ร่างพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 4, 2010 14:21 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

ข้อเท็จจริง

กระทรวงคมนาคมเสนอตามรายงานของกรมการบินพลเรือนว่า โดยที่การผลิตอากาศยาน ส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน และการประกอบกิจการหน่วยซ่อม เป็นกิจการที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงจากต่างประเทศ แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2551 กำหนดให้ทุนของผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการดังกล่าวต้องเป็นของบุคคลที่มีสัญชาติไทยจำนวนไม่น้อยกว่า ร้อยละ 51 ของทุนทั้งหมด และอำนาจการบริหารกิจการต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของบุคคลผู้มีสัญชาติไทย ทำให้ผู้ประกอบการต่างประเทศที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนหรือที่จะประกอบกิจการดังกล่าวในประเทศไทยไม่สามารถขออนุญาตประกอบกิจการได้และได้จัดประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตามมติคณะรัฐมนตรี (24 กุมภาพันธ์ 2552) แล้ว โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์ในเรื่องทุนและอำนาจการบริหารกิจการของผู้ขอรับใบอนุญาต รวมทั้งการควบคุมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ไม่ขอรับใบสำคัญสมควรเดินอากาศเพื่อการส่งออก เพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนในด้านการผลิตอากาศยาน ชิ้นส่วนสำคัญของอากาศยาน และประกอบกิจการหน่วยซ่อมของประเทศไทย จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดให้การผลิตอากาศยาน ส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานชิ้นส่วนรับรองคุณภาพ และบริภัณฑ์ที่ผู้ผลิตไม่ขอรับใบสำคัญสมควรเดินอากาศสำหรับการส่งออกอากาศยานตามมาตรา 41/ 71 หรือหนังสือรับรองความสมควรเดินอากาศสำหรับการส่งออกซึ่งส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน ชิ้นส่วนรับรองคุณภาพหรือบริภัณฑ์ ตามมาตรา 41/75 ให้กระทำได้โดยไม่ต้องขอรับใบอนุญาตผลิตแต่ต้องแจ้งการจัดตั้งโรงงาน ประเภทผลิตภัณฑ์ ปริมาณการผลิต และรายงานเสนอต่ออธิบดี ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง (ร่างมาตรา 3 เพิ่มมาตรา 41/17/1)

2. กำหนดให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีอำนาจยกเว้นจากบทบัญญัติว่าด้วยการลงทุนขั้นต่ำให้กับผู้ขอรับใบอนุญาตที่ต้องเป็นของบุคคลผู้มีสัญชาติไทยตามมาตรา 41/24 และยกเว้นอำนาจการบริหารกิจการที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมผู้มีสัญชาติไทยตามมาตรา 41/25 โดยการประกาศกำหนด แต่ในกรณีที่มีการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อยกเว้นหลักเกณฑ์เรื่องทุนของผู้รับใบอนุญาตผลิตอากาศยานซึ่งต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของ ทุนทั้งหมดตามมาตรา 41/24 วรรคแรก ให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีอำนาจยกเว้นการลงทุนขั้นต่ำของบุคคล ผู้มีสัญชาติไทย ได้ไม่เกินขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา (ร่างมาตรา 4 เพิ่มมาตรา 41/22 วรรคสอง)

3. กำหนดให้การผลิตอากาศยานที่มีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงจากต่างประเทศและสมควรได้รับการยกเว้นบทบัญญัติเรื่องทุนของผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตอากาศยานที่ต้องเป็นของผู้มีสัญชาติไทย โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาและการกำหนดประเภท แบบ และลักษณะของอากาศยานที่จะทำการผลิตจะกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และระยะเวลาของ การยกเว้นเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ด้วยก็ได้ (ร่างมาตรา 5 เพิ่มมาตรา 41/24 วรรคสาม)

4. กำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หากเห็นว่าการผลิตอากาศยานของผู้ขอรับใบอนุญาตมีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศ รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการเทคนิคอาจ ออกกฎกระทรวงยกเว้นคุณสมบัติแก่ผู้ขอรับใบอนุญาตได้ แต่ต้องไม่เกินยี่สิบปีนับแต่วันได้รับอนุญาตผลิตอากาศยาน แบบนั้น (ร่างมาตรา 6 ปรับปรุงแก้ไขมาตรา 41/25 วรรคสาม)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 สิงหาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ