1.34 แสนคน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 1.14 แสนคน ระดับประถมศึกษา 1.06 แสนคน และไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 6.3 หมื่นคน ตามลำดับ

(3) ผู้ว่างงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1.54 แสนคน ภาคกลาง 1.47 แสนคน ภาคใต้ 1.28 แสนคน ภาคเหนือ 1.0 แสนคน และกรุงเทพมหานคร 5.7 หมื่นคน หากคิดเป็นอัตราการว่างงาน ภาคใต้เป็นภาคที่มีอัตราการว่างงานสูงสุด ร้อยละ 2.4 ส่วนภาคที่มีอัตราการว่างงานต่ำสุดเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 1.3

2. สำรวจความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชน พ.ศ. 2553 โดยสอบถามประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ทุกจังหวัดทั่วประเทศ มีประชาชนถูกเลือกเป็นตัวอย่างทั้งสิ้น จำนวน 100,920 คน โดยเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 18-24 มิถุนายน 2553 เพื่อให้ประชาชนมีช่องทางที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหา และความต้องการความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ ได้จัดทำสรุปผลการสำรวจเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีประเด็นสำคัญของผลการสำรวจ ดังนี้

2.1 การศึกษา ประชาชนมีความเดือดร้อนด้านคุณภาพระดับการศึกษามากกว่า ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษา

(1) ปัญหาด้านการศึกษา 3 อันดับแรก (เฉพาะปัญหาในระดับมากและปานกลาง) เป็นปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพระบบการศึกษา ดังนี้ ต้องมีการเรียนพิเศษเพิ่มเติมเพื่อแข่งขัน (ร้อยละ 28.1) ไม่มีโอกาสให้ลูกหลานเรียนสถาบันการศึกษาที่ดี (ร้อยละ 27.1) และหลักสูตรการศึกษาเน้นศีลธรรมและจริยธรรมน้อย (ร้อยละ 26.3) เป็นที่น่าสังเกตว่าปัญหาที่ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบอันดับแรก คือ ขาดโอกาสให้ลูกหลานเรียนสถาบันการศึกษาที่ดี (ร้อยละ 29.4) โดยเฉพาะในจังหวัดอุบลราชธานี (ร้อยละ 43.3)

(2) แม้ว่าผู้ที่มีความเดือดร้อนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษา เช่น การขาดแคลนครู การเดินทางไปสถานศึกษา (ระยะทางไกล เดินทางลำบาก) เป็นต้น จะพบในสัดส่วนที่น้อยกว่าปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพระบบการศึกษา แต่ก็พบปัญหานี้ในกรุงเทพมหานคร ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากกว่าภาคอื่น

2.2 ความยากจนและสภาพความเป็นอยู่

(1) เมื่อให้ประชาชนประเมินฐานะตนเอง พบว่า ปัญหาความยากจนเป็นปัญหามากของคนจนเมืองที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร และคนชนบทที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ ผู้ประกอบอาชีพกรรมกร และขับรถรับจ้าง ประเมินฐานะตนเองว่าจนมากกว่าอาชีพอื่น ๆ (ร้อยละ 33.0 และ 28.9 ตามลำดับ)

(2) สัดส่วนคนจนจากการประเมินตนเอง (ร้อยละ 12.8) มีมากกว่าสัดส่วนคนจนโดยใช้เส้นทางความยากจน (ประมาณร้อยละ 9.0 ในปี 2551) โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร และภาคกลาง ในขณะที่สัดส่วนคนจนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากการประเมินตนเองมีค่าใกล้เคียงกับเมื่อใช้เส้นความยากจน

(3) ประชาชนเห็นว่าสาเหตุที่จน อันดับแรก คือ ไม่มีทุนประกอบอาชีพ (ร้อยละ 65.9) โดยประชาชนเกือบทุกภาคมีความคิดเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ยกเว้นผู้ที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร (ร้อยละ 55.0) เห็นว่าเป็นเพราะขาดโอกาส อาจเนื่องจากการดำเนินชีวิตในกรุงเทพมหานครมีการแข่งขันสูงกว่าภาคอื่น

(4) แม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 58.8) มีความเห็นว่าฐานะความเป็นอยู่ในปีหน้าจะเหมือนเดิมเมื่อเทียบกับปัจจุบัน แต่ผู้ที่คิดว่าดีขึ้นและเหมือนเดิมเมื่อเปรียบเทียบปีหน้ากับปัจจุบันก็มีมากกว่าผู้ที่คิดว่าดีขึ้นและเหมือนเดิมเมื่อเปรียบเทียบปัจจุบันกับปีที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน ผู้ที่คิดว่าแย่ลงเมื่อเปรียบเทียบปีหน้ากับปัจจุบันก็มีน้อยกว่าผู้ที่คิดว่าแย่ลงเมื่อเปรียบเทียบปัจจุบันกับปีที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่า คนไทยเชื่อมั่นว่า ความเป็นอยู่จะดีขึ้นในปีหน้า

2.3 ภาวะเศรษฐกิจครัวเรือน

(1) ปัญหาด้านอาชีพและการทำงาน 3 อันดับแรก (เฉพาะปัญหาในระดับมากและปานกลาง) ได้แก่ ต้นทุนในการผลิตสูง (ร้อยละ 54.3) ขาดแคลนเงินทุนในการประกอบอาชีพ (ร้อยละ 47.8) และการทำมาหากินฝืดเคือง (ร้อยละ 40.8) โดยประชาชนทุกภาคมีความคิดเห็นค่อนข้างสอดคล้องกัน ยกเว้น ประชาชนในกรุงเทพมหานครที่เห็นว่าปัญหาต้นทุนในการผลิตสูงไม่อยู่ใน 3 อันดับแรก แต่มีปัญหาเรื่องไม่มีเส้นสาย

(2) ปัญหารายได้และหนี้สิน 3 อันดับแรก (เฉพาะปัญหาในระดับมากและปานกลาง) ได้แก่ รายได้/ผลผลิตการเกษตรไม่แน่นอน (ร้อยละ 54.9) รายได้ไม่พอกิน (ร้อยละ 50.3) และถูกกดราคาผลผลิตการเกษตร (ร้อยละ 42.6) โดยประชาชนทุกภาคมีความคิดเห็นค่อนข้างสอดคล้องกัน ยกเว้น ประชาชนในกรุงเทพมหานครและภาคกลางที่ปัญหาถูกกดราคาผลผลิตการเกษตรไม่อยู่ใน 3 อันดับแรก แต่เดือดร้อนเรื่องเงินที่หามาได้ส่วนใหญ่ต้องนำมาใช้หนี้

(3) ประชาชนเสนอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ 3 อันดับแรก ดังนี้ ควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน (ร้อยละ 58.0) จัดมาตรการลดภาระค่าครองชีพ (ร้อยละ 36.9) และเพิ่มสวัสดิการในการครองชีพ (ร้อยละ 35.8)

2.4 ความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการของรัฐ

(1) ประชาชนทราบเกือบทุกนโยบายในสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 80 โดยเฉพาะโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และคนพิการ (ประมาณ ร้อยละ 98) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชาชนให้ความสนใจคนด้อยโอกาสในสังคมมากขึ้น แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าโครงการโฉนดชุมชนมีคนทราบน้อยกว่าเรื่องอื่น (ร้อยละ 67.8)

โดยผู้ที่ทราบนโยบายนั้น ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 90 เห็นว่านโยบายเหมาะสมแล้ว แต่มีข้อสังเกตว่าโครงการเบี้ยยังชีพแก่ผู้พิการ และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ มีผู้เห็นว่าไม่เหมาะสมมากกว่าเรื่องอื่น (ประมาณร้อยละ16-17) และเสนอว่าควรเพิ่มเบี้ยยังชีพให้มากกว่าเดิม

(2) สิ่งที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหาด้านสังคม 3 อันดับแรก คือ ต้องการให้จัดสวัสดิการรักษาพยาบาลของทุกกลุ่มให้เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะประชาชนในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ความเห็นในเรื่องนี้มากกว่าภาคอื่น

2.5 ความเพียงพอของสาธารณูปโภค

(1) ประชาชนมีความเห็นว่า เส้นทางรถไฟ ระบบขนส่งมวลชนและเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มีไม่เพียงพอมากกว่าสาธารณูปโภคด้านอื่น (ร้อยละ 75.3 73.4 และ46.0 ตามลำดับ)

(2) ปัญหาเส้นทางรถไฟไม่เพียงพอพบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือมากกว่าภาคอื่น โดยประชาชนร้อยละ 88.9 และ 82.1 ตามลำดับ ระบุว่าไม่เพียงพอ นอกจากนี้พบว่า ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ของประชาชนใน 11 จาก 17 จังหวัดของภาคเหนือ (ยกเว้น เชียงใหม่ ลำปาง อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ พิษณุโลก และพิจิตร) ระบุว่าเส้นทางรถไฟไม่เพียงพอ และไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ของประชาชนใน 12 จาก 19 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ยกเว้น นครราชสีมา สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบราชธานี ชัยภูมิ ขอนแก่น และอุดรธานี) ระบุว่าเส้นทางรถไฟไม่เพียงพอ

(3) ปัญหาระบบขนส่งมวลชนไม่เพียงพอพบในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากกว่าภาคอื่น โดยประชาชนร้อยละ 89.9 และ 82.2 ตามลำดับ ระบุว่าไม่เพียงพอ นอกจากนี้พบว่า ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ของประชาชนทุกจังหวัดของภาคเหนือ (ยกเว้น อุตรดิตถ์ แพร่ และน่าน) ระบุว่าระบบขนส่งมวลชนไม่เพียงพอ และไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ของประชาชนทุกจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ยกเว้น นครราชสีมา อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ หนองบัวลำภู ขอนแก่น เลย หนองคาย และร้อยเอ็ด) ระบุว่าระบบขนส่งมวลชนไม่เพียงพอ

(4) ปัญหาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไม่เพียงพอเป็นปัญหาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 60.7) โดยเฉพาะประชาชนในจังหวัดสุรินทร์และชัยภูมิ ระบุว่าไม่เพียงพอถึง ร้อยละ 86.1 และ74.0 ตามลำดับ

(5) ภาคใต้ประสบปัญหาน้ำประปาไม่เพียงพอมากกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 27.7) รองลงมา คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ (ร้อยละ 20.7) และ 20.2 ตามลำดับ) ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าประชาชนในจังหวัดนราธิวาสเกือบครึ่ง (ร้อยละ 48.9) และในจังหวัดสุรินทร์ร้อยละ 35.2 ระบุว่าไม่เพียงพอ

(6) ปัญหารถสาธารณะที่เข้าชุมชน/หมู่บ้านไม่เพียงพอพบในภาคกลางและภาคเหนือมากกว่าภาคอื่น โดยประชาชนประมาณร้อยละ 31 ระบุว่าไม่เพียงพอ ส่วนประชาชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสระแก้ว ประมาณร้อยละ 52 ระบุว่าไม่เพียงพอ นอกจากนี้จังหวัดแม่ฮ่องสอนและอุทัยธานีประสบปัญหานี้มากกว่าจังหวัดอื่นในภาคเหนือ ( ร้อยละ 49.7 ร้อยละ และ 46.8 ตามลำดับ)

2.6 ความเดือดร้อนด้านอื่น ๆ สรุปได้ดังนี้

(1) คนไทยให้ความสำคัญกับปัญหาสังคมมาก เนื่องจากระบุว่าสิ่งที่เป็นปัญหา 3 อันดับแรก (เฉพาะปัญหาในระดับมากและปานกลาง) คือ ความขัดแย้งทางการเมือง (ร้อยละ 50.2) การทุจริตคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐ (ร้อยละ 49.3) และความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้ (ร้อยละ 46.8)

(2) ปัญหาที่ประชาชนในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบเป็นอันดับแรก คือ ความขัดแย้งทางการเมือง ขณะที่ผู้ที่อยู่ในกรุงเทพมหานครรู้สึกเดือดร้อนเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่าเรื่องอื่น สำหรับปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้เป็นเรื่องเดือดร้อนที่สุดของประชาชนในภาคใต้ โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า ปัญหาเรื่องสื่อ เช่น การนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน การปิดกั้นสื่อ การขาดจริยธรรมของสื่อ ขาดการสนับสนุนสื่อที่มีคุณภาพ เป็นต้น พบผู้ที่ประสบปัญหานี้ในสัดส่วนที่น้อยกว่าเรื่องข้างต้น

(3) การประสบปัญหาจากการให้บริการจากเจ้าหน้าที่รัฐ ในด้านต่าง ๆ ดังนี้ การให้บริการโดยเลือกปฏิบัติ การเรียกรับสินบน การทุจริตคอรัปชั่น และการข่มขู่คุกคาม พบว่า ประชาชนที่ประสบปัญหาดังกล่าวเป็นผู้ที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร และภาคใต้สูงกว่าภาคอื่น

(4) ความรู้ความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับโครงการรถไฟรางคู่และโครงข่าย 3G พบว่า ประชาชนจำนวนหนึ่งยังไม่ทราบเกี่ยวกับโครงการรถไฟรางคู่ (ร้อยละ 43.7) และโครงข่าย 3G (ร้อยละ 56.5) โดยประชาชนในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ระบุว่าไม่ทราบมากกว่าภาคอื่น รวมทั้งผู้ที่อยู่นอกเขตเทศบาลระบุว่าไม่ทราบมากกว่าใน เขตเทศบาล นอกจากนี้ พบว่าผู้ที่ทราบ ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว ดังนั้นรัฐบาลควรประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลและทำความเข้าใจแก่ประชาชนก่อนที่จะดำเนินการดังกล่าว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 กรกฎาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ