ขอความเห็นชอบในการอนุมัติร่างกฎบัตรสมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย ฉบับแก้ไข

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 29, 2010 15:25 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างกฎบัตรสมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Rim Association for Regional Co-operation : IOR-ARC) และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนอนุมัติ (approve) ร่างเอกสารข้างต้น

2. หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเอกสารดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก

ข้อเท็จจริง

กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า

1. IOR-ARC จะจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2538 ประกอบด้วยสมาชิกในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย 18 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย อินเดีย แอฟริกาใต้ เคนยา สิงคโปร์ โอมาน มอริเซียส อินโดนีเซีย มาดากัสการ์ มาเลเซีย โมซัมบิก ศรีลังกา แทนซาเนีย เยเมน บังกลาเทศ อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และไทย (เข้าร่วมเป็นสมาชิกเมื่อปี 2542) และ มีประเทศคู่เจรจา ได้แก่ อียิปต์ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน ฝรั่งเศส และกาตาร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย ผ่านการดำเนินการในลักษณะไตรภาคี (ภาครัฐบาล เอกชน และวิชาการ)

2. เยเมนจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภารัฐมนตรี (Council of Ministers) ภายใต้กรอบ IOR-ARC ครั้งที่ 10 การประชุมคณะกรรมการเจ้าหน้าที่อาวุโส (Committee of Senior Officials) ครั้งที่ 12 และการประชุม Sub-Committee of Senior Officials (SCSO) ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม — 5 สิงหาคม 2553 ณ กรุงซานา ทั้งนี้ มีประเด็นสำคัญที่จะพิจารณาคือ การพิจารณาอนุมัติร่างกฎบัตร IOR-ARC ฉบับแก้ไข เพื่อปฏิรูปให้ IOR-ARC มีการขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งร่างกฎบัตรดังกล่าวมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

2.1 หลักการพื้นฐาน IOR-ARC จะส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เสริมสร้างและเพิ่มพูนความเข้าใจและความร่วมมือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน โดยยึดมั่นในหลักฉันทามติและตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเคารพในหลักการเรื่องความเท่าเทียมกันทางอธิปไตย บูรณภาพเหนือดินแดน ความเป็นอิสระทางการเมือง การไม่แทรกแซงกิจการภายใน การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และผลประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย ทั้งนี้ ความร่วมมือภายใต้ IOR-ARC จะไม่กระทบต่อสิทธิและพันธกรณีของรัฐสมาชิกในกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าอื่น ๆ

2.2 วัตถุประสงค์ ส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน และการพัฒนาที่สมดุลของภูมิภาคและรัฐสมาชิก และเพื่อสร้างพื้นฐานความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคร่วมกัน โดยให้ความสนใจการส่งเสริมความร่วมมือในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกและการเปิดเสรีทางการค้า การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ การแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การท่องเที่ยว การเคลื่อนย้ายของบุคคลและผู้ให้บริการโดยไม่เลือกปฏิบัติ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งรวมถึงการลดความยากจน การส่งเสริมการขนส่งทางทะเลและเรื่องที่เกี่ยวข้อง ความร่วมมือด้านการค้า การวิจัยและบริหารด้านการประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การศึกษาและการฝึก อบรม พลังงาน เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาธารณสุข การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การเกษตร และการจัดการภัยพิบัติ และรวมถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับความร่วมมือและหารือระหว่างรัฐสมาชิกในเวทีระหว่างประเทศในประเด็นด้านเศรษฐกิจโลก และหากเป็นที่ต้องการกำหนดกลยุทธ์ร่วมและมีท่าทีร่วมกันในเวทีระหว่างประเทศในประเด็นที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน

2.3 สมาชิกภาพ รัฐอธิปไตยทุกรัฐในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียมีสิทธิในการเป็นสมาชิก ทั้งนี้ รัฐสมาชิกจะเป็นผู้ตัดสินใจในการรับสมาชิกเพิ่ม

2.4 กลไกการทำงาน ประกอบด้วย สภารัฐมนตรี คณะกรรมการ เจ้าหน้าที่อาวุโส 3 ประเทศ ซึ่งเป็นประธานปัจจุบัน รองประธาน และอดีตประธาน คณะทำงานของหัวหน้าคณะผู้แทน สำนักเลขาธิการ และหน่วยงานประสานงานกลางของแต่ละประเทศ โดยประธานและรองประธานสภารัฐมนตรีมีวาระ 2 ปี ในขณะที่เลขาธิการสมาคมความร่วมมือจะได้รับการแต่งตั้งโดยสภารัฐมนตรี โดยคัดเลือกจากผู้สมัครที่ได้รับการเสนอชื่อ โดยรัฐสมาชิกมีวาระดำรงตำแหน่ง 3 ปี และสามารถต่อวาระได้ 1 ครั้ง

2.5 สิทธิและพันธกรณี รัฐสมาชิกพึงมีสิทธิและพันธกรณีที่เท่าเทียมกัน

2.6 การจัดการด้านงบประมาณและการเงิน การสนับสนุนจากรัฐสมาชิกให้เป็นไปตามรายละเอียดต่างๆ ซึ่งจะได้มีการเสนอเพื่อให้สภารัฐมนตรีรับรอง โดยไม่มีการปิดกั้นการรับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากภายนอก หากเห็นสมควรและให้มีการจัดตั้งกองทุนพิเศษเพื่อเป็นกลไกสนับสนุนด้านงบประมาณในโครงการและแผนงานต่าง ๆ ที่ IOR-ARC ได้มีมติรับรอง

2.7 การมีผลบังคับใช้และการอนุวัติ กฎบัตร IOR-ARC ฉบับแก้ไขนี้ พร้อมด้วยเอกสารภาคผนวก ซึ่งเกี่ยวกับกฎว่าด้วยขั้นตอนการดำเนินงาน ระเบียบปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการ และระเบียบปฏิบัติด้านการเงินของ IOR-ARC จะมีผลบังคับนับตั้งแต่วันที่มีการอนุมัติโดยสภารัฐมนตรี

3. การปรับปรุงแก้ไขร่างกฎบัตร IOR-ARC จะมีผลให้เกิดการปฏิรูป IOR-ARC ซึ่งจะช่วยในการผลักดันการดำเนินความร่วมมือของประเทศสมาชิกในกรอบนี้ให้มีความคืบหน้า รวมทั้งมีการขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

4. ร่างกฎบัตรฉบับนี้จะได้รับการอนุมัติ (approve) โดยที่ประชุมสภารัฐมนตรี IOR-ARC โดยไม่ลงนาม น่าจะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม โดยที่ร่างกฎบัตร IOR-ARC ฉบับแก้ไข มีสาระเป็นการจัดตั้งองค์กร ซึ่งกำหนดหลักการและวัตถุประสงค์ของ IOR-ARC ที่เกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของรัฐสมาชิก สิทธิหน้าที่ของรัฐสมาชิก ซึ่งสามารถปฏิบัติได้โดยไม่ต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา ดังนั้น จึงไม่น่าจะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 กรกฎาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ